การปฏิบัติขั้นแรก และ ขั้นสุดท้ายเพื่อจะได้อรูปฌาน ๔ ต่อไปตามลำดับ


      ขั้นแรกของการปฏิบัติ เพื่อให้อากาสานัญจายตนฌานเกิดขึ้น ฌานลาภีบุคคพึงกระทำรูปาวจรปัญจมฌานกุศลชวนะ ให้เกิดติดต่อกันจนชำนาญในวสีภาวะทั้งที่เกี่ยวกับรูปาวจรปัญจมฌาน เหมือนกับการปฏิบัติของปฐมฌานลาภีเพื่อให้ทุติยฌานเกิด ฉันนั้น ต่างกันก็เพียงก่อนหน้าจะเริ่มฝืกหัดในวสีภาวะทั้ง ๕ นั้น ฌานลาภีบุคคลได้มีความเห็นต่างกันเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นความเห็นทั่วๆ ไป ในเวลาที่ว่างจากพระพุทธศาสนา อีกฝ่ายหนึ่งเป็นความเห็นทั่วๆ ไปในเวลาที่มีพระพุทธศาสนาปรากฏขึ้นแล้ว

      ความเห็นในเวลาที่ว่างจากพระพุทธศาสนานั้น ปัญจมฌานลาภีบุคคลมีความเห็นว่า การประหัตประหารซึ่งกันและกันด้วยอาวุธต่างๆ ก็ดี โรคต่างๆ ก็ดี ความหิวกระหายก็ดี ความกำหนัดรักใคร่ซึ่งกันและกันก็ดี เหล่านี้วนแต่เนื่องจากร่างกายนั้นเองเป็นต้นเหตุ และ ร่างกายนี้เล่าก็เกิดมาจากโลหิตของ มารดา บิดา อันเป็นของไม่สะอาดอีกด้วย จะนั้น กายนี้จึงเรียกว่า กรชกาย ส่วนในอรูปภูมินั้นเป็นภูมิที่ปราศจากร่างกาย มีแต่จิตใจอย่างเดียว ฉะนั้น เรื่องเดือดร้อนต่างๆ ที่เกี่ยวกับกายนั้นจึงได้ถูกระงับไปหมดสิ้น เป็นความสุขอย่างยิ่ง เมื่อได้คิดเห็นเช่นนี้แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายในร่างกาย มีแต่ความอยากได้ไปเกิดในอรูปภูมิ พร้อมกันนั้นก็มีความหวาดกลัวในปฏิภาคนิมิต อันเป็นอารมณ์ของรูปาวจรปัญจมฌาน ที่เกิดเนื่องต่อกันมาจากรูปที่เป็นองค์กสิณอีกด้วย เสมือนหนึ่งผู้ที่กลัวผีในเวลาค่ำคืนได้แลเห็นตอไม้เข้าก็สำคัญผิดคิดว่าผีหลอก เกิดการสะดุ้งกลัว ฉันใด ปัญจมฌานลาภีบุคคลที่มีการเห็นโทยของร่างกายก็ฉันนั้น สมดังที่มีคาถาแสดงไว้ว่า

