องค์ศีล (๘)
----------
.............
วจีกรรมในกรรมบถ
.............
ศีลข้อที่ ๑ ปาณาติบาต ข้อที่ ๒ อทินนาทาน ข้อที่ ๓ (ศีล ๕) กาเมสุมิจฉาจาร และข้อที่ ๔ มุสาวาท ทั้ง ๔ ข้อนี้มีในกรรมบถด้วย ยกเว้นข้ออพรหมในศีล ๘ ไม่มีในกรรมบถ
กรรมบถท่านแบ่งเป็นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓
กายกรรม ๓ เหมือนกับศีลข้อ ๑-๒-๓ ในศีล ๕
วจีกรรม ๔ นอกจากมุสาวาทซึ่งเหมือนกับศีล ๕ และศีล ๘ แล้ว กรรมบถยังมีเพิ่มอีก ๓ คือ ปิสุณาวาจา (วาจาส่อเสียด) ผรุสวาจา (วาจาหยาบ) และสัมผัปปลาปะ (คำพูดเพ้อเจ้อ)
พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ศีล ๕ และศีล ๘ มีเฉพาะมุสาวาท แต่ไม่มีปิสุณาวาจา ผรุสวาจา และสัมผัปปลาปะ
แปลว่า เฉพาะพูดเท็จเท่านั้นที่ศีลขาด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ศีลไม่ขาด
แต่กรรมบถขาด
จะเห็นได้ชัดว่าศีลกับกรรมบถมีขอบเขตแคบกว้างต่างกัน
บางอย่างมีในศีล ไม่มีในกรรมบถ
บางอย่างมีในกรรมบถ ไม่มีในศีล
เพราะฉะนั้น อย่าเกณฑ์ให้ศีลต้องมีทุกอย่างดังที่ใจเราคิด
แต่ควรใช้วิธีศึกษาธรรมะให้ทั่วถึง ก็จะรู้ว่าสิ่งที่เราต้องการนั้นอยู่ตรงไหน
ไหนๆ ศีลก็พาดพิงหรือพัวพันอยู่กับกรรมบถ เมื่อรู้องค์ประกอบของมุสาวาทแล้วก็ควรรู้ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา และสัมผัปปลาปะ ให้ครบชุดไปด้วยเลย
........................
อกุศลกรรมบถทางวจีกรรมมี ๔ อย่าง คือ -
(๑) มุสาวาท: การพูดเท็จ (false speech)
(๒) ปิสุณาวาจา: วาจาส่อเสียด (tale-bearing; malicious speech)
(๓) ผรุสวาจา: วาจาหยาบ (harsh speech)
(๔) สัมผัปปลาปะ: คำพูดเพ้อเจ้อ (frivolous talk; vain talk; gossip)
“มุสาวาท” บรรยายมาแล้ว
.............
ปิสุณาวาจา
.............
เกณฑ์ตัดสินว่า การส่อเสียดนั้นสำเร็จ มีองค์ประกอบ ๔ ประการ คือ -
(๑) ภินฺทิตพฺโพ ปโร (ภินทิตัพโพ ปะโร) = มีตัวบุคคลที่ผู้ส่อเสียดประสงค์จะให้แตกกัน
(๒) เภทปุเรกฺขารตา วา ปิยกมฺยตา วา (เภทะปุเรกขาระตา วา ปิยะกัมยะตา วา) = มีเจตนาจะให้เขาแตกกันก็ตาม มีเจตนาจะให้คนถูกใจการกระทำของตนก็ตาม
(๔) ตชฺโช วายาโม (ตัชโช วายาโม = ลงมือกระทำ
(๔) ตทตฺถวิชานนํ (ตะทัตถะวิชานะนัง) = มีผู้รับรู้และเข้าใจวิธีที่กระทำนั้นสมตามเจตนา
ท่านขมวดไว้ว่า ถ้าครบทั้ง ๔ องค์ประกอบนี้ก็เป็นอันสำเร็จเป็นปิสุณาวาจา แต่ถ้าเขาไม่แตกกันตามเจตนา กรรมบถยังไม่ขาด ต่อเมื่อเขาแตกกันกรรมบถจึงขาด
.............
ผรุสวาจา
.............
คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ภาค ๑ ข้อ ๒๑๓ หน้า ๒๐๙ อธิบายลักษณะของ “ผรุสวาจา” ไว้ว่า -
........................................................
ปรสฺส มมฺมจฺเฉทกกายวจีปโยคสมุฏฺฐาปิกา เอกนฺตผรุสเจตนา ผรุสวาจา ผรุสํ วตฺติ เอตายาติ กตฺวา.
........................................................
คำบาลีประโยคนี้ถ้าแปลตามศัพท์ หรือ word by word จะเข้าใจยากที่สุด เพราะฉะนั้น ขอแปลตามสำนวนทองย้อยว่า -
........................................................
เจตนาหยาบล้วนๆ ที่เป็นเหตุผลักดันให้เกิดการกระทำและคำพูดชนิดที่ตัดทางที่คนอื่น (ที่ถูกด่า) จะชื่นชมยินดี ไขความว่า “เจตนาเป็นเหตุให้คนเรากล่าวคำหยาบ” (นี่แหละ) ชื่อว่า “ผรุสวาจา”
........................................................
แค่ไหนอย่างไรจึงจะถือว่าเป็น “ผรุสวาจา” ตามหลักธรรม ท่านแสดงว่า มีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ -
(๑) อกฺโกสิตพฺโพ ปโร (อักโกสิตัพโพ ปะโร) = มีตัวผู้ที่จะถูกด่า ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนด้วยกันเสมอไป อาจเป็นสัตว์ หรือสภาพดินฟ้าอากาศ หรืออะไรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
(๒) กุปิตจิตฺตํ (กุปปิตะจิตตัง) = ผู้ด่ามีจิตเคียดแค้นขุ่นเคือง (จิตใจมีเมตตารักใคร่ แต่ปากแกล้งทำเป็นด่าไปอย่างนั้นเอง ถือว่าไม่ครบองค์ประกอบข้อนี้)
(๓) อกฺโกสนา (อักโกสะนา) = ลงมือด่า ด้วยการเปล่งวาจาออกมา หรือด้วยกิริยาท่าทางอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ (นึกด่าอยู่ในใจ แต่ไม่ได้แสดงออก ถือว่าไม่ครบองค์ประกอบข้อนี้)
.............
สัมผัปปลาปะ
.............
เกณฑ์ตัดสินว่าเป็นสัมผัปปลาปะ มีองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ -
(๑) นิรตฺถกกถาปุเรกฺขารตา (นิรัตถะกะกะถาปุเรกขาระตา) = มุ่งจะพูดเรื่องอันหาสารประโยชน์มิได้
(๒) ตถารูปิกถากถนํ (ตะถารูปิกะถากะถะนัง) = พูดเรื่องอันหาสารประโยชน์มิได้นั้น
ท่านขมวดไว้ว่า ถ้าใครฟังแล้วรู้ทันว่าเป็นเรื่องไร้สาระ กรรมบถยังไม่ขาด (คือถ้าเป็นศีล ศีลยังไม่ขาด) ต่อเมื่อใครฟังแล้วเชื่อเอาเป็นจริงเป็นจัง กรรมบถจึงจะขาด
แต่จะอย่างไรก็ตาม ท่านก็ยืนยันว่า แค่มีเจตนาจะพูดเรื่องไร้สาระแล้วพูดออกไป ก็เป็น “สัมผัปปลาปะ” เรียบร้อยแล้ว
(ยังมีต่อ)
----------------------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๒ มกราคม ๒๕๖๖
๒๐:๓๒
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