ศาสนาของข้าพเจ้า
---------------------
วันนี้ขออนุญาตขึ้นธรรมาสน์เตี้ยๆ อีกสักทีนะครับญาติมิตรทั้งหลาย
เมื่อพูดว่า “พระพุทธศาสนา” ความหมายที่ถูกต้องก็คือ คำสอนที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นคำสอนเดิมแท้
ผมเห็นว่า การจะศึกษาให้เข้าใจพระพุทธศาสนาตามความหมายที่ถูกต้อง ควรจะเป็นไปตามขั้นตอนต่อไปนี้ -
๑ ศึกษาให้รู้เข้าใจก่อนว่า คำสอนเดิมแท้ท่านสอนไว้อย่างไร นั่นคือเรียนรู้คำสอนในพระไตรปิฎกก่อน ที่ผมพูดบ่อยๆ ว่า-ไปให้ถึงต้นธาตุต้นธรรมต้นน้ำต้นทาง
เช่น-ในพระไตรปิฎกบันทึกคำสอนไว้ว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ”
ศึกษาให้รู้เข้าใจก่อนว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” มีความหมายว่าอย่างไร-อย่างนี้เป็นต้น
๒ เนื่องจากคำว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” (ตามที่ยกเป็นตัวอย่าง) ไม่ใช่ภาษาไทย แต่เป็นภาษาบาลี คนที่ไม่รู้บาลีก็ย่อมจะไม่เข้าใจ
...................................................
(๑) เริ่มตั้งแต่ไม่รู้ว่าข้อความนี้อ่านว่าอย่างไร
(๒) แม้อ่านได้ (เพราะเขียนเป็นอักษรไทย) ก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร
(๓) แม้แปลได้ ก็ยังต้องตรวจสอบวินิจฉัยอีกว่าที่แปลเช่นนั้นถูกต้องตามเจตนาของผู้สอนหรือเปล่า
(๔) แม้แปลถูกต้อง ก็ยังต้องทำความเข้าใจต่อไปอีกว่า คำที่แปลมานั้นมีความหมายว่าอย่างไร แต่ละคำหมายถึงอะไร รวมกันทั้งหมดหมายความว่าอย่างไร
นี่คือด่านต่างๆ ที่จะต้อง “ฝ่า” ไปให้ได้ด้วยดี
...................................................
ด้วยเหตุผลตามวรรคแรก คนส่วนมากจึงใช้วิธีศึกษาจากคำแปล คืออ่านหรือฟังข้อความที่มีผู้แปลมาจากพระไตรปิฎก
แม้จะพูดกันว่า “อ่านพระไตรปิฎก” ข้อเท็จจริงก็คือ อ่านที่แปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ชนชาติอื่นก็ใช้วิธีเดียวกัน คืออ่านที่แปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาของชาตินั้นๆ
ถึงตรงนี้ ขอให้ย้อนไปมอง “ด่าน” ต่างๆ ที่บอกไว้ข้างต้น แล้วพิจารณาดูว่า เมื่ออ่านพระไตรปิฎกจะต้องผ่านด่านอะไรบ้าง
โปรดทราบว่า แม้จะรู้ภาษาบาลีและอ่านจากต้นฉบับที่เป็นภาษาบาลี ก็จะต้องผ่านด่านเหล่านี้เช่นเดียวกัน
ที่กล่าวมานี้เป็นขั้นตอน-ศึกษาต้นฉบับ
การศึกษาพระพุทธศาสนา ควรเริ่มจากขึ้นตอนนี้
๓ เนื่องจากพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเมื่อ ๒๖๐๐ ปีมาแล้ว จึงมีผู้รู้เห็นและศึกษาเรียนรู้มาก่อนเราหลายชั่วอายุคน ท่านเหล่านั้นมีทั้งที่มีชีวิตร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า มีทั้งที่เกิดทีหลังแต่อยู่ใกล้กับข้อมูลข้อเท็จจริงมากที่สุด มีทั้งที่ศึกษาเรียนรู้สืบมาจากคนรุ่นก่อนตนแล้วถ่ายทอดกันต่อๆ มา
จากสภาพเช่นนี้ จึงเกิดมีคำอธิบายคำสอนที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์หรือผู้อยู่ใกล้เหตุการณ์จริงจดจำนำสืบๆ กันมา คำอธิบายนั้นเรียกกันว่า “อรรถกถา”
ครั้นนานมา ก็มีคำอธิบายอรรถกถาเกิดขึ้นอีก เรียกว่า “ฎีกา” และมีต่อๆ มาอีก ...