            ยถา ปีสาจ ภิรุโก        รตฺตึ ขาณุมฺปี ภายติ

            เอวํ กรชภีรุโก            โยคี กสิณรูปกํ ฯ

      แเปลความว่า ผู้ที่กลัวผีในเวลากลางคืน แม้ได้เห็นตอไม้ก็มีความสะดุ้งกลัว

      เกิดขึ้น ฉันใด โยคีบุคคลที่มีความกลัวต่อร่างกาย ก็ย่อมกลัวต่อรูปฌานที่มีอารมณ์

      เป็นรูปกสิณ ฉันนั้น


      ส่วนความเห็นในสมัยที่พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นแล้วนั้น ปัญจมฌานลากีบุคคล หาได้มีการพิจารณาเห็นโทษในร่างกายแต่ประการใดไม่ เพียงแต่มีความเห็นว่าสมาธิที่เกิดจากอรูปฌานนั้นมีกำลังมั่นคงและประณีตมากกว่าสมาธิที่เกิดจากรูปฌาน ฉะนั้นจึงอาจทำอภิญญาได้ หรือถ้าได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี พระรหันต์เวลาใด ก็ยังช่วยให้ตนสามารถเข้านิโรธสมาบัติ อันเป็นสันติสุขที่มีสภาพคล้ายกับอนุปาทิเสสนิพพานได้อีกด้วย เมื่อมีความเห็นเช่นนี้แล้ว ก็เริ่มต้นปฏิบัติในวสีภาวะทั้ง ๕ ต่อไป ในระยะขั้นสุดท้ายนี้ เมื่อออกจากรูปปัญจมฌานแล้ว ถ้าเห็นว่าปริมณฑลของปฏิภาคนิมิตที่แผ่ไปในนั้นเล็กเกินไป อยากขยายให้ใหญ่ถึงภูเขาจักรวาลก็ทำได้ แล้วแต่กำลังสมาธิของตนที่จะสามารถเพ่งให้ทั่วถึงได้ ถ้าเห็นว่าใหญ่มากเกินไปอยากทำให้เล็กลงก็ทำได้เช่นกัน แต่อย่างเล็กที่สุดต้องมีขนาด ๑ คืบ กับ ๔ องคุลี จะเล็กกว่านี้ไม่ได้ หรือเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะขยายให้ใหญ่ หรือ เล็กลง เมื่อมีขนาดเท่าใดก็คงให้มีอยู่เท่านั้นก็ได้ แล้วเพ่งต่อไปอย่างไม่สนใจใดๆ ในปฏิภาคนิมิตที่ปรากฏอยู่นั้นเลย มีแต่ความพยายามที่จะพรากใจออกจากปฏิภาคนิมิตนั้น แล้วกลับพยายามยึดหน่วงให้อากาศบัญญัติมาปรากฏแทนที่  โดยคิดว่าปถวีปฏิภาคนิมิตไม่มีๆ คงมีแต่อากาศว่างเปล่าอยู่เท่านั้น พร้อมกับบริกรรมอยู่ภายในใจว่า อากาโส อนนฺโตๆ (อากาศไม่มีที่สิ้นสุดๆ) 

      เมื่อปัญจมฌานลาภีบุคคลพยายามเจริญเช่นนี้เสมอไปนั้น เวลาใดจิตใจปราศจากนิกันติตัณหาในรูปปัญจมฌาน เวลานั้นภาวนาจิตของพระโยคีบุคคลนั้นก็ขึ้นสู่ขั้นอุปจารภาวนา การเจริญภาวนาจากนี้ต่อไป ไม่ช้านัก ปถวีปฏิภาคนิมิต ที่เป็นนิมิตกรรมฐานก็จะสูญหายไปจากใจ คงเหลือแต่อากาศว่างเปล่าที่เป็นภายในบริเวณของปฏิภาคนิมิตแผ่ไป อุปมาดังผู้ที่กำลังเพ่งดูผ้าม่านที่ติดอยู่กับช่องหน้าต่างอย่างสนใจ ในขณะนั้น ผ้าม่านก็หลุดไปด้วยอำนาจพายุที่พัดมาอย่างแรง จึงมองเห็นแต่อากาศที่ว่างๆ อยู่เท่านั้น ฉันใด พระโยคีบุคคลเพิกปถวีปฏิภาคนิมิตออกจากใจได้ ก็ฉันนั้น แต่การเพิกกสิณออกจากใจนั้น หาใช่เหมือนกับการเลิกเสื่อออก หรือ ยกจานอาหารออกจากถาดแต่อย่างใดไม่ หากเป็นการเพิกโดยไม่ให้จิตใจไปคิดนึกพัวพันอยู่ในกสิณอีกเท่านั้น ดังมีคาถากล่าวไว้ตรงกันกับวิสุทธิมรรคอรรถกถาว่า

            กสิณํ อุคฺฆาเฏนฺโต โส    น กิลญฺชํ ปูปํ ปีวา

            เกวลํ ตมนาวชฺชํ              อากาโส อิติ อิกฺขติ ฯ

      แปลความว่า พระโยคีบุคคล เพิกองค์กสิญออกจากใจนี้ หาใช่เหมือนกับการ

      เลิกเสื่อออก หรือ ยกจานขนมออกแต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นการเลิกสนใจในกสิณ

      นิมิตนั้นเสีย กลับไปสนใจเพ่งและบริกรรมว่า อากาโสๆ ต่อไป


      อากาโส อนนฺโต (อากาศไม่มีที่สิ้นสุด) นี้หมายความว่า ธรรมดาอากาศนั้นเป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ ฉะนั้น จึงไม่มีเบื้องต้น คือ การอุบัติขึ้น และไม่มีเบื้องปลาย คือ การดับไป นี้แหละ เรียกว่า อนนฺโต แต่การบริกรรมนั้นใช้แต่เพียงว่าอากาโสๆ ก็ได้ หรือ อากาสๆ ก็ได้

