องค์ศีล (๑)

----------

บทความชุดนี้มีแรงบันดาลใจมาจากญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านกล่าวถึงศีลข้อ ๓ คือ “กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี” ท่านบอกว่าที่เข้าใจกันมาว่าหมายถึงประพฤติผิดทางเพศนั้นไม่ถูก หรือแม้ไม่ผิดก็ถูกไม่หมด ท่านว่าศีลข้อนี้ที่แยกศัพท์ว่า กาเมสุ มิจฉาจารา ก็ไม่ถูก ที่ถูกจะต้องแยกศัพท์เป็น กาเม + สุ + มิจฉาจารา แปลว่า ประพฤติถูก-ผิด ในกาม (ดังจะให้เข้าใจว่า “สุ” คือ “ถูก” “มิจฉา” คือ “ผิด”) และคำว่า “กาม” ไม่ได้หมายถึงเรื่องทางเพศแค่นั้น แต่ต้องหมายถึงของรักของคนอื่นด้วย เช่น ตุ๊กตาเป็นของรักของเด็ก ใครไปทำลายตุ๊กตาตัวนั้นก็ชื่อว่าผิดศีลข้อนี้ด้วย ท่านว่าอย่างนั้น

ผมฟังแล้วก็เกิดแรงบันดาลใจ คือมาคิดดูว่า ความคิดความเข้าใจของคนนี่ เราคงไปแก้หรือไปกลับอะไรของใครไม่ได้ ไปบอกว่าผิดก็ยิ่งไม่ได้ใหญ่ 

เฉพาะกรณีหลักคำสอนในพระศาสนา ทำได้อย่างเดียวคือ นำเสนอหลักที่ปรากฏในต้นฉบับคำสอนเพื่อให้เห็นว่าของเดิมที่ท่านว่าไว้ในต้นฉบับเป็นอย่างไร 

ต่อจากนั้นใครจะเห็นอย่างไรหรือเข้าใจอย่างไร ก็ต้องปล่อยให้อยู่ในความรับผิดชอบแห่งสติปัญญาของแต่ละคน

...................................................

ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาท่านหนึ่งแสดงความเข้าใจของท่านว่า ที่บอกว่าศีลคือการควบคุมกายและวาจานั้น ไม่ถูก ที่ถูก ศีลจะต้องควบคุมถึงจิตใจด้วยจึงจะสมบูรณ์ครบทั้งกาย วาจา ใจ

ผมฟังแล้วก็ได้แต่ถามอยู่ในใจว่า ถ้าเป็นอย่างที่ท่านเข้าใจ แค่คิดจะฆ่า ศีลข้อปาณาติบาตก็ขาดแล้ว แค่คิดจะขโมย ศีลข้ออทินนาทานก็ขาดแล้ว อย่างนั้นใช่ไหม?

...................................................

ผมสังเกตเห็นว่า ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาสมัยนี้มี ๒ ประเภท คือ ศึกษาเพื่อจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรประเภทหนึ่ง และศึกษาเพื่อจะบอกว่าข้าพเจ้ารู้อะไรอีกประเภทหนึ่ง

มีคำที่ผู้รักพระพุทธศาสนาควรตระหนักอยู่ ๒ คำ หรือ “กล่าวตู่พระพุทธพจน์” กับ “ปรัปวาท”

“กล่าวตู่พระพุทธพจน์” หมายถึง อ้างคำสอนของพระพุทธเจ้าผิดพลาดคลาดเคลื่อน เช่น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนี้ แต่อ้างว่าพระพุทธเจ้าสอน หรือพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ แต่อ้างว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอน ตลอดจนคำสอนข้อนี้พระพุทธเจ้าทรงหมายถึงอย่างนี้ แต่อ้างว่าคำสอนข้อนี้พระพุทธเจ้าทรงหมายถึงอย่างโน้น (accusation, slander, calumny) 

“ปรัปวาท” (ปะ-รับ-ปะ-วาด) หมายถึง การคัดค้านโต้แย้งสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนว่าไม่ถูก ไม่จริง ไม่ใช่ ไม่เป็นอย่างที่สอน (disputation with another, challenge, opposition in teaching)

หน้าที่ของผู้รักพระพุทธศาสนา คือ ศึกษาคำสอนให้เข้าใจ แล้วลงมือประพฤติปฏิบัติ และบอกกล่าวเผยแผ่คำสอนให้แพร่หลายกว้างขวางออกไป 

หรือถอดความจากพระพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตรที่ตรัสถึงคุณสมบัติของพุทธบริษัทที่จะสามารถรักษาพระศาสนาไว้ได้ ก็คือ “(๑) ศึกษาเล่าเรียน (๒) พากเพียรปฏิบัติ (๓) เคร่งครัดบำรุง (๔) มุ่งหน้าเผยเผยแผ่ (๕) กล่าวแก้ให้หมดจด” (วิยตฺตา  วินีตา  วิสารทา  พหุสฺสุตา  ธมฺมธรา  ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา  สามีจิปฏิปนฺนา  อนุธมฺมจารินิโย  สกํ  อาจริยกํ  อุคฺคเหตฺวา  อาจิกฺขิสฺสนฺติ  เทเสสฺสนฺติ  ปญฺญเปสฺสนฺติ  ปฏฺฐเปสฺสนฺติ  วิวริสฺสนฺติ  วิภชิสฺสนฺติ  อุตฺตานีกริสฺสนฺติ  อุปฺปนฺนํ  ปรปฺปวาทํ  สหธมฺเมน  สุนิคฺคหิตํ  นิคฺคเหตฺวา  สปฺปาฏิหาริยํ  ธมฺมํ  เทเสสฺสนฺติ  ฯ - มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ๑๐/๙๕) 

