ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (3,875)
กรรมวาที
หรือกรรมวาท-ผู้ประกาศหลักกรรม
อ่านว่า กำ-มะ-วา-ที
ประกอบด้วยคำว่า กรรม + วาที
(๑) “กรรม”
บาลีเป็น “กมฺม” อ่านว่า กำ-มะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมใช้ทับศัพท์อิงรูปสันสกฤตว่า “กรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“กรรม ๑, กรรม- ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”
ในที่นี้ “กรรม” หมายถึง การกระทำทั่วไป
(๒) “วาที”
รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = กล่าว, พูด, แสดงความเห็น) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วทฺ > วาท)
: วทฺ + ณี = วทณี > วที > วาที (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กล่าว”
หมายถึง พูดถึง, กล่าว, สอน, พูดคุย; ถือทัศนะหรือลัทธิคำสอน; ถกเถียง (speaking of, saying, asserting, talking; professing, holding a view or doctrine; arguing)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ -
“วาที : (คำนาม) ผู้พูด, ผู้กล่าว, ผู้ชี้แจง, ผู้โต้แย้ง; คนเล่นดนตรี. (ป., ส.).”
กมฺม + วาที = กมฺมวาที (กำ-มะ-วา-ที) แปลว่า “ผู้กล่าวการกระทำ” หมายถึง ผู้มีความเชื่อว่า-หรือสอนว่า ผลทุกอย่างเกิดจากกรรมคือการกระทำ
คำว่า “กมฺมวาที” อาจแสดงที่มาได้อีกนัยหนึ่งว่ามาจาก กมฺมวาท (กมฺม + วาท = ผู้ประกาศหลักกรรม) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ
: กมฺมวาท + ณี > อี = กมฺมวาที
“กมฺมวาที” เขียนแบบไทยเป็น “กรรมวาที”
คำว่า “กรรมวาที” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “กรรมวาที” อธิบายขยายความไว้ที่คำว่า “กรรมวาท” (กำ-มะ-วาด) ดังนี้
..............
กรรมวาท : ผู้ประกาศหลักกรรม หรือผู้ถือหลักกรรม เช่น ยืนยันว่ากรรมคือการกระทำมีและมีผลจริง ว่าแต่ละคนมีกรรมเป็นของตนและเป็นไปตามกรรมนั้น ว่าการกระทำเป็นเครื่องตัดสินความดีเลวสูงทราม (มิใช่ชาติกำเนิดตัดสิน) ว่าการกระทำเป็นเหตุปัจจัยให้สำเร็จผล (มิใช่สำเร็จด้วยการอ้อนวอนดลบันดาลหรือแล้วแต่โชค) เป็นต้น; หลักการแห่งกรรม, การถือหลักกรรม; พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระองค์เอง (องฺ.ติก.๒๐/๕๗๗/๓๖๙) ว่าทรงเป็น กรรมวาท (ถือหลักหรือกฎแห่งการกระทำ) กิริยวาท (ถือหลักการอันให้กระทำ) และวิริยวาท (ถือหลักความเพียร); บางทีกล่าวถึงพระกิตติคุณของพระพุทธเจ้า (เช่น ที.สี.๙/๑๘๒/๑๔๗) ว่าทรงเป็นกรรมวาที กิริยวาที (คือเป็นกรรมวาท และกิริยวาท นั่นเอง ต่างกันเพียงว่า กรรมวาท และกิริยวาท เป็นได้ทั้งคำคุณศัพท์ของบุคคล และคำนามแสดงหลักการ ส่วนกรรมวาที และกิริยวาที เป็นคุณศัพท์อย่างเดียว)
..............
อภิปราย :
ทุกวันนี้ ผู้สอนธรรมในพระพุทธศาสนานิยมตั้งความปรารถนาให้พรแก่ผู้ฟัง สรุปลงว่า ขอให้มีความสุข ขอให้โชคดี ขอให้ร่ำรวย ขอให้ปลอดโรคปลอดภัย ฯลฯ ส่วนมากเป็นการขอให้เกิดผล แต่ไม่ได้บอกให้ทำเหตุ คือไม่ได้เน้นย้ำพร่ำเตือนว่า จะมีความสุข โชคดี ร่ำรวย ปลอดโรคปลอดภัย ฯลฯ จะต้องทำอะไรและทำอย่างไรจึงจะสำเร็จผลตามปรารถนา
บางทีก็ดูเหมือนว่าจะบอกเหตุ คือบอกว่าขอให้บุญกุศลคุณงามความดีช่วยดลบันดาล แต่ก็ไม่ได้บอกว่าบุญกุศลคืออะไรบ้าง ช่วยดลบันดาลได้อย่างไร ไม่ได้เร่งเร้าให้มีอุตสาหะในการสร้างบุญกุศล พูดเพียงผ่านๆ ลอยๆ เหมือนบุญกุศลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรชนิดหนึ่ง เพียงขอให้บันดาลก็สำเร็จผลแล้ว ตัวผู้ขอนั่งรอเฉยๆ ไม่จำเป็นต้องทำอะไรอีก
การพาชาวพุทธไปพึ่งเทพ ทำกันอย่างคึกคัก นั่นก็เรื่องหนึ่งแล้ว การอ้อนวอนบุญกุศลให้ดลบันดาล ก็ทำกันอยู่อย่างขะมักเขม้น
เรากำลังช่วยกันทำพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นกรรมวาทีให้เป็นกรรมวาทีแต่เปลือก ส่วนเนื้อแท้ข้างในเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่น ใช่หรือไม่?
..............
ดูก่อนภราดา!
: อยากได้ผลจงทำเหตุ
: อย่ารอให้ผู้วิเศษช่วยบันดาล
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