องค์ศีล (๖)

----------

.............

ศีลข้อที่ ๓ ศีล ๕ กับศีล ๘ ไม่เหมือนกัน

.............

ศีลข้อที่ ๓ ในศีล ๕ คำบาลีว่า “กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี” (กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี) แปลว่า เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม (to abstain from sexual misconduct)

แต่ศีลข้อที่ ๓ ในศีล ๘ คำบาลีว่า “อพฺรหฺมจริยา เวรมณี” (อะพ๎รัห๎มะจะริยา เวระมะณี) แปลว่า เจตนางดเว้นจากกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์ มีคำขยายความว่า คือร่วมประเวณี (to abstain from unchastity)

ศีลข้อที่ ๓ ในศีล ๕ เรียกเป็นคำไทยว่า “กาเมสุมิจฉาจาร” มักเรียกสั้นๆ ว่า “กาเม”

ศีลข้อที่ ๓ ในศีล ๘ เรียกเป็นคำไทยว่า “อพรหมจริยา” หรือ “อพรหมจรรย์” มักเรียกสั้นๆ ว่า “อพรหม” (อะ-พฺรม หรือ อะ-พฺรำ)

อพฺรหฺมจริย > อพฺรหฺมจริยา > อพรหมจริยา > อพรหมจรรย์ แปลว่า การประพฤติที่ไม่ประเสริฐ (unchastity) ความหมายเฉพาะคือ การมีความสัมพันธ์ทางเพศ และหมายรวมถึงการสัมผัสที่มีเจตนาจะให้เกิดความรู้สึกทางเพศด้วย

ความแตกต่างระหว่าง อพรหมจริยา กับ กาเมสุมิจฉาจาร :

กาเมสุมิจฉาจาร : ผิดเฉพาะเมื่อปฏิบัติกับบุคคลต้องห้าม แต่ไม่ห้ามกับคู่ครองของตน

อพรหมจริยา : ห้ามทั้งหมด แม้กับคู่ครองของตน 

องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็นอพรหมจริยา มี ๔ ประการ คือ -

(๑) อชฺฌาจรณียวตฺถุ (อัชฌาจะระณียะวัตถุ) มี “วัตถุ” (บุคคลหรือสิ่งของ) ที่จะสนองความต้องการ

(๒) ตตฺถ  เสวนจิตฺตํ (ตัตถะ เสวะนะจิตตัง) มีจิตเจตนาที่จะเสพสม

(๓) เสวนปฺปจฺจยปฺปโยโค (เสวะนัปปัจจะยัปปะโยโค) ลงมือปฏิบัติการ

(๔) สาทิยนํ (สาทิยะนัง) ยินดีพอใจในการปฏิบัตินั้น

......................

เปรียบเทียบองค์ประกอบระหว่างกาเมกับอพรหม

องค์ประกอบข้อ (๑)

กาเม: (๑) อคมนียวตฺถุ (อะคะมะนียะวัตถุ) บุคคลต้องห้าม คือเป็นผู้ที่มีเจ้าของหวงห้าม และตนไม่มีสิทธิ์ที่จะร่วมอภิรมย์

อพรหม: (๑) อชฺฌาจรณียวตฺถุ (อัชฌาจะระณียะวัตถุ) มี “วัตถุ” (บุคคลหรือสิ่งของ) ที่จะสนองความต้องการ

องค์ประกอบข้อนี้ ในกาเม “วัตถุ” หมายถึงมนุษย์ คือชายหรือหญิงที่ต้องห้าม แต่ในอพรหม “วัตถุ” หมายถึง มนุษย์ อมนุษย์ และสัตว์

ในกาเม มนุษย์ หมายถึงชายหญิงที่ต้องห้ามเท่านั้น เช่นหญิงมีสามีหรือหญิงที่มีผู้ปกครอง ถ้าไม่ใช้ผู้ต้องห้ามก็ไม่ผิด

แต่ในอพรหม มนุษย์ชายหญิง มนุษย์สองเพศ มนุษย์เปลี่ยนเพศ มนุษย์ไม่มีเพศ หรือมนุษย์เบี่ยงเบนทางเพศ ขึ้นชื่อว่า “มนุษย์” ต้องห้ามทั้งหมด

คำว่า “อมนุษย์” ในที่ทั่วไปหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ไม่ใช่สัตว์ เช่น เทวดา ผี เปรต อสุรกาย แต่ในศีลข้ออพรหมนี้ อะไรก็ตามที่ไม่ใช่มนุษย์ไม่ใช่สัตว์รวมอยู่ในคำว่า “อมนุษย์” ทั้งหมด ที่เห็นได้ชัดก็อย่างเช่นอุปกรณ์เครื่องช่วยให้สำเร็จความใคร่ในรูปแบบต่างๆ นั่นก็อยู่ในคำว่า “อมนุษย์” 