      เมื่อสามารถเพิกปถวีปฏิภาคนิมิต ซึ่งเป็นนิมิตกรรมฐานที่ติดอยู่กับใจเสียได้ในเวลานั้น อากาศบัญญัติก็ปรากฏขึ้นแทนที่ทันที พร้อมด้วยอากาสานัญจายตนฌานที่มีองค์ฌาน ๒ ก็เกิดขึ้นเป็นไปดังนี้คือ วังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ มโนทวาราวัชชนะ ปริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู อากาสานัญจายตนกุศลจิตเกิดขึ้น ๑ ครั้ง แล้วก็ดับไป จากนั้นภวังคจิตก็เกิดต่อเล็กน้อย แล้วปัจจเวกขณวิถีที่มีการพิจารณา อุเบกขา เอกัคคตา ก็เกิดขึ้นตามสมควร เป็นอันว่าผู้นั้นได้สำเร็จเป็นอากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคล

      อากาสานัญจายตนฌานนี้มีชื่อเรียกเป็น ๓ อย่าง คือ 

      ๑. อรูปฌาน  

      ๒. อากาสานัญจายตนฌาน 

      ๓. ปฐมารุปปฌาน (ปฐม + อารุปป + ฌาน) 

      ที่เรียกว่า "อรูปฌาน" นั้น เพราะว่า ปัญจมฌานลาภีบุคคลนี้ มิได้สนใจเพ่งปถวีปฏิภาคนิมิตที่เป็นรูปอารมณ์แต่ประการใด เมื่อฌานจิตเกิดขึ้นนั้น ฌานจิตนี้ก็ปราศจากรูปเป็นอารมณ์ ฉะนั้น จึงเรียกว่าอรูปฌาน

      ที่เรียกว่า "อากาสานัญจายตนฌาน" นั้น ก็เพราะว่า ฌานจิตนี้มีความมั่นคงอยู่ไม่หวั่นไหว เกิดขึ้นโดยอาศัยอากาศบัญญัติ ซึ่งไม่ปรากฏว่าเบื้องต้น คือ ความเกิดและเบื้องปลาย คือ ความดับนั้นอยู่ตรงไหน ฉะนั้น จึงเรียกว่า "อากาสานัญจายตนฌาน" 

      ที่เรียกว่า "ปฐมารุปปฌาน" นั้นก็เพราะว่า ภายหลังที่ได้เว้นจากบัญญัติกรรมฐานที่เกี่ยวกับรูปได้แล้ว ฌานนี้ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในบรรดาอรูปฌานทั้ง ๔ ฉะนั้น จึงเรียกว่าปฐมารุปปฌาน


การปฏิบัติขั้นแรก และขั้นสุดท้ายของวิญญาณัญจายตนฌาน

      พระโยคีบุคคล เมื่อต้องการเจริญวิญญาณัญจายตนฌานต่อไป ขั้นแรกก็จงปฏิบัติในวสีภาวะทั้ง ๕ ที่เกี่ยวกับ อากาสานัญจายตนฌาน เสียก่อน หลังจากมีความชำนาญในวสีภาวะทั้ง ๕ อย่างสมบูรณ์ดีแล้ว แต่นั้นก็จงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน เมื่อออกจากฌานก็พิจารณาเห็นโทษของอากาสานัญจายตนฌานว่า อากาสานัญจายตนฌานนี้ เป็นฌานที่ใกลักับรูปปัญจมฌานอันเป็นข้าศึกแก่กันอยู่ ถ้าขาดการเข้าฌานนี้อยู่เสมอ ๆ เวลาใดแล้ว เวลานั้นฌานนี้อาจเลือนหายไปจากใจและกลับทำให้สมาธิลดระดับลงไปตั้งอยู่ในรูปปัญจมฌานตามเดิมได้อีก ทั้งสมาธิที่เกิดจากฌานนี้ก็ยังหยาบกว่าสมาธิที่เกิดจากวิญญาณัญจายตนฌานอีกด้วย เมื่อพิจารณาเห็นโทษในอากาสานัญจายตนฌานดังนี้แล้ว ก็เกิดการฝักใฝสนใจในปฐมารุปปริญญาณ คือ อากาสานัญจายตนฌานที่ดับไปแล้วจากจิตสันดานของตนโดยการพยายามพรากใจออกจากอากาศบัญญัตินั้นเสีย แล้วกลับพยายามยึดหน่วงให้อากาสานัญจายตนฌานมาปรากฏแทนที่ โดยบริกรรมว่า วิญญาณํ อนนฺตํ หรือ วิญญาณๆ (นี้เป็นปฐมารุปปวิญญาณที่มีอากาศบัญญัติไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ หรือ นี้เป็นปฐมารุปปวิญญาณ) อยู่ดังนี้เรื่อยๆ

