แนะนำคัมภีร์ธรรมบทและชาดก (๖)-จบ

-----------------------------------

ต่อไปนี้ เป็นข้อสังเกตของผมเกี่ยวกับคัมภีร์ธรรมบทและชาดก

เมื่อพูดถึงหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เรารู้เรื่องหรือได้เรื่องจากตัวพระไตรปิฎกเป็นหลัก ได้คำอธิบายจากอรรถกถาเป็นส่วนประกอบ

เช่นอยากรู้เรื่องธัมมจักกัปปวัตนสูตร ต้องอ่านจากพระไตรปิฎกจึงจะได้เรื่อง อ่านอรรถกถาจะไม่ได้เรื่อง เพราะอรรถกถาจะอธิบายเฉพาะบางคำบางตอนเท่านั้น เช่น “อิสิปตน” อันเป็นสถานที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร หมายถึงอะไร ทำไมจึงได้ชื่อเช่นนี้ อรรถกถาจะขยายความให้รู้ แต่เนื้อหาสาระของธัมมจักกัปปวัตนสูตรมีว่าอย่างไรต้องไปอ่านในพระไตรปิฎก-อย่างนี้เป็นต้น

พูดอีกอย่างหนึ่ง เรื่องทั้งหลายอ่านจากพระไตรปิฎก ไม่ต้องอ่านอรรถกถาก็ได้เรื่อง

แต่ “ธรรมบท” และ “ชาดก” ไม่ใช่เช่นนั้น

ธรรมบทและชาดก อ่านจากอรรถกถา ไม่ต้องอ่านตัวพระไตรปิฎกก็ได้เรื่อง และได้เรื่องละเอียดกว่าอ่านจากตัวพระไตรปิฎกเสียอีก

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ-เรื่องอื่นๆ อรรถกถายกเฉพาะบางคำ บางเรื่อง บางประเด็นมาขยายความ แต่ตัวเรื่องจริงๆ เต็มๆ ต้องไปดูในพระไตรปิฎก แต่ธรรมบทและชาดกนั้นอรรถกถายกถ้อยคำทั้งหมดในตัวพระไตรปิฎกมาอธิบาย แปลว่าอรรถกถายกธรรมบทและชาดกในพระไตรปิฎกมาให้เราศึกษาด้วยทั้งหมด อ่านอรรถกถาจึงเท่ากับได้อ่านพระไตรปิฎกไปด้วยในตัว 

ดังนี้แหละผมจึงว่า-ธรรมบทและชาดก อ่านจากอรรถกถา ไม่ต้องอ่านตัวพระไตรปิฎกก็ได้เรื่อง นี่นับว่าเป็นความแปลกพิเศษของคัมภีร์ทั้งสองนี้

หนังสือแบบเรียนบาลีของคณะสงฆ์ไทย มีที่เป็นตัวพระไตรปิฎกคัมภีร์เดียว คือธรรมบท อยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕

ดังนั้น พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม นักเรียนบาลีบ้านเราได้ศึกษาเพียงเล่มเดียว คือเล่ม ๒๕

ในเล่ม ๒๕ นั้นมีคัมภีร์รวมกันอยู่ ๕ คัมภีร์ คือ (๑) ขุททกปาฐะ (๒) ธรรมบท (๓) อุทาน (๔) อิติวุตตกะ (๕) สุตตนิบาต 

นักเรียนบาลีบ้านเราได้ศึกษาเพียงคัมภีร์เดียว คือธรรมบท 

อีก ๔ คัมภีร์ ไม่ได้ศึกษา

และพระไตรปิฎกอีก ๔๔ เล่ม ก็ไม่ได้ศึกษา

นอกจากคัมภีร์ธรรมบทแล้ว แบบเรียนตามหลักสูตรบาลีของคณะสงฆ์มีเฉพาะคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมาทั้งนั้น ไม่มีคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก

เพราะฉะนั้น จบประโยค ๙ แล้ว ถ้าหยุดแค่นั้น-ซึ่งส่วนมากหรือแทบทั้งหมดจะหยุดอยู่แค่นั้น-ไม่ก้าวต่อไปให้ถึงพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกก็ถูกเก็บไว้ในตู้ อยู่นิ่งๆ ตลอดกาลนานเทอญ

.....................

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งของผมก็คือ เรื่องราวในธรรมบทและในชาดกที่เราเอาไปบอกกล่าวเล่าขานกันนั้น คำคนเก่ามักเรียกว่า “นิทาน” คือเรียก “นิทานธรรมบท” “นิทานชาดก”

คำว่า “นิทาน” ในความเข้าใจของคนไทยก็คือ “เรื่องที่เล่ากันมา”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า - 

.........................................................

