องค์ศีล (๒)

----------

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “กรรมบถ” บอกไว้ดังนี้ -

...................................................

กรรมบถ :  “กรรมอันเป็นทาง”, กรรมดีหรือชั่วซึ่งแรงถึงขั้นที่เป็นทางให้เกิดในสุคติหรือทุคติ เช่น มุสาวาทคือเจตนาพูดเท็จถึงขั้นทำลายตัดรอนประโยชน์ของผู้อื่น จึงเป็นกรรมบถ ถ้าไม่ถึงขั้นอย่างนี้ ก็เป็นกรรมเท่านั้น ไม่เป็นกรรมบถ, มีคำอธิบายแบบครอบคลุมด้วยว่า กรรมทั้งหลายทั่วไป ชื่อว่าเป็นกรรมบถ เพราะเป็นทางแห่งสุคติและทุคติ และเป็นทางแห่งความสุขความทุกข์ของผู้ที่เกิดในคตินั้นๆ, กรรมบถแยกเป็น กุศลกรรมบถ ๑๐ และ อกุศลกรรมบถ ๑๐

...................................................

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [319] กุศลกรรมบถ 10 และข้อ [321] อกุศลกรรมบถ 10 แสดงรายละเอียดไว้ดังนี้ 

...................................................

[319] กุศลกรรมบถ 10 (ทางแห่งกุศลกรรม, ทางทำความดี, กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติ — Kusala-kammapatha: wholesome course of action) ว่าโดยหัวข้อย่อ ดังนี้

ก. กายกรรม 3 (การกระทำทางกาย — Kāyakamma: bodily action)

1. ปาณาติปาตา เวรมณี (เว้นจากปลงชีวิต — Pāṇātipātā veramaṇī: abstention from killing)

2. อทินฺนาทานา เวรมณี (เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้โดยอาการขโมย — Adinnādānā ~: abstention from taking what is not given)

3. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี (เว้นจากประพฤติผิดในกาม — Kāmesumicchācārā ~: abstention from sexual misconduct)

ข. วจีกรรม 4 (การกระทำทางวาจา — Vacīkamma: verbal action)

4. มุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากพูดเท็จ — Musāvādā ~: abstention from false speech)

5. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี (เว้นจากพูดส่อเสียด — Pisuṇāya vācāya ~: abstention from tale-bearing)

6. ผรุสาย วาจาย เวรมณี (เว้นจากพูดคำหยาบ — Pharusāya vācāya ~: abstention from harsh speech)

7. สมฺผปฺปลาปา เวรมณี (เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ — Samphappalāpā ~: abstention from vain talk or gossip)

ค. มโนกรรม 3 (การกระทำทางใจ — Manokamma: mental action)

8. อนภิชฺฌา (ความไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเขา — Anabhijjhā: non-covetousness)

9. อพฺยาปาท (ความไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น — Abyāpāda: non-illwill)

10. สมฺมาทิฏฺฐิ (ความเห็นชอบ ถูกต้องตามคลองธรรม — Sammādiṭṭhi: right view)

..............

[321] อกุศลกรรมบถ 10 (ทางแห่งอกุศลกรรม, ทางทำความชั่ว, กรรมชั่วอันเป็นทางนำไปสู่ความเสื่อม ความทุกข์ หรือทุคติ — Akusala-kammapatha: unwholesome course of action)

ก. กายกรรม 3 (การกระทำทางกาย — Kāyakamma: bodily action)

1. ปาณาติบาต (การทำชีวิตให้ตกล่วง, ปลงชีวิต — Pāṇātipāta: destruction of life; killing)

2. อทินนาทาน (การถือเอาของที่เขามิได้ให้ โดยอาการขโมย, ลักทรัพย์ — Adinnādāna: taking what is not given; stealing)

3. กาเมสุมิจฉาจาร (ความประพฤติผิดในกาม — Kāmesumicchācāra: sexual misconduct)

ข. วจีกรรม 4 (การกระทำทางวาจา — Vacīkamma: verbal action)