      เมื่อพระโยคีบุคคลพยายามเจริญอยู่อย่างนี้เสมอไปนั้น เวลาใด จิตใจปราศจากนิกันติตัณหาในอากาสานัญจายตนฌาน เวลานั้นภาวนาจิตของพระโยคีบุคคลนั้นก็ขึ้นสู่ขั้นอุปจารภาวนา การเจริญภาวนาต่อไปในไม่ช้า อากาศบัญญัติที่เป็นนิมิตกรรมฐานก็จักสูญหายไปจากใจ การพยายามก้าวล่วงอากาศบัญญัติ ซึ่งเป็นนิมิตกรรมฐานติดอยู่กับใจเสียได้ในเวลาใด เวลานั้น อากาสานัญจายตนฌานก็ปรากฏขึ้นแทนที่ทันที พร้อมด้วยวิญญาณัญจายตนฌานที่มีองค์ฌาน ๒ ก็เกิดขึ้นเป็นไปดังนี้ คือ กวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ มโนทวาราวัชชนะ ปริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู วิญญาณัญจายตนกุศลจิต เกิดขึ้น ๑ ครั้งแล้วก็ดับไป จากนั้นภวังคจิตก็เกิดต่อเล็กน้อย แล้วปัจจเวกขณวิถี ที่มีการพิจารณา อุเบกขา เอกัคคตา ก็เกิดขึ้นตามสมควร เป็นอันว่าผู้นั้นได้สำเร็จเป็นวิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคล

      เรื่องนี้ก็น่าสงสัยว่า เมื่อฌานลาภีบุคคลได้เห็นโทษของอากาสานัญจายตนฌานด้วยประการต่างๆ ฉะนี้แล้ว เหตุไฉนเมื่อจะเจริญฌานเบื้องบนต่อไปนั้น จึงกลับไปฝักใฝ่สนใจในอากาสานัญจายตนฌานนั้นอีก ข้อนี้แก้ว่า "วิญญาณัญจายตนฌานจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยอากาสานัญจายตนฌาน นี้แหละเป็นเหตุ เช่นเดียวกันกับสัททารมณ์ซึ่งเป็นเหตุในการเกิดขึ้นแห่งโสตวิญญาณ ฉันนั้น โดยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าฌานลาภีบุคคลจะพิจารณาเห็นเป็นโทษอย่างใดก็ตามที ยังจำเป็นต้องใส่ใจนึกถึงอยู่นั้นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้สำเร็จผลเป็นวิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคลตามความมุ่งหมายของตนเท่านั้น อุปมาเหมือนหนึ่งมหาดเล็กที่ได้แลเห็นโทษของพระราชาในประการต่างๆ เช่น ความไม่เป็นธรรม มากน้อยเพียงใดก็ตามที แต่ก็ต้องมีใจเคารพรักและคอยปฏิบัติรับใช้ต่อพระองค์อยู่นั้นเอง เพื่อจะได้เป็นที่อาศัยพักพิงยังอาชีพของตนให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายหน้า ดังที่ท่านอรรถกถาจารย์(ฉ. วิสุทธิมัคค ปฐมภาค หน้า ๓๓๔) ได้แสดงไว้ว่า

            อาลมฺพนํ* กโรเตว         อญฺญาภาเวน ตํ อิทํ

            ทิฏฺฐโทสมฺปี ราชานํ       วุตฺตํ เหตุ ชโน ยถาฯ

           *(ฉ. -. อารมฺมณํ)  

      แปลความว่า ผู้ที่มีความประสงค์อยากได้วิญญาณัญจายตนฌาน ย่อมจำเป็น

      ที่จะต้องกระทำอากาสานัญจายตนฌานให้เป็นอารมณ์เสมอไป เพราะนอกจากนี้ก็ไม่มี

      อารมณ์อื่น ๆ ที่จะกระทำให้วิญญาณัญจายตนฌานเกิดขึ้นได้ เสมือนหนึ่งบุรุษมหาดเล็ก

      แม้ว่าจะได้เห็นโทษของพระราชาโดยประการใด ๆ ก็ตาม แต่ก็ต้องเคารพรัก 

      รับใช้ในพระราชาพระองค์นั้นอยู่นั้นเอง เพื่อแก่การยังอาชีพของตนให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป" ฯ


