กรรมฐานที่ทำให้ได้ฌานเร็ว


      ในบรรดากรรมฐาน ๓๐ ที่ให้ถึงฌานได้นั้น กสิณ ๑๐ เป็นกรรมฐานที่ทำให้ ถึงฌานได้เร็วกว่ากรรมฐานอื่น ๆ ทั้งนี้ก็เพราะการเพ่งกสิณนั้น อุคคหนิมิตและอุปจารสมาธิเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่ออุคคหนิมิต และ อุปจารสมาธิเกิดง่าย การได้ฌานก็เร็ว ยิ่งเป็นวัณณกสิณ ๔ ด้วยแล้ว อุคคหนิมิต และ อุปจารสมาธิ ตลอดจนถึงการได้ฌานเหล่านี้ ย่อมเกิดได้โดยง่ายและเร็วยิ่งกว่ากสิณอื่น ๆ อีกด้วย ยิ่งกว่านั้นในวัณณกสิณด้วยกันนี้ พระพุทธองค์ก็ยังทรงยกย่องโอทาตกสิณว่าเป็นกสิณที่ประเสริฐเลิศยิ่งกว่ากสิณที่เหลือ ๓ โดยเหตุว่า ทำให้จิตใจของพระโยคีบุคคลที่กำลังเจริญอยู่นั้นมีความผ่องใส ปราศจากถิ่นมิทธะเป็นพิเศษ และในขณะที่อุคคหนิมิตยังไม่ปรากฏ หรือปรากฏแล้วก็ตาม โอทาตกสิณยังเป็นกสิณที่ทำให้พระโยคีบุคคลสามารถทราบเหตุการณ์ต่างๆ คล้ายกับผู้ที่ได้ฌานอภิญญา


อานุภาพแห่งกสิณ ๑๐


ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจปถวีกสิณ คือ

      ๑. เนรมิตคนๆ เดียวให้เป็นหลายร้อย หลายพัน

      ๒. เนรมิตตนเองให้เป็น พระยานาค พระยาครุฑ

      ๓. ทำท้องอากาศ แม่น้ำ มหาสมุทร ให้เป็น พื้นแผ่นดิน เดิน ยืน นั่ง นอนได้

      ๔. เนรมิตเป็น ต้นไม้ วิมาน วัดวาอาราม เคหสถาน บ้านเรือน วัตถุ สิ่งของต่างๆ แล้วแต่ความประสงค์ของตน

      ๕. ทำสิ่งที่เบาให้หนัก

      ๖. ทำให้วัตถุตั้งมั่นติดแน่นอยู่ มิให้โยกย้ายเคลื่อนที่ไปได้

      ๗. ได้อภิภายตนะ คือ สามารถข่มทำลายธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจิตใจ และสามารถข่มอารมณ์ต่างฯ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์มิให้มาปรากฏภายในจิตใจของตนได้


ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจอาโปกสิณ คือ

      ๑. แทรกแผ่นดินไปแล้ว ผุดขึ้นมาได้

      ๒. ทำให้ฝนตก

      ๓. ทำพื้นแผ่นดินให้เป็น แม่น้ำ และ มหาสมุทร

      ๔. ทำน้ำให้เป็น น้ำมัน น้ำนม น้ำผึ้ง

      ๕. ทำให้กระแสน้ำพุ่งออกมาจากร่างกาย

      ๖. ทำให้ภูเขา ปราสาท วิมาน สะเทือนหวั่นไหว


ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจเตโชกสิณ คือ

      ๑. เกิดควันกำบังตนและทำให้เปลวไฟลุกโชติช่วงขึ้นจากร่างกายหรือวัตถุอื่นๆ

      ๒. ทำให้ฝนถ่านเพลิงตกลงมา

      ๓. ใช้ไฟที่เกิดจากฤทธิ์ของตนดับไฟที่เกิดจากฤทธิ์ของผู้อื่นให้ดับลง

      ๔. สามารถเผาผลาญบ้านเมือง วัตถุสิ่งของต่างๆ ได้

      ๕. ทำให้แสงสว่างเกิดขึ้น เพื่อจะได้แลเห็นรูปด้วยทิพพจักขุอภิญญา

      ๖. ทำให้เตโชธาตุเกิดขึ้นไหม้สรีระในสมัยที่ปรินิพพาน

      ๗. ทำให้ความมืดหายไป


ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจวาโยกสิณ คือ

      ๑. เหาะไปได้

      ๒. สามารถไปถึงสถานที่ที่ตนต้องการจะไปได้อย่างรวดเร็ว

      ๓. ทำสิ่งที่หนักให้เบา

      ๔. ทำให้พายุใหญ่เกิดขึ้น


ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจนีลกสิณ คือ

      ๑. ทำวัตถุสิ่งของให้เป็นสีเขียว

      ๒. ทำเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง เป็นต้นให้เป็นแก้วมรกต

