ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (3,864)
เทวาภิเษก
รู้ตามเขา แต่ไม่จำต้องพูดตามเขา
อ่านว่า เท-วา-พิ-เสก
ประกอบด้วยคำว่า เทว + อภิเษก
(๑) “เทว”
บาลีอ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)
: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”
ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา
แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ -
(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)
(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)
(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)
ในที่นี้ “เทว” ใช้ในความหมายตามข้อ (2) คือเทวดาหรือเทพเจ้า
“เทว” เมื่อใช้ในภาษาไทยแปลง ว เป็น พ ตามสูตรที่นิยมทั่วไป เช่น -
วร > พร
วิวิธ > พิพิธ
: เทว > เทพ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เทพ” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ -
(1) เทพ ๑, เทพ- : (คำนาม) เทวดา. (ป., ส. เทว).
(2) เทพ ๒ : (คำนาม) คำนำหน้าชื่อเพลงไทย เช่น เทพทอง เทพชาตรี เทพบรรทม เทพนิมิต เทพรัญจวน.
(3) เทพ ๓ : (คำนาม) สมณศักดิ์พระราชาคณะสูงกว่าชั้นราช ตํ่ากว่าชั้นธรรม เรียกว่า ชั้นเทพ เช่น พระเทพโมลี.
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “เทพ” ไว้ดังนี้ -
..............
เทพ : เทพเจ้า, ชาวสวรรค์, เทวดา; ในทางพระศาสนา ท่านจัดเป็น ๓ คือ
๑. สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ = พระราชา, พระเทวี พระราชกุมาร
๒. อุปปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด = เทวดาในสวรรค์และพรหมทั้งหลาย
๓. วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ = พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย
ในที่นี้ “เทว” ไม่แปลง ว เป็น พ แต่คงรูปเป็น “เทว”
(๒) “อภิเษก”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อภิเสก” (สันสกฤต -เษก ษ ฤษี บาลี -เสก ส เสือ) อ่านว่า อะ-พิ-เส-กะ รากศัพท์มาจาก อภิ + เสก
(ก) “อภิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)
(๒) “เสก” บาลีอ่านว่า เส-กะ รากศัพท์มาจาก สิจฺ (ธาตุ = รด, ราด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ สิ-(จฺ) เป็น เอ (สิจฺ > เสจ), แปลง จ เป็น ก
: สิจฺ + ณ = สิจณ > สิจ > เสจ > เสก แปลตามศัพท์ว่า “การรด” หมายถึง การประพรม (sprinkling)
ในภาษาไทยมีคำว่า “เสก” ซึ่งน่าจะมีมูลมาจากคำบาลี แต่ความหมายกลายไป
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“เสก : (คำกริยา) ร่ายมนตร์เพื่อทำให้ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เช่น เสกน้ำล้างหน้า เสกแป้งผัดหน้า, ร่ายมนตร์เพื่อทำให้สิ่งหนึ่งกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เช่น เสกหญ้าให้เป็นหุ่นพยนต์ เสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตน, ร่ายมนตร์เพื่อให้เกิดพลังส่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปทำร้ายศัตรู เช่น เสกหนังเข้าท้อง.”
อภิ + เสก = อภิเสก (อะ-พิ-เส-กะ) แปลว่า “การรดน้ำอย่างยิ่งใหญ่” หมายถึง การเจิม, การอภิเษก, การทำพิธีสถาปนา [เป็นกษัตริย์] (anointing, consecration, inauguration [as king])
บาลี “อภิเสก” สันสกฤตเป็น “อภิเษก”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ -
“อภิเษก : (คำนาม) การชำระกาย; การประพรม; bathing; sprinkling.”
นอกจากนี้ สันสกฤตยังมี “อภิเษจน” อีกคำหนึ่งซึ่งรากศัพท์คล้ายคลึงกับ “เสจ” ในบาลีก่อนจะแปลง จ เป็น ก (ดูข้างต้น)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ -
“อภิเษจน : (คำนาม) การตั้งแต่ง; การประพรม; initiation or inauguration; sprinkling.”
ในภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “อภิเษก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“อภิเษก : (คำกริยา) แต่งตั้งโดยการทำพิธีรดนํ้า เช่นพิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระมหากษัตริย์. (ส.; ป. อภิเสก).”
