การเจริญกสิณที่เหลือ มี อาโปกสิณเป็นต้น

      อาโปกสิณ คำว่า "อาโป" ในที่นี้มิได้มุ่งหมายเอา สภาวอาโปที่มีลักษณะไหลหรือ เกาะกุมแต่ประการใด แต่มุ่งหมายเอา สสัมภารอาโป คือน้ำธรรมดาที่ใช้อาบใช้กินนี้เอง ฉะนั้น ผู้ที่ประสงค์จะเพ่งอาโปกสิณนี้ ถ้าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย คือบุญบารมีที่เกี่ยวกับเคยได้รูปฌานมาแล้วจากภพก่อนใกล้ๆ กับภพนี้ โดยอาศัยการเพ่งอาโปกสิณนั้นในภพนี้เมื่อได้แลเห็นแม่น้ำ สระน้ำ หรือ บ่อน้ำ ก็เพียงแต่เพ่งดูพร้อมกับบริกรรมว่า อาโปๆ หรือ น้ำ อุคคหนิมิตก็ปรากฎขึ้นได้ เมื่ออุคคหนิมิตปรากฏแล้ว ก็มิจำเป็นที่จะเพ่งดูแม่น้ำ สระน้ำ หรือ บ่อน้ำนั้นอีก คงเพ่งแต่อุคคหนิมิตที่ตนได้มาแล้วนั้นอยู่กับบ้าน หรือ กุฎีต่อไป จนกว่าจะได้ปฏิภาคนิมิตและได้รูปฌานถ้าหากไม่เคยมีบุญบารมีมาจากภพก่อน ๆ ตามที่ได้กล่าวแล้วก็ต้องจัดทำองค์กสิณขึ้น 

      น้ำที่จะใช้เป็นอารมณ์กสิณนั้น ต้องเป็นน้ำที่ใสสะอาดปราศจากโทษ คือ ไม่เจือปนด้วยสีต่างๆ มี เขียว เหลือง แดง ขาว เป็นต้น เช่นน้ำฝนที่ตกลงมายังไม่ถึงพื้นดิน โดยใช้ผ้าขาวสะอาดรองรับไว้ใส่ในบาตรหรือตุ่มเล็ก ๆ ไว้ให้เต็มเสมอกับขอบปากที่มีส่วนกว้าง และ ส่วนลึกประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว หรือ ๑ ฟุต ๑ ศอกตั้งไว้ในที่ที่จะทำการเพ่ง ขณะเพ่งอยู่นั้น อย่าพิจารณาสีของน้ำ หรือ สภาพของน้ำที่มีลักษณะไหล หรือ เกาะกุมแต่อย่างใด ๆ แต่ต้องเพ่งดูน้ำธรรมดา พร้อมกับบริกรรมว่าอาโปๆ หรือ น้ำๆ จนกว่าจะได้อุคคหนิมิต เมื่ออุคคหนิมิตปรากฎขึ้นแล้วก็เพ่งอุคคหนิมิตนั้นต่อไป จนกว่าจะได้ปฏิภาคนิมิตและได้รูปฌาน

      อนึ่ง ความเป็นไปแห่งอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิตที่เกิดจากการเพ่งอาโปกสิณนั้นคือ อุคคหนิมิตนี้เหมือนกันกับบริกรรมนิมิดทุกอย่าง หมายความว่า ถ้าอาโปองค์กสิณนั้นไหวกระเพื่อม หรือมีฟอง มีต่อม อุคคหนิมิตก็มีลักษณะไหวกระเพื่อม ฯลฯ ปรากฎอยู่เช่นเดียวกัน ส่วนอาโปปฏิภาคนิมิตนั้น ต่างกันกับอุคคหนิมิต คือไม่มีการเคลื่อนไหว ตั้งนิ่ง ย่อมปรากฏเป็นความใสสะอาดเหมือนดังแก้วมรกตที่ตั้งไว้ในที่สูง

      สำหรับการงานต่างๆ ที่พระโยคีบุคคลจะพึงปฏิบัติในการเจริญอาโปกสิณนับตั้งแต่ปฏิภาคนิมิตเกิด เป็นต้น จนถึงได้รูปฌาน อรูปฌานนั้น ก็คงเป็นไปเช่นเดียวกับการเจริญปถวีกสิณทุกประการ

