ศึกษาเรื่องเดิม : เริ่มที่งานศพ (๓)

---------------------------------

ก่อนจะไปถึงเรื่องสวดมาติกาบังสุกุล พอดีนึกถึงเรื่องแทรกได้บางเรื่อง คือ เรื่องสวดปล่อย เทศน์แจง และสวดแจง

“สวดปล่อย” หมายถึง สวดไม่เลี้ยงเช้า

ปกติ สวดพระอภิธรรม เจ้าภาพจะเลี้ยงพระที่สวดนั้นในเช้าวันรุ่งขึ้น เรียกกันว่า “เลี้ยงเช้า” ปฏิบัติกันเช่นนั้นเป็นปกติทั่วไป 

แต่บางวันหรือบางกรณี เจ้าภาพไม่สะดวกที่จะเลี้ยงเช้า ก็จะแจ้งให้พระทราบ ถ้าตั้งศพที่บ้าน พระก็ไม่ต้องไปฉันเช้าที่บ้านงาน ถ้าตั้งศพที่วัด พระก็ไม่ต้องลงศาลา เรียกกันว่า “สวดปล่อย”

..................

“เทศน์แจง” ก็คือเจ้าภาพที่มีฐานะดีหน่อย ในวันเผาจะนิมนต์พระมาเทศน์เรื่องปฐมสังคายนา 

เทศน์แจงตามปกติจะเป็นการเทศน์ ๓ ธรรมาสน์ เป็นพระมหากัสสปะธรรมาสน์หนึ่ง เป็นพระอุบาลีธรรมาสน์หนึ่ง เป็นพระอานนท์ธรรมาสน์หนึ่ง จึงมักเรียกว่า แจง ๓ ธรรมาสน์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเก็บคำว่า “แจง” ไว้ และบอกว่า “เรียกเทศน์สังคายนาว่า เทศน์แจง” เป็นการยืนยันว่าธรรมเนียมเทศน์แจงนี้ทำกันมานานแล้วจนเป็นที่รู้กันในสังคมไทย

..................

ทำไมเอาเรื่องปฐมสังคายนามาเทศน์ในงานศพ?

ยังไม่พบคำอธิบาย คำอธิบายคงมี เพราะคนเก่าท่านทำกันมานาน แต่ผมยังอ่านไม่พบเอง ท่านผู้ใดเคยอ่านเคยรู้ กรุณานำมาบอกกล่าวเผยแพร่ก็จะเป็นมหากุศล

ผมสันนิษฐานเอาเองว่า ปฐมสังคายนาเป็นเรื่องที่ว่าด้วยการรวบรวมพระธรรมวินัยไว้เป็นหลักฐานหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๓ เดือน เป็นความตั้งใจของพระอรหันต์ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาสืบต่อยั่งยืนมั่นคงต่อไป 

คนเก่าท่านรู้และเห็นอานิสงส์ของการทำปฐมสังคายนา จึงอาราธนาพระให้นำเรื่องนี้มาเทศน์ในงานศพ 

ใช้การสิ้นอายุของคน

เป็นโอกาสยืดอายุพระศาสนา 

เรียกว่าเอาความตายของคนมาเป็นเหตุเป็นผลต่ออายุพระศาสนา จะได้ไม่ตายไปเปล่าๆ คนได้ฟังเทศน์แจงแล้วจะได้มีอุตสาหะช่วยกันทำนุบำรุงพระศาสนาให้เข้มแข็งต่อไป 

ถ้าคนเก่ามีเหตุผลเช่นนี้ ก็นับว่าแยบคายดีนักหนา

..................

ทำไมจึงเรียกการเทศน์เรื่องปฐมสังคายนาว่า “เทศน์แจง”?