4. มุสาวาท (การพูดเท็จ — Musāvāda: false speech)

5. ปิสุณาวาจา (วาจาส่อเสียด — Pisuṇāvācā: tale-bearing; malicious speech)

6. ผรุสวาจา (วาจาหยาบ — Pharusavācā: harsh speech)

7. สัมผัปปลาปะ (คำพูดเพ้อเจ้อ — Samphappalāpa: frivolous talk; vain talk; gossip)

ค. มโนกรรม 3 (การกระทำทางใจ — Manokamma: mental action)

8. อภิชฌา (เพ่งเล็งอยากได้ของเขา — Abhijjhā: covetousness; avarice)

9. พยาบาท (คิดร้ายผู้อื่น — Byāpāda: illwill)

10. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิดจากคลองธรรม — Micchādiṭṭhi: false view; wrong view)

...................................................

โปรดสังเกตว่า

ประการที่ ๑ กายกรรม ๓ ตรงกับศีล ๕ ข้อ ๑ - ๒ - ๓ พอดี

ประการที่ ๒ วจีกรรม ๔ ตรงกับศีล ๕ ข้อ ๔ แต่กรรมบถขยายออกไปอีก ๓ ข้อ คือ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ 

ถ้าพูดแบบหัวหมอ ศีลขาดเฉพาะพูดเท็จ แต่พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ศีลไม่ขาด 

แต่ในแง่กรรมบถ ศีลไม่ขาดก็จริง แต่กรรมบถขาด เป็นอย่างที่ว่า-ศีลไม่ขาด แต่ธรรมขาด เพราะฉะนั้น ก็ไม่รอดจากความบกพร่อง

แต่จะบอกว่า มุสาวาทจะต้องรวมเอาปิสุณาวาจา (พูดส่อเสียด) ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) และสัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ) เข้าไว้ด้วยจึงจะถูกต้อง จึงจะสมบูรณ์-ทำนองเดียวกับกาเมสุมิจฉาจาร ไม่ใช่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงของรักของชอบใจด้วยจึงจะถูกต้อง จึงจะสมบูรณ์-อย่างนี้ ก็คงไม่ใช่ เพราะคำพูดอีก ๓ เรื่องนั้นท่านไม่ได้จัดเป็น “ศีล” แต่ท่านจัดเป็น “กรรมบถ” ไม่ใช่ว่าท่านลืม แต่ท่านแยกไว้เป็นคนละส่วนกัน

ใครอยากจะเอาไปรวมหรือเอาไปเพิ่มให้เป็นศีล ก็ต้องบอกไปให้ชัดว่า-แบบที่ว่านี้ไม่ใช่ “คำสอนของพระพุทธเจ้า” แต่เป็น “คำสอนของข้าพเจ้า” ซึ่งก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ คนที่เข้ามาศึกษาจะได้เข้าใจชัดไปตั้งแต่ต้นทาง ไม่สับสนว่าแบบไหนเป็นคำสอนของใครกันแน่

ประการที่ ๓ กรรมบถข้อ ๘ - ๙ - ๑๐ เป็นส่วนมโนกรรม ใครที่เห็นว่า ศีลไม่ใช่ควบคุมเฉพาะกายและวาจา แต่จะต้องควบคุมไปถึงจิตใจด้วย จะเห็นได้ว่า การควบคุมจิตใจท่านแยกออกมาเป็นกรรมบถ ไม่ได้จัดเข้าเป็นศีล เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจหลักเดิมของท่าน ซึ่งก็คือศึกษาเรียนรู้ว่า แค่ไหนคือศีล แค่ไหนคือกรรมบถ

อย่าเอาศีลกับกรรมบถไปปนกันหมดทุกข้อ

ศีลบางข้อเป็นกรรมบถด้วย

กรรมบถบางข้อไม่เป็นศีล

(ยังมีต่อ)

----------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ มกราคม ๒๕๖๖

๑๘:๐๙

[full-post]

องค์ศีล,องค์ประกอบที่ทำให้ผิดศีล

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.