การปฏิบัติขั้นแรก และ ขั้นสุดท้ายของอากิญจัญญายตนฌาน

      พระโยคีบุคคล เมื่อต้องการเจริญอากิญจัญญายตนฌานต่อไปนั้น ขั้นแรกก็จงปฏิบัติในวสีภาวะทั้ง ๕ ที่เกี่ยวกับวิญญาณัญจายตนฌานเสียก่อน หลังจากมีความชำนาญในวสีภาวะทั้ง ๕ อย่างสมบูรณ์ดีแล้ว แต่นั้นก็จงเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน เมื่อออกจากฌาน ก็พิจารณาเห็นโทษของวิญญาณัญจายตนฌานว่า วิญญาณัญจายตนฌานนี้ ยังเป็นฌานที่ใกลักับอากาสานัญจายตนฌาน อันเป็นข้าศึกแก่กันอยู่ คือ ถ้าขาดการเข้าฌานนี้อยู่เสมอ ๆ ในเวลาใดแล้ว เวลานั้นฌานนี้อาจเลือนหายไปจากใจได้กลับทำให้สมาธิลดระดับไปตั้งอยู่ในอากาสานัญจายตนฌานตามเดิมได้อีก ทั้งสมาธิที่เกิดจากฌานนี้ ก็ยังหยาบกว่าสมาธิที่เกิดจากอากิญจัญญายตนฌานเสียอีกด้วย ครั้นได้พิจารณาเห็นโทษในวิญญาณัญจายตนฌานดังนี้แล้ว ก็เกิดการฝักใฝ่สนใจในอากาสานัญจายตนฌานที่ดับสูญขาดไปจากจิตสันดานของตนอย่างไม่มีเหลืออยู่เลย แม้ที่สุดเพียงแต่ภวังคักขณะของฌานนั้นก็หาได้มีเหลืออยู่ไม่ โดยการพยายามพรากใจออกจากอากาสานัญจายตนฌานนั้นๆ เสีย แล้วกลับพยายามทำการยึดหน่วงให้นัตถิภาวบัญญัติมาปรากฏแทนที่ โดยบริกรรมว่า นตฺถิ กิญฺจิๆ (ความเหลืออยู่ของอากาสานัญจายตนฌานแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่มีๆ หมายความว่า อย่าว่าแต่ อุปาทะ ฐีติ คือ ขณะเกิด ขณะตั้งอยู่ของอากาสานัญจายตนฌานนั้นแล แม้แต่เพียงภวังคะ คือขณะดับ ก็ยังไม่มีเหลืออยู่) อยู่ดังนี้เรื่อยๆ

      เมื่อพระโยคีบุคคล พยายามเจริญอยู่อย่างนี้เสมอไปนั้น เวลาใดจิตใจปราศจากนิกันติตัณหาในวิญญาณัญจายตนฌาน เวลานั้นภาวนาจิตของพระโยคีบุคคลนั้นก็ขึ้นสู้ขั้นอุปจารภาวนา การเจริญภาวนาจากนี้ต่อไปไม่ช้า อากาสานัญจายตนฌานที่เป็นนิมิตกรรมฐานก็จะสูญหายไปจากใจ อุปมาเสมือนกับบุรุษนายหนึ่งที่กำลังเดินผ่านไปทางด้านหน้าสภาประชุมสงฆ์ ในขณะนั้นได้เหลือบเห็นหมู่สงฆ์กำลังประชุมกันอยู่อย่างคับคั่งแล้วก็เดินเลยไป ขากลับก็คงเดินผ่านมาทางด้านนั้นอีกเช่นกัน แต่ครั้งนี้มิได้เห็นเหมือนเช่มเดิม ทั้งนี้ก็เพราะคณะสงฆ์ได้กลับไป่หมดสิ้นแล้ว บุรุษนั้นรำพึงอยู่ภายในใจว่า บัดนี้พระสงฆ์ท่านกลับไปหมดสิ้นแล้วแม้แต่เพียงรูปหนึ่งก็ไม่มีเหลืออยู่เลย การพยายามก้าวล่วงจากอากาสานัญจายตนฌาน ซึ่งเป็นนิมิตกรรมฐานติดอยู่กับใจเสียได้ในเวลาใด เวลานั้น นัตถิภาวบัญญัติก็ปรากฏขึ้นแทนที่ทันที พร้อมด้วยอากิญจัญญายตนฌานที่มีองค์ฌาน ๒ ก็ได้เกิดขึ้นเป็นไปดังนี้ คือ ภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ มโนทวาราวัชชนะ ปริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู อากิญจัญญายตนฌานกุศลจิต เกิดขึ้น ๑ ครั้ง แล้วก็ดับไป จากนั้นภวังคจิตก็เกิดต่อเล็กน้อย แล้วปัจจเวกขณวิถีที่มีการพิจารณาอุเบกขา เอกัคคตา ก็เกิดขึ้นตามสมควร เป็นอันว่าผู้นั้นได้สำเร็จเป็นอากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล


การปฏิบัติขั้นแรก และ ขั้นสุดท้ายของเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

      พระโยคีบุคคล เมื่อต้องการเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนฌานต่อไปนั้น ขั้นแรก ก็จงปฏิบัติในวสีภาวะทั้ง ๕ ที่เกี่ยวกับอากิญจัญญายตนฌานเสียก่อน หลังจากมีความชำนาญในวสีภาวะทั้ง ๕ อย่างสมบูรณ์ดีแล้ว แต่นั้นจงเข้าอากิญจัญญายตนฌาน เมื่อออกจากฌานก็พิจารณาเห็นโทษของอากิญจัญญายตนฌานนั้นว่า อากิญจัญญายตนฌานนี้ยังเป็นฌานที่ใกล้กันกับวิญญาณัญจายตนฌาน อันเป็นข้าศึกแก่กันอยู่ หากขาดการเข้าฌานนี้อยู่เสมอ ๆ ในเวลาใดแล้ว เวลานั้นฌานนี้อาจเลื่อนหายไปจากใจได้กลับทำให้สมาธิลดระดับลงไปตั้งอยู่ในวิญญาณัญจายตนฌานตามเดิมได้อีก ทั้งสมาธิที่เกิดจากณานนี้ก็ยังไม่ประณีต และความสงบนั้นเล่า ก็ยังไม่สงบเท่ากับความสงบที่มีอยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สำหรับสัญญา ความจำ เป็นต้น ที่มีอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนี้ก็ยังหยาบอยู่จึงเป็นอุปสรรคแก่สมาธิ ส่วนสัญญา ความจำ เป็นต้นที่มีอยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้นประณีตสุขุมมากกว่านี้ยิ่งนัก ฉะนั้น อรูปฌานที่ ๔ นี้ จึงเป็นฌานที่มีความประณีตอย่างยอดยิ่ง เป็นการพิจารณาเห็นโทษ เพื่อให้หมดความยินดีในอากิญจัญญายตนฌาน แต่ก็ยังเห็นความดีของฌานนี้อยู่ว่า ถึงแม้จะสงบ ประณีต ไม่เท่ากับฌานที่ ๔ ก็จริงอยู่ แต่ทว่ามีความสงบ ความประณีตอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะสามารถรับบัญญัติอารมณ์ที่ไม่มีปรมัตถ์รองรับที่เป็นอภาวบัญญัติ หรือ นัตถิภาวบัญญัติอันเกี่ยวกับอากาสานัญจายตนฌานได้ เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว ก็สนใจนึกถึงอากิญจัญญายตนฌานที่ดับไปแล้วจากจิตสันดานของตน โดยการพยายามพรากใจออกจากนัตถิภาวบัญญัติ นั้นเสีย แล้วพยายามยึดหน่วงให้อากิญจัญญายตนฌานมาปรากฏแทนที่ โดยบริกรรมว่า สนฺตเมตํ ปณีตเมตํ (อากิญจัญญายตนฌาน นี้มีสมาธิสงบมาก ประณีตมาก หรือ สนฺตํๆ ปณีตํๆ ดังนี้ก็ได้) อยู่ดังนี้เรื่อยๆ