คำว่า “แจง” นั้นถอดออกมาจากกระบวนการทำปฐมสังคายนา กล่าวคือในที่ประชุมทำปฐมสังคายนานั้น -

พระมหากัสสปะผู้เป็นประธานในที่ประชุมตั้งกระทู้ถามเรื่องพระวินัย พระอุบาลีในฐานะผู้ชำนาญเรื่องวินัย (พระพุทธองค์ทรงยกย่องเป็นเอตทัคคะ) ก็แจกแจงรายละเอียด ศีลแต่ละสิกขาบทพระพุทธองค์ทรงบัญญัติที่ไหน มีเหตุเกิดมาจากอะไร แจงไปเป็นข้อๆ จนครบถ้วน 

ต่อจากนั้น พระมหากัสสปะก็ตั้งกระทู้ถามเรื่องพระธรรม พระอานนท์ผู้ที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็น “ธัมมภัณฑาคาริก” คือคลังแห่งพระธรรม ก็แจกแจงรายละเอียด พระสูตรแต่ละสูตร ข้อธรรมแต่ละข้อ พระพุทธองค์ตรัสแก่ใครที่ไหน มีเรื่องราวว่าอย่างไร แจงไปเป็นสูตรๆ เป็นข้อๆ จนครบถ้วน

ที่ประชุมอันประกอบด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ล้วนทรงปฏิสัมภิทาแตกฉานในพระธรรมวินัย ได้ฟังแล้วก็อนุโมทนา คือยอมรับว่าตรงตามที่แต่ละองค์รู้เห็นมาโดยตรงจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ชวนกันสวดสาธยายพระธรรมวินัย จำทรงไว้เป็นหลักฐานสืบมา ที่เรียกรู้กันว่า “พระไตรปิฎก”

กิริยาที่พระอุบาลีและพระอานนท์แจกแจงพระธรรมวินัยให้ที่ประชุมฟังเมื่อครั้งทำปฐมสังคายนานี่เอง ท่านจึงเอามาเรียกการเทศน์เรื่องปฐมสังคายนาว่า “เทศน์แจง” 

..................

เทศน์แจง-น่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก (เพราะไม่เรียน)

ผมเข้าใจว่า เดี๋ยวนี้ก็น่าจะยังมีคนมีศรัทธาจัดให้มีเทศน์แจงในงานศพอยู่บ้าง ตามหัวเมืองคงพอหาดูได้ แต่ในเมืองหรือในกรุงคงหาดูยากหรือหาดูไม่ได้แล้ว

นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมน่าจะเป็นหน่วยงานหลักในการอนุรักษ์และส่งเสริม และควรทำให้เป็นธรรมชาติธรรมดา ทำจนคนเข้าใจและเอาไปทำกันทั่วไป 

ไม่ใช่ทำเหมือนการแสดงหรือสาธิตเป็นครั้งคราว เลิกแล้วเลิกเลย ไม่มีใครเอาไปทำต่อ

วัดประยุรวงศาวาสซึ่งเป็นสำนักหลักในการฝึกอบรมพระนักเทศน์ก็ควรฝึกพระที่สามารถเทศน์แจงได้อย่างถูกแบบแผนขึ้นไว้ อย่าให้สูญเสีย หรืออย่าให้กลายเป็นเทศน์แจงสมัยใหม่ ใช้ลีลาแบบใหม่ที่หลงเข้าใจว่าดี แต่ทำลายแบบแผนของเดิมเสียหมดสิ้น

เทศน์แจง-ถ้าไม่ช่วยกันรักษาไว้ ต่อไปหมดแน่

เมื่อก่อนเราก็ไม่มีกระทรวงวัฒนธรรม แต่เรารักษาสืบทอดวัฒนธรรมไทยมาได้พรั่งพร้อม เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก

เวลานี้เรามีกระทรวงวัฒนธรรม แต่วัฒนธรรมไทยรุ่งริ่งร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ

แปลกดีนะ

..................

“สวดแจง” คือสวดพระไตรปิฎก แต่สวดเฉพาะตัวบทหรือพระสูตรที่ขึ้นต้นของแต่ละปิฎก เรียกว่าสวดเฉพาะ “หัวม้วน” สวดทั้งหมดไม่ได้เพราะยาวมากนักหนา จึงสวดพอเป็นบุญกิริยา

ปกติ สวดแจงจะสวดต่อจากเทศน์แจง กล่าวคือ พอเทศน์แจงจบสิ้นกระบวนความ เอวัง ก็มีฯ แล้ว พระสงฆ์ที่นิมนต์มานั่งสดับเทศน์แจงอยู่ในที่นั้นก็จะสวดขึ้นพร้อมกัน

.........................................................