คำว่า “สัตว์” นี่ก็คือสัตว์เดรัจฉานทั่วไปที่อาจใช้เป็นที่ระบายความใคร่ได้

เป็นอันว่า ในศีลข้ออพรหมนี้ กับคนก็ผิด กับสัตว์ก็ผิด เลี่ยงจากคนจากสัตว์ไปทำกับผีสางเทวดาก็ผิด ใช้อุปกรณ์ใดๆ ช่วย ก็ผิดอยู่นั่นเอง

ควรสังเกตว่า ในศีล ๕ ข้อกาเมไม่ได้เอ่ยถึงอมนุษย์และสัตว์ ดังนั้น มนุษย์ชายหญิงปฏิบัติการทางเพศกับอมนุษย์หรือกับสัตว์ จึงไม่ผิดศีลข้อกาเม แต่จะวิปริตผิดธรรมหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

องค์ประกอบข้อ (๒)

กาเม: (๒) ตสฺมึ  เสวนจิตฺตํ (ตัส๎มิง เสวะนะจิตตัง) มีจิตเจตนาที่จะเสพสม

อพรหม: (๒) ตตฺถ  เสวนจิตฺตํ (ตัตถะ เสวะนะจิตตัง) มีจิตเจตนาที่จะเสพสม

องค์ประกอบข้อนี้ คำบาลีพยัญชนะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่อรรถะหรือความหมายไม่ต่างกัน

องค์ประกอบข้อ (๓)

กาเม: (๓) เสวนปฺปโยโค (เสวะนัปปะโยโค) ลงมือปฏิบัติการ

อพรหม: (๓) เสวนปฺปจฺจยปฺปโยโค (เสวะนัปปัจจะยัปปะโยโค) ลงมือปฏิบัติการ

องค์ประกอบข้อนี้ก็เช่นเดียวกับข้อ ๒ คือคำบาลีพยัญชนะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่อรรถะไม่ต่างกัน

องค์ประกอบข้อ (๔)

กาเม: (๔) มคฺเคน  มคฺคปฺปฏิปตฺติอธิวาสนํ (มัคเคนะ มัคคัปปะฏิปัตติอะธิวาสะนัง) อวัยวะถึงอวัยวะ

อพรหม: (๔) สาทิยนํ (สาทิยะนัง) ยินดีพอใจในการปฏิบัตินั้น

องค์ประกอบข้อนี้ ในกาเมตัดสินที่อวัยวะถึงอวัยวะ คำบาลีแปลตามศัพท์ว่า “ยังมรรคให้ถึงมรรคแล้วหยุดอยู่”

“มรรค” ในศีลข้อนี้มี ๓ มรรค คือ -

๑ วจฺจมคฺค (วัจจะมัคคะ) คือทวารหนักของชายและหญิง

๒ ปสฺสาวมคฺค (ปัสสาวะมัคคะ) คือทวารเบาของหญิง

๓ มุขมคฺค (มุขะมัคคะ) คือช่องปากของชายและหญิง

.........................................................

สมัยเป็นสามเณรอยู่วัดมหาธาตุราชบุรี ต้องท่ององค์ศีล ๑๐ ทุกวันพระใหญ่หลังจากพระสงฆ์สวดพระปาติโมกข์ ศีลข้ออพรหมของสามเณร องค์ประกอบข้อนี้ คำบาลีและคำแปลว่า -

ติณฺณํ มคฺคานํ อญฺญตเรน มคฺคปฏิปตฺติ

เมื่อเสพทำมรรคใดมรรคหนึ่งให้ถึงกันในที่ชุ่มประมาณเท่าเมล็ดงา

.........................................................

หมายความว่า อวัยวะถึงอวัยวะลึกเพียงแค่ความยาวของเมล็ดงา ก็ครบองค์ประกอบ

แต่ในศีล ๘ ข้ออพรหม ไม่ได้ตัดสินที่อวัยวะถึงอวัยวะ แต่ตัดสินที่ “สาทิยนํ ยินดีพอใจในการปฏิบัตินั้น” ส่องความว่า แม้จะไม่ได้ปฏิบัติการกับมรรคใดมรรคหนึ่ง หากแต่ปฏิบัติกับส่วนใดส่วนหนึ่งด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งจนเกิดอาการ “ยินดีพอใจในการปฏิบัตินั้น” ก็เข้าข่ายองค์ประกอบข้อนี้

.........................................................

ปัญหาลองภูมิ : 

ไม่ได้ปฏิบัติการกับมนุษย์

ไม่ได้ปฏิบัติการกับอมนุษย์

ไม่ได้ปฏิบัติการกับสัตว์

ไม่ได้ปฏิบัติการกับอุปกรณ์เครื่องช่วยรูปแบบใดๆ

แต่ปฏิบัติการกับตัวเองจนเกิดอาการ “ยินดีพอใจในการปฏิบัตินั้น”

ศีลข้อ “อพฺรหฺมจริยา เวรมณี” ขาดหรือไม่ เพราะเหตุไร

.........................................................

(ยังมีต่อ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ มกราคม ๒๕๖๖

๑๙:๒๖

[full-post]

ิองค์ศีล

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.