      เตโชกสิณ คำว่า "เตโช" ในที่นี้มิได้มุ่งหมายเอา สภาวเตโช ที่มีลักษณะเย็นร้อน แต่ประการใด หากแต่มุ่งหมายเอา สสัมภารเตโซ คือ ไฟธรรมดาที่ปรากฏอยู่ทั่วๆ ไปนี้เอง ฉะนั้น ผู้ที่ประสงค์จะเพ่งเตโชกสินนี้ ถ้าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยคือ บุญบารมีที่เกี่ยวกับเคยได้รูปฌานมาแล้วจากภพก่อนใกล้ๆ กับภพนี้โดยอาศัยการเพ่ง เตโชกสิณนั้น ภพนี้เมื่อได้แลดูเปลวไฟที่ตะเกียง ในเตา ในฐานระบมบาตร หรือไฟไหม้ป่า อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็เพียงแต่เพ่งดูพร้อมกับบริกรรมว่า เตโชๆ หรือ ไฟๆอุคคหนิมิตก็ปรากฏขึ้นได้ เมื่ออุคคหนิมิตปรากฏแล้วก็มิจำเป็นที่จะต้องเพ่งเปลวไฟนั้นๆ อีก คงเพ่งแต่อุคคหนิมิตที่ตนได้มาแล้วนั้นอยู่ไป จนกว่าจะได้ปฏิภาคนิมิตและได้รูปฌาน

      ผู้ที่ไม่เคยมีบุญบารมีมาจากภพก่อน ๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ต้องจัดทำองค์กสิณขึ้น ไฟที่ใช้ป็นอารมณ์กสิณนั้นต้องทำดังนี้ คือ เอาไม้แก่นมาผ่าออกแล้วตากให้แห้ง ทอนให้เป็นท่อน ๆ จะใช้หญ้าแห้ง หรือ ฟืนก็ได้ แล้วนำไปสู่โคนไม้ กุฎี หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่สมควร จัดการสุมไฟให้ลุกโพลงขึ้น จึงเอาเสื่อลำแพน หรือแผ่นหนังกั้นไว้ข้างหน้าตรงกองไฟ เจาะช่องกลมโตประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว หรือ ๑ฟุตก็ได้ ในขณะที่เพ่งอยู่นั้น อย่าพิจารณาสีของไฟ ท่อนฟืน เถ้าถ่าน ควันไฟ และความร้อนของไฟแต่อย่างใด ๆ แต่ต้องเพ่งดูเปลวไฟธรรมดา พร้อมกับบริกรรมว่า เตโชๆหรือ ไฟ ๆ จนกว่าจะได้อุคคหนิมิต เมื่ออุคคหนิมิตปรากฏขึ้นแล้วก็เพ่งอุคคหนิมิตนั้นต่อไป จนกว่าจะได้ปฏิภาคนิมิตและรูปฌาน

      อนึ่ง ความเป็นไปแห่งอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิตที่เกิดขึ้นจากการเพ่งเตโชกสิณนั้น คือ อุคคหนิมิตนี้เหมือนกับบริกรรมนิมิตทุกอย่าง คือ ถ้าเปลวไฟขององค์กสิณนั้นลุกโพลงขึ้น หรือ มีการพัดไหวๆ อยู่ก็ดี หรือตั้งนิ่งอยู่ก็ดี อุคคหนิมิตอันเป็นนิมิตที่ปรากฏติดอยู่กับใจก็คงมีอาการปรากฏเป็นไปเช่นเดียวกัน ถ้าไฟที่พระโยคีใช้เพ่งนั้นเป็นกองไฟธรรมดา มิได้จัดทำให้ถูกต้องตามวิธีที่กล่าวไว้ เมื่ออุคคหนิมิตเกิดโทษแห่งกสิณก็จักปรากฏขึ้น คือ มีท่อนฟืนที่ไฟกำลังติดอยู่ ก้อนถ่าน เถ้าถ่านและควันไฟ พร้อมด้วยอาการต่างๆ ของเปลวไฟที่กล่าวแล้วนี้ก็จักปรากฏมีอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนเตโชปฏิภาคนิมิตนั้นต่างกับอุคคหนิมิต คือ ตั้งมั่นนิ่งอยู่ไม่มีการพัดไหวไปมาแต่อย่างใด ย่อมปรากฏเป็นความใสสะอาดดังผ้ากัมพลแดง หรือ พัดใบตาลทองคำ หรือ เสาทองคำที่ตั้งไว้ในที่สูง

      สำหรับการงานต่างๆ ที่พระโยคีบุคคลจะพึงปฏิบัติในการเจริญเตโชกสิณนับตั้งแต่ปฏิภาคนิมิตเกิด เป็นต้น จนถึงได้รูปฌาน อรูปฌาน นั้น ก็คงเป็นไปเช่นเดียวกันกับการเจริญปถวีกสิณทุกประการ

