องค์ศีล (๗)

----------

.............

ศีลข้อที่ ๔ 

.............

คำบาลีว่า “มุสาวาทา เวรมณี” (มุสาวาทา เวระมะณี) แปลว่า เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ (to abstain from false speech)

ศีลข้อนี้เรียกเป็นคำไทยว่า “มุสาวาท” มักเรียกสั้นๆ ว่า “มุสา”

องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็นมุสาวาทมี ๔ ประการ คือ -

(๑) อตถํ  วตฺถุํ (อะตะถัง วัตถุง) เรื่องที่พูดเป็นเรื่องไม่จริง และตัวผู้พูดก็รู้อยู่ว่าเป็นเรื่องไม่จริง

(๒) วิสํวาทนจิตฺตํ (วิสังวาทะนะจิตตัง) มีเจตนาจะให้ผู้ฟังเข้าใจผิดว่าเป็นจริงตามพูด

(๓) ตชฺโช วายาโม (ตัชโช วายาโม) พูดออกไปตามเจตนานั้น

(๔) ปรสฺส  ตทตฺถวิชานนํ (ปะรัสสะ ตะทัตถะวิชานะนัง) ผู้ที่รับฟังเข้าใจความหมายตามเจตนานั้น

.............

ขยายความ

.............

คำว่า “วาท” แปลตามศัพท์ว่า “คำพูด” แต่ในศีลข้อนี้หมายรวมไปถึงการเขียน การทำหรือใช้เครื่องหมาย การแสดงกิริยาท่าทาง ตลอดจนวิธีการสื่อสารอื่นๆ

องค์ประกอบข้อ (๑) บอกว่า “เรื่องที่พูดเป็นเรื่องไม่จริง” (อตถํ  วตฺถุํ) ถ้าผู้พูดเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง บอกเล่าแก่ผู้อื่นตามที่ตนเข้าใจ ไม่เข้าข่ายองค์ประกอบข้อนี้ นั่นคือยังไม่เด็ดขาดเฉพาะ “เรื่องไม่จริง” ต้องดูเงื่อนไขประกอบด้วย

เรื่องจริง แต่ผู้พูดเข้าใจว่าเป็นเรื่องไม่จริง เอาเรื่องจริงที่ตนเข้าใจว่าไม่จริงนั้นไปบอกเล่าแก่ผู้อื่นด้วยเจตนาจะโกหก แบบนี้ก็ไม่เข้าองค์ประกอบข้อ (๒) (มีเจตนา) นั่นคือยังไม่เด็ดขาดเฉพาะ “มีเจตนาจะโกหก” ต้องดูเงื่อนไขประกอบด้วย

จะเห็นได้ว่า องค์ประกอบข้อ (๑) กับข้อ (๒) เกี่ยวพันกันอยู่

เรื่องที่พูดเป็นเรื่องไม่จริง แต่ไม่มีเจตนาจะโกหก ก็ไม่เข้าองค์ประกอบ

มีเจตนาจะโกหก แต่เรื่องที่พูดเป็นเรื่องจริง ก็ไม่เข้าองค์ประกอบ

ต้องเป็นเรื่องไม่จริงด้วย มีเจตนาจะโกหกด้วย จึงจะเข้าองค์ประกอบ

องค์ประกอบข้อ (๔) ถือว่าเป็นตัวตัดสินที่สำคัญ ข้อ (๑) (๒) (๓) ครบองค์ประกอบทุกอย่าง แต่ถ้าผู้ฟังไม่เข้าใจเรื่องที่พูด เช่นโกหกเป็นภาษาไทยให้ฝรั่งฟัง ฝรั่งไม่รู้ภาษาไทย ฟังแล้วไม่เข้าใจ ศีลก็ยังไม่ขาด 

คนฟังรู้เรื่องและเข้าใจเรื่องที่พูดตามเจตนาของผู้พูด ผู้ฟังจะเชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องที่พูดก็แล้วแต่ ถือว่าเข้าองค์ประกอบแล้ว

....................

ในจำนวนศีล ๒๒๗ ข้อของพระ มีข้อหนึ่ง-ห้ามพูดเท็จ ศัพท์พระวินัยว่า “สัมปชานมุสาวาท” (สำ-ปะ-ชา-นะ-มุ-สา-วาด) แปลว่า “พูดเท็จทั้งที่รู้ว่าเท็จ”

คัมภีร์มังคลัตถทีปนีอ้างเหตุผลและแสดงมติไว้ว่า 

........................................................

วุตฺตญฺหิ  ปุพฺเพวสฺส  โหติ  มุสา  ภณิสฺสนฺติ  ภณนฺตสฺส  โหติ  มุสา  ภณามีติ  ฯ  เอตญฺหิ  ทฺวยํ  องฺคภูตํ  อิตรนฺตุ  โหตุ  วา  มา  วา  อการณเมตํ  ฯ

จริงอยู่ พระอุบาลีเถระกล่าวคำนี้ไว้ว่า “ก่อน (แต่จะพูด) ภิกษุย่อมมีความรู้ตัวว่า 'เราจะพูดมุสา' เมื่อกำลังพูดย่อมมีความรู้ตัวว่า 'เราพูดมุสาอยู่' ” ดังนี้ ความรู้ตัวทั้ง ๒ นั่นแลเป็นองค์, ส่วนนอกนี้จะมีก็ตาม ไม่มีก็ตาม ข้อนั้นไม่เป็นเหตุ

ที่มา: 

มังคลัตถทีปนี ภาค ๑ ข้อ ๒๐๙

มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม ๒ หน้า ๑๐๕

........................................................

ถ้าถือตามนี้ มุสาวาทของพระก็มีองค์ประกอบแค่ ๓ ประการ คือ ๑ เรื่องไม่จริง ๒ มีเจตนาจะโกหก ๓ พูดออกไป เท่านี้ก็ศีลขาดแล้ว ผู้ฟังจะฟังภาษาที่พูดออกหรือฟังไม่ออกไม่เป็นประมาณ

แต่ศีล ๕ ศีล ๘ ข้อมุสาวาท ผู้ฟังต้องรู้เข้าใจภาษาที่พูดด้วย ศีลจึงจะขาด

.........................................................

ปัญหาลองภูมิ : 

พูดเรื่องจริงเป็นภาษาไทยให้ฝรั่งฟัง

ฝรั่งไม่รู้ภาษาไทย จึงมีล่ามแปล

ไทยพูดว่า ตะวันตก

ล่ามแปลเป็น ตะวันออก

ไทยพูดว่า วันนี้

ล่ามแปลเป็น พรุ่งนี้

คนพูดศีลขาดหรือไม่

คนแปลศีลขาดหรือไม่

.........................................................

(ยังมีต่อ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ มกราคม ๒๕๖๖

๒๐:๓๙

[full-post]

องค์ศีล

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.