      เมื่อพระโยคีบุคคล พยายามเจริญอยู่อย่างนี้เสมอไปนั้น เวลาใดจิตใจ ปราศจากนิกันติตัณหาในอากิญจัญญายตนฌาน เวลานั้น ภาวนาจิตของพระโยคีบุคคลนั้นก็ขึ้นสู่ขั้นอุปจารภาวนา การเจริญภาวนาต่อไปไม่ช้านัก นัตถิภาวบัญญัติที่เป็นนิมิตกรรมฐานก็จะสูญหายไปจากใจ การก้าวล่วงจากนัตถิภาวบัญญัติซึ่งเป็นนิมิตกรรมฐานติดอยู่กับใจเสียได้ในเวลาใด เวลานั้น อากิญจัญญายตนฌาน ก็ปรากฏขึ้นแทนที่ทันที พร้อมด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนฌานที่มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา ก็ได้เกิดขึ้นเป็นไปดังนี้ คือ ภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ มโนทวาราวัชนนะ ปริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิตเกิดขึ้น ๑ ครั้ง แล้วก็ดับไปจากนั้นภวังคจิตก็เกิดต่อเล็กน้อย แล้วปัจจเวกขณวิถีที่มีการพิจารณาองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา ก็เกิดขึ้นตามสมควร เป็นอันว่าผู้นั้นได้สำเร็จเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานลาภีบุคคล

      การปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ของพระโยคีบุคคลนั้น ก่อนบริกรรมก็ได้พิจารณาเห็นโทษของอากิญจัญญายตนฌานโดยนานาประการแต่ครั้นลงมือบริกรรม กลับเห็นคุณความดีของฌานนี้อยู่ไม่น้อย ทั้งได้ยกย่องชมเชยเป็นอันมาก ดังที่ปรากฏในคำบริกรรมว่า สนฺตเมตํ ปณีตเมตํ เช่นนี้มิเป็นการขัดกันไปหรือ ? แก้ว่า หาได้ขัดกันแต่อย่างใดไม่ อุปมาเหมือนกับคนๆ หนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างสัณฐาน ผิวพรรณไม่งดงามไม่น่าชมเลย แต่จิตใจประกอบด้วยคุณความดีหลายประการ เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งได้พบเข้าก็จะกล่าวคำตำหนิเย้ยหยันว่า ช่างมีรูปร่างขี้ริ้วเสียจริงๆ แต่ครั้นได้เข้าใกล้ ทราบถึงอัธยาศัยจิตใจเป็นอย่างดีแล้ว ก็จะต้องสรรเสริญในคุณความดีของบุคคลนั้น ฉันใด การพิจารณาเห็นโทษแล้วกลับเห็นความดีในอากิญจัญญายตนฌานของพระโยคีบุคคล ก็ฉันนั้น

      อนึ่ง การยกย่องชมเชยอากิญจัญญายตนฌาน โดยการบริกรรมว่า สนฺตเมตํ ปณีตเมตํ นั้น หาใช่มีความประสงค์จะเข้าฌานนี้อีกก็หามิได้ เพียงแต่อาศัยใช้บริกรรมเพื่อจะพ้นไปจากฌานนี้ แล้วก้าวขึ้นสู่เนสัญญานาสัญญายตนฌานต่อไปต่างหาก อุปมาดังพระราชาประทับทรงช้างออกไปทอดพระเนตรในการแสดงศิลปหัตถกรรม ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ในขณะที่ทอดพระเนตรโดยทั่วๆ ไปภายในบริเวณนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นบุรุษนายหนึ่งกำลังนั่งแกะสลักงาช้างอย่างวิจิตรงดงาม ทรงพอพระทัยในฝีมือของบุรุษนั้นเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับออกพระโอษฐ์ชมเชยว่า บุรุษนี้ช่างมีฝีมือในการแกะสลักเป็นอย่างยิ่ง ยากที่จะหาผู้ใดเทียมได้ แม้จะทรงพอพระทัยมากมายเพียงใดก็ดี แต่ก็หาได้มีพระดำริจะทรงสละราชสมบัติออกมาเป็นนายช่างแกะสลักงาช้างไม่ เพียงแต่ทรงชมเชยแล้วก็เสด็จผ่านเลยไปกลับเข้าสู่พระราชวังตามเดิม ดังนั้น พระมหาพุทธโฆสาจารย์จึงได้กล่าวว่า

            ทนฺตกาเร วณฺเณนฺโตปี     น ราชา ตตฺถ กามิโก

            อสมาปตฺติ กาโมว         โยคี ตติยติกฺกโม ฯ

      แปลความว่า แม้พระราชาจะได้ทรงชมเชยบุรุษที่เป็นช่างแกะสลักงาช้างอย่างยิ่ง

      เพียงใดก็ตาม แต่หาได้มีพระราชประสงค์จะทรงเป็นนายช่างแกะสลักงาช้างนั้นไม่

      พระโยคีบุคคลที่ได้ตติยารุปปฌานแล้ว แม้ว่าจะได้กล่าวคำชมเชยตติยารุปปฌานนี้

      โดยคำบริกรรมว่า สนฺตเมตํ ปณีตเมตํ อยู่ดังนี้ก็ตามที ครั้นแล้วก็ได้ก้าวล่วงตติ-

      ยารุปปฌานนี้ไปเสีย ทั้งนี้ก็เพราะ พระโยคีบุคคลไม่มีความประสงค์ที่จะเข้าฌานสมาบัตินี้อีก ฯ