เทว + อภิเษก = เทวาภิเษก
ภาษาไทยปัจจุบัน มีคำพูดกันว่า “เทพเทวา” เพราะฉะนั้น จะว่า “เทวาภิเษก” มาจาก เทวา + อภิเษก = เทวาภิเษก ก็ไม่ผิดกติกาอันใด
ขยายความ :
ในภาษาไทยเรามักไม่ได้เห็นคำว่า “อภิเษก” ที่ใช้เดี่ยวๆ เห็นแต่ที่ใช้เป็นส่วนท้ายของคำสมาส เช่น ราชาภิเษก ปราบดาภิเษก พุทธาภิเษก เป็นต้น
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
(1) ราชาภิเษก : (คำนาม) พระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ใช้ว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. (ส.).
(2) ปราบดาภิเษก : (คำวิเศษณ์) มีอภิเษกอันถึงแล้ว. (คำโบราณ) (คำนาม) พระราชพิธีขึ้นเสวยราชสมบัติหรือได้ราชสมบัติ. (ส. ปฺราปฺต + อภิเษก).
(3) พุทธาภิเษก : (คำนาม) ชื่อพิธีในการปลุกเสกพระพุทธรูปหรือวัตถุมงคล โดยมีพระเถระผู้เชี่ยวชาญในการทำสมาธิจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า คณะปรก นั่งภาวนาส่งกระแสจิตเพ่งคุณพระรัตนตรัยเข้าไปสู่องค์พระหรือวัตถุมงคลนั้น ๆ.
“เทวาภิเษก” ไม่ใช่คำเก่า แต่ก็ไม่ใช่คำใหม่เอี่ยม เพราะได้ยินพูดกันมานานพอสมควร เห็นรูปคำและพิธีกรรมก็เดาได้ไม่ยากว่า เลียนแบบมาจาก “พุทธาภิเษก” นั่นเอง ดังนั้น จึงไม่ต้องคิดคำนิยามขึ้นใหม่ ดัดแปลงจากคำนิยามของ “เทวาภิเษก” ได้เลย นั่นคือ
“เทวาภิเษก (คำนาม) ชื่อพิธีในการปลุกเสกองค์เทพ โดยมีพระเถระผู้เชี่ยวชาญในการทำสมาธิจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า คณะปรก นั่งภาวนาส่งกระแสจิตเพ่งคุณพระรัตนตรัยเข้าไปสู่องค์เทพนั้น.”
หมายเหตุ :
ภาพประกอบนำมาจากภาพที่โฆษณาเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์เป็นสาธารณะ หวังว่าคงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ที่นำภาพนี้มาประกอบ มีเหตุผลอยู่ที่ต้องการชี้ให้ดูการสะกดคำ ตรงคำว่า “เทวาพิเษก” ข้อความในภาพใช้ -พิ- พ พาน ไม่ใช่ -ภิ- ภ สำเภา
เหตุผลก็เข้าใจได้ไม่ยาก คือ สะกดผิด หรือเขียนผิดนั่นเอง ถ้าไม่ใช่เผลอ ก็คือเพราะเขลา
เพราะเผลอ คือ ก็รู้อยู่ว่าคำนี้ -ภิเษก ใช้ ภ สำเภา แต่เผลอไปใช้ พ พาน โดยไม่เจตนา
เพราะเขลา คือ เข้าใจเอาเองว่า คำนี้ใช้ พ พาน ได้ ซึ่งเป้นความเข้าใจผิด
เวลานี้ การสะกดผิดโดยไม่เอาใจใส่และไม่เห็นความสำคัญระบาดมากขึ้น ในเฟซบุ๊กมีมากที่สุด เนื่องจาก “พิมพ์แล้วโพสต์เลย” ง่ายดี สะดวกดี ไม่มีการตรวจสอบ
แต่การทำป้ายโฆษณาไม่ใช่พิมพ์แล้วโพสต์เลยเหมือนเฟซบุ๊ก มีจังหวะมีเวลาที่จะตรวจสอบได้อย่างน้อย 3 ด่าน
๑ คนร่างต้นฉบับข้อความ มีเวลาคิด มีเวลาตรวจสอบว่าคำไหนสะกดอย่างไร
๒ คนเอาข้อความไปทำป้ายหรือรูปประดิษฐ์ มีเวลาที่จะสอบถามคนเขียนต้นฉบับหรือผู้ว่าจ้างถึงความถูกต้องของข้อความก่อนที่จะลงมือทำ
๓ คนตรวจรับงาน มีเวลาและมีอำนาจเต็มที่ในการสั่งให้แก้ไขในกรณีที่มีคำสะกดผิด
3 คน 3 ด่าน ผ่านไปได้อย่างไร?
ถ้า 3 ด่านใช้คนคนเดียวทำ
ก็เป็นกรรมของภาษาไทย
..............
ดูก่อนภราดา!
: มักยาก แก้ง่าย
: มักง่าย แก้ยาก
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