แต่ไม่ว่าอะไรจะเป็นอะไร หรือใครจะเป็นอย่างไร การตั้งความปรารถนาดีต่อกัน หวังดีหวังเจริญต่อกัน มองกันด้วยความรู้สึกว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” - นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

ผมหวังว่า เรื่อง “องค์ศีล” ที่นำเสนอต่อไปนี้จะช่วยให้เข้าใจถึงกรอบขอบเขตของศีลได้อย่างถูกต้องตรงกับเจตนาของศีล

.......................

เรื่องที่ควรรู้เป็นพื้นฐานไปพร้อมกันคือ เมื่อพูดว่า “ศีล” ตามที่เราคุ้นกัน ก็คือ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ แถมที่เราไม่คุ้นอีกศีลหนึ่งคือ ศีล ๓๑๑

ศีล ๕ คือศีลของชาวบ้านทั่วไป

ศีล ๘ คือศีลของแม่ชี หรือของชาวบ้านที่ถือศีลในวันอุโบสถ

ศีล ๑๐ คือศีลของสามเณร

ศีล ๒๒๗ คือศีลของภิกษุ

ศีล ๓๑๑ คือศีลของภิกษุณี

ศีล ๓๑๑ ของภิกษุณีนั้น เดิมไม่มีใครเอ่ยถึง เพราะสังคมไทยไม่มีภิกษุณี แต่ ณ วันนี้ ผู้ครองเพศบรรพชิตและเรียกตัวเองหรือให้ใครๆ เรียกว่า “ภิกษุณี” มีปรากฏขึ้นในสังคมไทย และเริ่มจะมีมากขึ้น จึงมีผู้เติม “ศีล ๓๑๑” ของภิกษุณี เข้ามาด้วย

...................................................

เรื่องภิกษุณีนี้ ถ้าไม่ทำความเข้าใจกันให้กระจ่างแจ้งจริง ต่อไปจะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมสงฆ์ไทย บอกฝากไว้สั้นๆ แค่นี้ก่อน

...................................................

ศีล ๕ รู้จักกันทั่วไป ท่องได้ว่าได้กันทั่วไป

ศีล ๘ เริ่มยากขึ้นมาหน่อย ๕ ข้อแรกเหมือนศีล ๕ ยกเว้นข้อ ๓ ศีล ๕ เป็น “กาเม” ศีล ๘ เป็น “อพรัหม” อีก ๓ ข้อชักจะไม่มีใครรู้จัก ยกเว้นข้อ ๖ ไม่กินข้าวเย็น (วิกาลโภชน์) อาจจะพอคุ้นๆ บ้าง

ศีล ๑๐ เริ่มจะไม่มีใครรู้จักมากขึ้น

ศีล ๒๒๗ พูดกันแต่ตัวเลข ลองให้แจงรายละเอียด อาจบอกกระท่อนกระแท่นแค่ ปาราชิก ๔ นอกนั้นไม่รู้

ศีล ๓๑๑ คืออะไรบ้าง น่าจะไม่มีใครบอกได้ ผมได้แต่หวังว่า ท่านที่แสดงตัวเป็น “ภิกษุณี” อยู่ในสังคมไทยในวันนี้ท่านคงจะรู้แจ้งเจนใจ (อย่าบอกว่า “อาตมาเองก็ยังมัวๆ อยู่”!!)

ตีกรอบกันก่อนว่า “ศีล” ในเรื่องนี้มุ่งเฉพาะศีลของคฤหัสถ์ คือศีลที่ชาวบ้านถือได้ นั่นคือศีล ๕ และศีล ๘ ที่เรียกว่า “ศีลอุโบสถ” ส่วนศีลของบรรพชิตมีรายละเอียดซับซ้อนมาก เป็นหน้าที่โดยตรงของบรรพชิตที่จะต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่อยู่ในขอบเขตของบทความชุดนี้

อย่างไรก็ตาม ศีล ๕ ศีล ๘ ยังไปเกี่ยวพันกับหลักธรรมที่เรียกว่า “กรรมบถ” อีกด้วย เพราะฉะนั้น จึงสมควรที่จะศึกษาทำความรู้จักกรรมบถไว้ด้วย

ทางลัดที่จะศึกษาเรื่องกรรมบถได้เร็วที่สุด น่าจะไปดูที่พจนานุกรมของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ. ปยุตฺโต 

(ยังมีต่อ)

------------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ มกราคม ๒๕๖๖

๑๕:๓๕

[full-post]

องค์ศีล,กาเมสุมิจฉาจาร

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.