Sompob Sanguanpanich


ความถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจระ (อาจารโคจรสมฺปนฺโน)

***

บรรดาคุณสมบัติ ๔ ประการ ที่บ่งถึงลักษณะแห่งผู้มีศีลดี คือ

      ๑. เป็นผู้สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่  (ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต วิหรติ)

      ๒. ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร  (อาจารโคจรสมฺปนฺโน)

      ๓. มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย  (อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี)

      ๔. สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย  (สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ)

...

      นอกจากความประพฤติสำรวมด้วยพระปาติโมกข์แล้ว มรรยาทและความเป็นผู้รู้จักเลือกสถานที่ดำเนินไปแห่งผู้ใคร่ความเป็นผู้มีึศีลดี ยังเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงไม่แพ้กัน เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาเป็นลำดับเป็นต่อไป

      ก็มรรยาทแห่งภิกษุนั้น เรียกว่า อาจาระ และสถานที่ควรดำเนินไป เรียกว่า โคจร 

      บุคคลผู้ถึงพร้อมอาจาระและโคจร หมายถึง สมบูรณ์ ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๒ ประการนั้น

      ความเป็นผู้เช่นนั้น เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อาจารสมบัติ และ โคจรสมบัติ

      คำนี้ ท่านกล่าวถึงธรรมอันเป็นอุปการะแก่ปาติโมกขสังวรในเบื้องต้น และแก่ความพากเพียรเพื่อให้ได้คุณวิเศษในเบื้องสูง. อีกนัยหนึ่ง คำนี้หมายถึง การเว้นมารยาทที่ไม่เหมาะสมทั้งปวง เพราะไม่ทำมิจชีพมีการให้ไม้ไผ่เป็นต้น แล้วประกอบด้วยอาจารสมบัติอันสมควรแก่ภิกษุ. 

      ก็คำว่า อาจารสมบัติ นี้ ได้แก่ 

      ๑) การไม่ล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา และทั้งทายกายและทางวาจา 

      ๒) ความเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ในเพื่อนพรหมจารี ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะ นุ่งห่มเรียบร้อย มีการก้าวไป ก้าวกลับ แลดู เหลียวดู คู้เหยียด น่าเลื่อมใส สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ คุ้มครองทวารในอินทรีย์ รู้จักประมาณในโภชนะ มีความตื่นตัว ประกอบดวยสติและสัมปชัญญะ เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ เคารพในอภิสมาจาริกวัตร มากด้วยความเคารพและยำเกรงอยู่ ผู้เช่นนี้แหละ เรียกว่า มีอาจารสมบัติ คือ สมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยความประพฤติ.

ก็คำว่า ถึงพร้อมด้วยโคจร นี้ ได้แก่ การเว้นอโคจร มีหญิงแพศยาเป็นต้น แล้วประกอบด้วยโคจร กล่าวคือ สถานที่อันสมควรเข้าไปบิณฑบาตเป็นต้น.


      โคจรนี้ แบ่งเป็น ๓ อย่าง คือ 

            - อุปนิสัยโคจร (โคจรที่อาศัยของศีลคุณเป็นต้น คือ กัลยาณมิตร)

            - อารักขโคจร (โคจรรักษาจิตคือสติ)

            - อุปนิพันธโคจร (โคจรผูกจิตคือกรรมฐาน)

      ใน ๓ อย่างนั้น ผู้ประกอบด้วยคุณคือกถาวัตถุ ๑๐ ที่ตนอาศัยแล้วย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง  ย่อมทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ตัดความสงสัยเสียได้ทำความเห็นให้ตรง ทำจิตให้เลื่อมใส หรือว่า เมื่อประพฤติตามย่อมเจริญด้วยศรัทธา ด้วยศีล ด้วยสุตะ ด้วยจาคะและด้วยปัญญานี้ท่านเรียกว่า "อุปนิสัยโคจร".  

      ภิกษุเมื่อเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน มีตาทอดลงแลดูชั่วแอก เดินสำรวมจักขุนทรีย์ไป ไม่เดินแลพลช้าง ไม่เดินแลพลม้า ไม่เดินแลพลรถ ไม่เดินแลดูพลราบ ไม่เดินแลหญิง  ไม่เดินแลชาย  ไม่แหงนดู  ไม่ก้มดู  ไม่เดินเหลียวแลดูตามทิศน้อยใหญ่,  สติที่สำรวมจักขุนทรีย์เป็นต้นนี้   ท่านเรียกว่า "อารักขโคจร". 

      สติปัฏฐาน ๔ อันเป็นที่ซึ่งภิกษุเข้าไปผูกจิตของตนไว้ ท่านเรียกว่า "อุปนิพันธโคจร" ดังที่ตรัสไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไร เป็นโคจร คือเป็นอารมณ์อันเป็นของบิดาของตนของภิกษุ  คือ "สติปัฏฐาน ๔".

      บรรดาโคจร ๓ นี้ อุปนิสสยโคจร กล่าว คือ กัลยาณมิตร ได้กล่าวไว้ในหัวข้อว่าด้วยกัลยาณมิตร ดังนั้น ในที่นี้ จึงหมายถึงโคจร ๒ อย่างที่เหลือ 

      ผู้ประกอบด้วยอาจารสมบัติ และ โคจรสมบัติ ดังกล่าวมานี้ จึงชื่อว่า "ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร" (อาจารโคจรสมฺปนฺโน)


-----------------------

      ขออนุโมทนา

      สมภพ สงวนพานิช

      ๗ มกราคม ๒๕๖๖

      ๗.๔๖ น.


[full-post]

ปกิณกธรรม,อาจารโคจรสมฺปนฺโน,ประชานิยม,prachaniyom

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.