      ๓. ทำความมืดให้เกิดขึ้นไม่ว่าในเวลาใด

      ๔. ได้อภิภายตนะ

      ๕. ได้สุภวิโมกข์ คือ บรรลุ มรรค ผล นิพพานโดยง่ายและสะดวกสบาย


ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจปีตกสิณ คือ

            ๑. ทำวัตถุสิ่งของให้เป็นสีเหลือง

            ๒. ทำเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง เป็นต้น ให้เป็นทอง

            ๓. ได้อภิภายตนะ

            ๔. ได้สุภวิโมกข์


ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจโลหิตกสิณ คือ ทำวัตถุสิ่งของให้เป็นสีแดง

            ๒. ทำเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง ให้เป็นแก้วทับทิม

            ๓. ได้อภิภายตนะ

            ๔. ได้สุภวิโมกข์

ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจโอทาตกสิณ คือ 

            ๑. ทำวัตถุสิ่งของให้เป็นสีขาว

            ๒. ทำเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง ให้เป็นเงิน

            ๓ ทำให้หายจากความง่วงเหงา หาวนอน

            ๔. ทำให้ความมืดหายไป แล้วทำแสงสว่างให้เกิดขึ้น เพื่อเห็นรูปด้วยทิพพจักษุอภิญญา

      

ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจอาโลกกสิณ คือ

      ๑. ทำวัตถุสิ่งของให้เกิดแสงสว่าง หรือ ทำให้ร่างกายเกิดแสงสว่างเป็นรัศมีพวยพุ่งขึ้นมา

      ๒. เนรมิตเป็นรูปต่างๆ ประกอบด้วยแสงสว่างอย่างรุ่งโรจน์

      ๓. ทำให้ไม่ง่วงเหงา หาวนอน

      ๔. ทำความมืดให้หายไป แล้วทำแสงสว่างให้เกิดขึ้น เพื่อเห็นรูปด้วยทิพพจักขอภิญญา

      พระมหาพุทชโฆสาจารย์ ได้กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคอรรถกถาว่า บรรดากสิณมี เตโชกสิณ โอทาตกสิณ อาโลกกสิณ ที่ทำให้แสงสว่างเกิดขึ้น เพื่อจะได้เห็นรูปต่างๆ ด้วยทิพพจักขุอภิญญานั้น ท่านจัดอาโลกกสิณว่าเป็นกสิณที่ดีเยี่ยม 


ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจอากาสกสิณ คือ

      ๑. ทำการเปิดเผยสิ่งที่ปกปิดซ่อนเร้นลี้ลับให้ปรากฏเห็นได้

      ๒. ทำให้มีอากาศเป็นอุโมงค์ช่องว่างเกิดขึ้นภายในพื้นแผ่นดิน ภูเขา มหาสมุทรแล้วยืน เดิน นั่ง นอนได้

      ๓. เข้าออกทางฝา หรือ กำแพงได้


      ฤทธิ์ต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วนี้เป็นฤทธิ์ที่เกิดจากอำนาจของกสิณ โดยเฉพาะๆ

      สำหรับฤทธิ์ที่เกิดจากกสิณทั้ง ๑๐ ได้นั้นมีดังนี้

      ๑. ทำการกำบังสิ่งต่างๆ ไว้มิให้ผู้ใดแลเห็น

      ๒. ทำวัตถุสิ่งของที่เล็กให้กลับเป็นใหญ่ หรือ ที่ใหญ่ให้กลับเป็นเล็ก

      ๓. ทำระยะทางใกล้ให้เป็นไกล และย่นหนทางที่ไกลให้กลับเป็นใกล้


อธิบายในบาลีข้อที่  ที่แสดงถึงกสิณ ๑๐ จบลงเพียงเท่านี้

------------///-----------

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,สมถกรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,ฌาน,กรรมฐานที่ให้ได้ฌานเร็ว

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.