      วาโยกสิณ คำว่า "วาโย" ในที่นี้มิได้มุ่งหมายเอา สภาววาโย ที่มีลักษณะเคร่งตึง เคลื่อนไหวแต่ประการใด หากแต่มุ่งหมายเอา สสัมภารวาโย คือ ลมธรรมดาที่มีทั่วๆ ไปนี้เอง ฉะนั้น ผู้ที่ประสงค์จะเพ่งวาโยกสิณนี้ จะเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยคือ บุญบารมีที่เกี่ยวกับการเคยได้รูปฌานมาแล้วจากภพก่อนๆ ใกล้ๆ กับภพนี้ โดยอาศัยการเพ่งวาโยกสิณก็ตาม หรือ ไม่เคยมีบุญบารมีมาจากภพก่อนก็ตาม การจัดทำวาโยองค์กสิณขึ้นเป็นพิเศษ ย่อมไม่มีจำเป็นจะต้องถือเอานิมิตจากลมธรรมดานี้เองโดยอาศัยการเห็นและการถูกต้องแล้วจึงทำการเพ่งและบริกรรมได้ กล่าวคือ เมื่อได้แลเห็นยอดไม้ ใบไม้ ที่สั่นไหว แกว่ง และเส้นผมที่ถูกลม หรือ ในขณะที่ลมพัดมาต้องกายอยู่ ในขณะนั้นก็จะทำการเพ่งดูความสั่นไหว แกว่งไกวของยอดไม้ ใบไม้ ปลายผมหรือ ความรู้สึกสัมผัสในเมื่อลมมาต้องกายอย่างใด อย่างหนึ่งแล้วแต่จะสะดวกพร้อมกับบริกรรมว่า วาโยๆ หรือ ลมๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าอุคคหนิมิตจะปรากฎขึ้นเมื่ออุคคหนิมิตปรากฏแล้วก็มิจำเป็นที่จะเพ่งดูความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อีกแต่ต้องเพ่งอุคคหนิมิตที่ตนได้มาแล้วนั้นต่อไป จนกว่าจะได้ปฏิภาคนิมิตและได้รูปฌานความต่างกันระหว่างนิมิตทั้งสามในการเพ่งวาโยกสิณนั้น การไหวสั่น แกว่งของยอดไม้ ใบไม้ เส้นผมที่ถูกลมก็ดี ลมพัดต้องกายก็ดี เหล่านี้เป็นบริกรรมนิมิต

      สำหรับอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตทั้งสองนี้ เมื่อปรากฏเกิดขึ้นนั้นมีลักษณะเหมือนกับเกลียวแห่งไอข้าว ไอน้ำ น้ำตก ควัน ที่เราเคยเห็นอยู่นี้เอง แต่อุคคหนิมิตนั้นมีการเคลื่อนไหวหวั่น สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นไม่ไหวหวั่น มีสภาพเป็นกลุ่ม เป็นกอง ตั้งมั่นนิ่งอยู่เหมือนกับภาพถ่าย หรือ ภาพเขียน ตามปกติลมนั้นเห็นด้วยตาไม่ได้ ฉะนั้นพระโยคีบุคคลจึงต้องอาศัยการไหวสั่น แกว่ง ของใบไม้ เป็นต้น ที่เกิดจากลมพัดเป็นเครื่องเพ่ง แต่เมื่ออุคคหนิมิต เกิดขึ้นนั้น พระโยคีบุคคลจะเห็นลมนี้ได้โดยทางใจเพราะได้เปลี่ยนจากลมธรรมดาเป็นลมพิเศษปรากฏขึ้นแก่ใจพระโยคี ดังนั้นลมธรรมดานี้จึงเปลี่ยนสภาพไปเหมือนกับเกลียวแห่งไอข้าว ไอน้ำ น้ำตก ควัน โดยเหตุนี้ พระโยคีจึงควรเข้าใจในเรื่องลมธรรมดา และลมพิเศยทั้งสองอย่างนี้ให้ได้ เพื่อจะให้ได้มาซึ่งอุคคหนิมิตโดยเร็ว เมื่เป็นเช่นนี้ ก็จะมีคำถามขึ้นมาว่า จะเพ่งไอข้าว ไอน้ำ ควันทีเดียวไม่ได้หรือ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็เป็นลมพิเศษเหมือนกัน ? แก้ว่า จะทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะมีสีสรรวรรณะปนอยู่ ทั้งเป็นลมพิเศษอีกด้วย และจะกลายเป็นการเพ่งวัณณกสิณซึ่งไม่ได้ตั้งใจจะเจริญ โดยตั้งใจเจริญวาโยกสิณต่างหาก

      สำหรับการงานต่างๆ ที่พระโยคีบุคคลจะพึงปฏิบัติในการเจริญวาโยกสิณ นับตั้งแต่ปฏิภาคนิมิตเกิด เป็นต้น  จนถึงรูปฌาน อรูปฌานนั้น ก็คงเป็นไปเช่นเดียวกับการเจริญปถวีกสิณทุกประการ


จบมหาภูตกสิณ

----------///----------

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,อภิธัมมัตถสังคหะ,สมถกรรมฐาน,อรูปฌาน,ประชานิยม

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.