อรูปฌานทั้ง ๔ มีความประณีตต่างกันยิ่งๆ ขึ้นไป ตามลำดับแห่งชั้นของฌานนั้นๆ

            สุปณีตตรา โหนฺติ         ปจฺฉิมา ปจฺฉิมา อิธ

            อุปมา ตตฺถ วิญฺเญยฺยา    ปาสาทตลสาฏิกา ฯ* (ฉ. วิสุทธิมัคค ปฐมภาด หน้า ๓๓๒)

      แปลความว่า ในอรูปมานทั้ง ๔ นั้น ฌานที่เกิดขึ้นครั้งหลังๆ ย่อมมีสภาพประณีตกว่าฌานที่เกิดขึ้นในครั้งก่อน ๆ การที่อรูปฌานทั้ง ๔ มีความประณีตมากกว่ากันและกันนั้น อุปมาเหมือนหนึ่งความประณีตสวยงามของปราสาท ๔ ชั้น และผ้านุ่งผืน ๔ ที่มีฝืมือละเอียดมากกว่ากันและกัน

      อธิบายคำว่า "เมื่อได้พิจารณาดูอรูปฌานทั้ง ๔ ชั้น" นี้ ในแง่ขององค์ฌานฝ่ายเดียว โดยไม่พิจารณาไปในแง่ของภาวนาแล้ว  ก็อาจเข้าใจผิดว่าอรูปฌานทั้ง ๔ นี้มีคุณธรรมเสมอกัน เพราะมีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เท่ากันนั้นเอง แต่ถ้าได้พิจารณาถึง การอบรมเจริญภาวนาของฌานนั้น ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าฌานเบื้องบนย่อมมีคุณธรรม ประณีตกว่าฌานเบื้องต่ำตามลำดับ เสมือนหนึ่งปราสาท หรือ โรงแรม ๔ ชั้นซึ่งแต่ละชั้นได้รับการตกแต่งด้วยเครื่องเรือนอย่างดี พรั่งพร้อมไปด้วยเครื่องอุปโภบริโภค ตลอดจน ความสนุกสนานเพลิดเพลินต่างๆ ก็ได้จัดไว้ทั้ง ๔ ชั้น แต่ถ้าได้พิจารณาดูให้ถี่ถ้วนถึง การตกแต่งห้องก็ดี เครื่องอุปโภค บริโภคก็ดี ตลอดถึงความสนุกสนานเพลิดเพลินที่มีอยู่ก็ดี เหล่านี้ในชั้นบน ๆ ขึ้นไป ย่อมมีความสวยงาม บริบูรณ์และสนุกสนานมากกว่าชั้นล่าง ลงไปตามลำดับ ๆ หาใช่มีความสวยงาม บริบูรณ์ สนุกสนานเท่ากันไม่ หรือเหมืนกับผ้านุ่ง ๔ ผืน ที่ทอขึ้นด้วยด้ายชนิดเดียวกัน กว้างยาวก็เท่ากัน แต่ฝืมือการทอก็ดี เนื้อผ้าก็ดี มีความประณีตมากกว่ากันและกันในจำนวน ๔ ผืนนั้น

      เท่าที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นจนถึงวาระสุดท้ายนี้ เป็นการบรรยายถึงวิธีการเพ่งปถวีกสิณ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงได้รูปฌาน และอรูปฌานอย่างกว้างขวาง ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการเพ่งปถวีกสิณนี้ ส่วนวิธีเพ่งองค์กสิณที่ยังเหลืออยู่อีก ๘ และ การเกิดขึ้นของรูปฌานและอรูปฌานโดยอาศัยการเพ่งองค์กสิณที่ยังเหลือ นี้ ก็คงเป็นไปในทำนองเดียวกันทุกประการ ฉะนั้น จะได้บรรยายแต่เพียงข้อความบางประการที่เป็นพิเศษออกไปจากการเพ่ง ปถวีกสิณนี้ เท่านั้น

------------////-----------

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,สมถกรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,อรูปฌาน

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.