คำอธิบายดังกล่าวนี้มีบันทึกไว้เป็นภาษาบาลีเชนเดียวกับคำสอนที่เรียกว่าพระไตรปิฎก
เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาจากต้นฉบับพระไตรปิฎกแล้ว จึงสมควรที่จะศึกษาอรรถกถาฎีกาเพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อจะได้รู้ว่า คำสอนข้อนั้นๆ คนที่เรียนรู้ศึกษามาก่อนเราเขาเข้าใจว่าอย่างไร
๔ นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาของคนร่วมสมัยใกล้กับเราที่เราพอจะทันรู้ทันเห็น ท่านแสดงความเข้าใจของท่านไว้ เรียกว่า “อาจริยมติ” หรือความรู้ความเห็นของบูรพาจารย์ ก็สมควรที่จะสืบเสาะศึกษาดูด้วยเป็นลำดับต่อมา
๕ ต่อจากนั้นก็มาถึงคำอธิบายของอาจารย์หรือสำนักต่างๆ ที่ร่วมสมัยกับเรา ที่กำลังพูด กำลังอธิบาย กำลังสอนให้เราได้ยินได้ฟังอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในเวลานี้ ทั้งท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งท่านที่ล่วงลับไปแล้วแต่เราทันรู้ทันเห็น เปิดหู เปิดตา เปิดใจรับฟังไว้ประกอบการศึกษาด้วย
๖ สุดท้าย จึงมาถึงความรู้ ความคิด ความเห็น ความเข้าใจของเราเอง
......................
ตามขั้นตอนดังแสดงมานี้ จะเห็นได้ว่า ไม่มีการบังคับเชื่อ ไม่มีการปิดกั้นความเห็นต่าง
ศึกษาแล้ว ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ได้
ใครจะเห็นต่างไปจากที่เคยเห็นกันมา ก็ได้
ขอแต่เพียงเปิดใจรับรู้ก่อนว่า หนึ่ง-คืออะไร สอง-คืออย่างไร แล้วจึงมาถึงสาม-เราว่าอย่างไร
......................
แต่ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ มักไม่ได้เป็นไปตามข้นตอนที่ลำดับมานี้
ที่เป็นกันมากที่สุดในหมู่ผู้ฟังผู้ศึกษา ก็คือ-ไม่ได้ไปถึงต้นน้ำหรือต้นฉบับ หากแต่พอใจที่จะจับเอาคำสอนของอาจารย์หรือสำนักต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในเวลานี้เป็นสำคัญ ว่า นี่แหละคือคำสอนของพระพุทธเจ้า นี่แหละคือคำสอนในพระพุทธศาสนา
และมีอยู่เป็นอันมากที่ปรากฏว่า อาจารย์หรือสำนักต่างๆ ก็พากันเพลิดเพลินไปกับการอธิบาย “ธรรมะข้าพเจ้า” มากกว่าที่จะอธิบาย “ธรรมะของพระพุทธเจ้า” สาเหตุสำคัญก็คือ ตัวผู้อธิบายเองก็ไม่ได้ไปให้ถึงต้นน้ำหรือต้นฉบับด้วยเหมือนกัน
เวลานี้เริ่มจะมีผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้ศึกษาเพื่อจะเรียนรู้ว่า-พระพุทธเจ้าสอนอะไร แต่ศึกษาเพื่อจะบอกว่า-ข้าพเจ้าเข้าใจอะไร
หมายความว่า ความหมายในคำสอนของพระพุทธเจ้าจะเป็นอย่างไร อรรถกถาฎีกาอาจริยมติจะอธิบายอย่างไร ไม่จำเป็นจะต้องศึกษาเรียนรู้ บางทีถึงกับบอกว่า-อธิบายผิดทั้งนั้น
ต้องที่ข้าพเจ้าเข้าใจและที่ข้าพเจ้าบอกนี่จึงจะถูก
และที่ข้าพเจ้าเข้าใจนี่แหละคือคำสอนของพระพุทธเจ้า คือคำสอนที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา
......................
การอธิบายพระพุทธศาสนาให้คนสมัยใหม่เข้าใจได้ง่ายๆ เป็นสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่จำเป็น ใครมีความสามารถทำได้ย่อมควรแก่การอนุโมทนาอย่างยิ่ง
แต่การอธิบายให้ถูกต้องตรงกับคำสอนเดิมแท้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด และจำเป็นที่สุดด้วย
ถ้าไม่เริ่มด้วยการศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจคำสอนเดิมแท้ก่อน แต่เอาความเข้าใจของตนเองนำหน้า สิ่งที่อธิบายให้คนสมัยเข้าใจได้ง่ายๆ นั้นอาจจะไม่ใช่ศาสนาของพระพุทธเจ้า
แต่กลายเป็นศาสนาของข้าพเจ้า!
-------------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๑ มกราคม ๒๕๖๖
๑๗:๐๒
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