ศึกษาเรื่องเดิม : เริ่มที่งานศพ (๒)

---------------------------------

สวดพระอภิธรรม ทำไมต้องสวด ๔ จบ?

เรื่องนี้ก็ยังไม่พบคำอธิบายที่เป็นหลักฐาน จึงได้แต่สันนิษฐาน

สันนิษฐานว่า ชั้นเดิมคงเป็นการอ่านพระอภิธรรม จึงมีการตั้งตู้พระอภิธรรม และคงจะผลัดกันอ่านทีละรูป อ่านจบหนึ่งก็พักทีหนึ่ง

ชั้นเดิมเป็นการสวดหรืออ่านเพื่อเป็นเพื่อนศพ ไม่ได้รีบอ่านรีบจบเหมือนกับที่สวดพระอภิธรรมสมัยนี้ อ่านไปจบหนึ่งก็พัก พูดคุยสนทนาธรรมกับญาติโยมพอเป็นเครื่องบรรเทาเศร้าโศก สมควรแก่เวลารูปต่อไปก็อ่านต่อ อ่านจบแล้วหยุดเป็นพักๆ ทำนองนี้จนครบทั้ง ๔ รูป ก็เป็น ๔ จบ 

ภายหลังเมื่อเปลี่ยนจากวิธีผลัดกันอ่านทีละรูปมาเป็นสวดพร้อมกัน ก็เลยสวด ๔ จบ เท่ากับรูปละจบ สวดจบหนึ่งก็พักทีหนึ่งตามแบบเดิม การสวด ๔ จบน่าจะมีความเป็นมาดังว่ามานี้ 

เวลานี้บางวัดเปลี่ยนวิธีสวด เป็นสวดจบหนึ่งแล้วพูดธรรมะ พูดธรรมะจบแล้วสวดอีกจบหนึ่งเป็นอันเสร็จ ก็กลายเป็นสวดแค่ ๒ จบ

โปรดทราบว่า พูดธรรมะนั้นคนเก่าท่านทำมาก่อนแล้ว แต่ท่านพูดตามธรรมชาติธรรมดาของคนคุยกัน ท่านไม่ได้ใช้วิธี “จัดให้มีการบรรยายธรรม” เป็นพิเศษเหมือนเป็นพิธีการอะไรอีกพิธีหนึ่ง

สวดพระอภิธรรมของคนเก่านั้นคนสวดกับคนฟังอยู่ในโลกเดียวกัน สวดกันไป หยุดพูดคุยกันไป อยู่เป็นเพื่อนศพเพื่อนเจ้าภาพกันไป ไม่ได้สวดเพื่อให้เสร็จๆ เจ้าภาพผู้อยู่ในสภาพสูญเสียก็รู้สึกอบอุ่นใจ

สวดพระอภิธรรมสมัยนี้ คนสวดกับคนฟังอยู่คนละโลก พระก็รีบสวด คนฟังก็จะรีบกลับ ไม่มีพูดคุยเป็นธรรมชาติเหมือนคนเก่า

ใครที่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร โปรดระลึกถึงบรรยากาศสมัยเก่าไว้บ้างก็จะดี ทำอย่างไรบรรยากาศที่ทำให้เจ้าภาพรู้สึกอบอุ่นใจจึงกลับคืนมา

ขอกราบอนุโมทนากับหลายๆ วัดที่ยังยืนหยัดรักษาระเบียบการสวด ๔ จบไว้อย่างมั่นคง

..................

เลี้ยงแขกระหว่างสวดเป็นมาอย่างไร?

ของเดิมที่ผมเคยเห็นสมัยเมื่อเป็นเด็ก พอพระสวดจบที่ ๓ เจ้าภาพก็จะยกอาหารมาเลี้ยงแขก ระหว่างนั้นพระก็ฉันน้ำชาน้ำปานะ แขกก็กินข้าว พระกับแขกคุยกันไปตามปกติ แขกกินเสร็จ พระก็สวดจบที่ ๔ เป็นอันเสร็จการสวด

เหตุผลต้นเดิมนั้น คนมาเยี่ยมศพ มาช่วยงานศพ จะมาใกล้มาไกลก็ตาม มาถึงแล้วอยู่นานอยู่ยาว ไม่มีใครรีบกลับ เพราะเจตนามาเป็นเพื่อนปลอบทุกข์ให้เจ้าภาพ แขกมาเวลาไหนก็เลี้ยงดูกัน คือเลี้ยงกันทั้งวัน ไม่ได้เลี้ยงเป็นเวลา แขกอยู่จนถึงเวลาสวดก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเลี้ยงดูกันไป ใครที่ยังไม่ได้กินข้าวมาจะได้ไม่หิว บางทีกินก่อนสวดก็ยังไม่ใช่เวลากิน กินหลังพระกลับไปแล้วก็จะดึกเกินไป จึงถือเอาจังหวะพระหยุดพักจบที่ ๓ เป็นเวลาเลี้ยงอาหาร แต่ก็เป็นการเลี้ยงแบบง่ายๆ สามารถกินได้เร็วๆ ไม่ยืดเยื้อ กินเสร็จพระสวดต่อได้จังหวะกันพอดี

แล้วก็อย่าลืมว่า บรรยากาศเก่านั้นพระคนสวดกับญาติโยมคนฟังอยู่ในโลกเดียวกัน คือเป็นกันเอง ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติ จึงไม่มีอารมณ์เคอะเขินแบบเหตุผลของคนรุ่นใหม่ที่ว่า-มานั่งกินให้พระมองปากเป็นการไม่ดี

เจ้าภาพเลี้ยงอาหารระหว่างสวด คนไปฟังสวดสมัยก่อนจึงมักยินดีฉลองศรัทธา ไม่มีใครรังเกียจ และไม่เสียบรรยากาศแต่ประการใด

เดี๋ยวนี้การเลี้ยงระหว่างสวดยังมีอยู่บ้าง แต่ค่อยๆ น้อยลง เปลี่ยนเป็นจัดของว่างเป็นชุดๆ แจกให้แขก จะกินที่นั่นก็ง่าย จะถือติดมือกลับไปก็สะดวก

เชื่อว่าอีกไม่นาน การเลี้ยงอาหารระหว่างสวดของเดิมจะกลายเป็นของชำร่วยติดมือคนมาฟังสวดกลับบ้านไปในที่สุด-ดังที่เริ่มจะทำกันมากขึ้นแล้ว อาชีพรับจัดของชำร่วยงานสวดพระอภิธรรมก็คงจะมีผู้ทำกันมากขึ้น

จะเปลี่ยนอะไรให้เป็นอะไร ถ้าเรียนรู้เรื่องเดิมและสามารถรักษาบรรยากาศของเดิมไว้ได้ด้วยก็จะเป็นการดี

..................

ตอนต่อไป-สวดมาติกาบังสุกุลคือสวดอะไร?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๖

๑๑:๓๑ 

[full-post]

เริ่มที่งานศพ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.