พระวินัย เริ่มต้นด้วยเวรัญชกัณฑ์อันเป็นกัณฑ์แรก ขึ้นต้นว่า -

ยันเตนะ  ภะคะวะตา  ชานะตา  ปัสสะตา  ฯเปฯ

ไปจบแค่ ... สาธุ  โข  ปะนะ  ตะถารูปานัง  อะระหะตัง  ทัสสะนัง  โหตีติ  ฯ

พระสูตร เริ่มต้นด้วยพรหมชาลสูตรอันเป็นสูตรแรก ขึ้นต้นว่า -

เอวัมเม  สุตัง  ฯ  เอกัง  สะมะยัง  ภะคะวา  อันตะรา  จะ  ราชะคะหัง  อันตะรา  จะ  นาลันทัง  ฯเปฯ

ไปจบแค่ ... ภะคะวันตัง  ปิฏฐิโต  ปิฏฐิโต  อะนุพันธา  โหนติ  ภิกขุสังฆัญจะ  ฯ

พระอภิธรรม สวดเฉพาะบทแรกของทั้ง ๗ คัมภีร์ กุสะลา ปัญจักขันธา ไปจนถึง เห-ตุ-ปัจจะโย ก็คือพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ที่พระท่านสวด ดังที่เราคุ้นกันอยู่ 

.........................................................

สวดแจงเต็มรูปจริงๆ คนเก่าท่านนิมนต์พระ ๕๐๐ เท่าจำนวนพระอรหันต์ที่ประชุมทำปฐมสังคายนา เรียกกันว่า “แจงห้าร้อย” สวดแจงเต็มรูปจึงทำไม่ได้ง่ายๆ ขัดข้องด้วยจำนวนพระ ต่อมาจึงอนุโลม - ได้เท่าไรก็เท่านั้น ให้มากที่สุดเท่าที่จะหานิมนต์ได้ 

เจ้าภาพบางรายไม่มีกำลังหรือไม่สะดวกที่จะให้มีเทศน์แจง ก็จะลดรูปงานลงมา เหลือเพียงสวดแจง คือมีเทศน์หน้าศพธรรมดา จบแล้วสวดแจง ดังนี้ก็นิยมทำกันอยู่ 

สวดแจงน่าจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผล-บ้านไกล เวลาน้อย จะรีบไปธุระ

ที่ทำกันเป็นมาตรฐานทุกวันนี้ก็คือ เทศน์อานิสงส์จบแล้ว พระสวดมาติกา-บังสุกุล

เทศน์แจงค่อยๆ หายไป

สวดแจงก็ค่อยๆ หายไป

ด้วยเหตุผลของคนรุ่นใหม่-บ้านไกล เวลาน้อย จะรีบไปธุระ!

วัดไหน เจ้าภาพรายไหน ยังมีศรัทธานิมนต์พระมาเทศน์แจงสวดแจงในงานศพ ขอกราบอนุโมทนาสาธุมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

คนรุ่นใหม่ไม่เคยเห็น ไม่เคยทำ ก็ยังสามารถศึกษาเรียนรู้ไว้ได้ จะได้ไม่ลืมวัฒนธรรมประเพณีของตัวเอง

เวลาไปงานศพ จะได้พอรู้ว่า อะไรที่ยังเหลืออยู่ อะไรที่หายไปแล้ว

วันหนึ่งวันใด ใครมีศักยภาพพอ ก็อาจจะชุบชีวิตส่วนที่หายไปให้ฟื้นขึ้นมาได้อีก

..................

ตอนต่อไป-สวดมาติกาบังสุกุลคือสวดอะไร?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๖

๑๘:๔๕

[full-post]

เริ่มที่งานศพ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.