นิทาน : (คำนาม) เรื่องที่เล่ากันมา เช่น นิทานชาดก นิทานอีสป; เหตุ เช่น โรคนิทาน; เรื่องเดิม เช่น วัตถุนิทาน. (ป.).

.........................................................

เราฟังนิทานอีสปด้วยอารมณ์แบบไหน เราก็จะฟัง “นิทานชาดก” ด้วยอารมณ์แบบเดียวกัน และฟัง “นิทานธรรมบท” ด้วยอารมณ์แบบเดียวกัน

นั่นคือ เราก็จะเข้าใจว่า เรื่องในธรรมบทและเรื่องในชาดกเป็นแค่ “เรื่องที่เล่ากันมา” ไม่ใช่เรื่องจริง พูดในฐานกรุณาหรือให้เกียรติกันหน่อยก็พูดได้แค่ว่า-จริงหรือเท็จแค่ไหนก็ยังไม่รู้แน่

โปรดทราบว่า เรื่องในธรรมบท ๓๐๒ เรื่อง เรื่องในชาดก ๕๔๗ เรื่อง อ้างถึงพระพุทธเจ้าทุกเรื่อง

เมื่อเราบอกกันว่า-เรื่องในธรรมบทและเรื่องในชาดกเป็นแค่เรื่องที่เล่ากันมา “พระพุทธเจ้า” ที่อ้างถึงในธรรมบทและชาดกก็ย่อมตกอยู่ในฐานะ “บุคคลที่ถูกเล่ากันมา” จริงหรือเท็จแค่ไหนก็ยังไม่รู้แน่

จะเห็นได้ว่า-เรื่องชักจะไปกันใหญ่

ถ้าไม่จับประเด็นให้แน่น และ-ให้แม่น ไปๆ มาๆ พระพุทธศาสนาทั้งศาสนาจะตกอยู่ในฐานะ-ศาสนาที่ถูกเล่ากันมา จริงหรือเท็จแค่ไหนก็ยังไม่รู้แน่

พี่ชายบุญธรรมของผม ตอนที่ท่านบวช (ตามประเพณี) ท่านพูดเต็มปากเต็มคำ-พูดด้วยความเชื่อบริสุทธิ์ของท่าน พูดในขณะครองเพศสมณะนั่นเลย-ว่า -

.........................................................

“พระพุทธเจ้าเป็นแต่เพียงเรื่องที่เขาแต่งขึ้นมาเพื่อให้คนเลื่อมใส”

.........................................................

ถ้าท่านยังอยู่ และมีโอกาสได้ไปแสวงบุญนมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดีย-เหมือนคนไทยทั้งหลายในเวลานี้ที่มีศรัทธาไปกันทุกปี ท่านยังจะยืนยันความเชื่อของท่าน หรือจะเปลี่ยนความเชื่อไปอย่างไร ก็ยังไม่รู้แน่

ยังดีอยู่หน่อยก็ตรงที่-เรื่องของพระพุทธเจ้ายังมีหลักฐานยืนยันให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ ทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ทั้งหลักฐานที่เป็นเอกสาร เช่นจารึกต่างๆ โดยเฉพาะก็คือคัมภีร์พระไตรปิฎก

แต่ก็น่าสังเกตว่า พยานหลักฐานเหล่านี้มักจะถูก “ตีรวน” มาตลอด เช่น มีผู้ค้านว่า -

สังเวชนียสถานไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น แต่อยู่ที่ตรงนี้ 

พระไตรปิฎกส่วนนั้นไม่ใช่พระพุทธพจน์ 

คัมภีร์นั้นควรจะปลดออกจากพระไตรปิฎก 

คัมภีร์อรรถกถาเป็นคัมภีร์ที่ไม่ควรเชื่อถือ 

อย่างนี้เป็นต้น

ที่ว่าอย่างนี้ ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องยอมศิโรราบให้กับหลักฐานหรือคัมภีร์ทั้งหมด แต่หมายความว่าเราควรศึกษาหลักฐานให้เข้าใจแจ่มแจ้ง 

กล่าวเฉพาะพุทธบริษัททั้งชาววัดและชาวบ้าน-โดยเฉพาะนักเรียนบาลีก็คือ-ควรศึกษาพระไตรปิฎกให้เข้าใจแจ่มแจ้ง เมื่อเข้าใจแล้ว จะเชื่อเรื่องไหนจะไม่เชื่อเรื่องไหน ย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละคน มีใครบังคับให้เชื่อ

.....................

มหาภัยที่กำลังคุกคามพระพุทธศาสนาอยู่ในเวลานี้ก็คือ พุทธบริษัท-โดยเฉพาะฝ่ายชาววัดซึ่งมีหน้าที่โดยตรง-ไม่ศึกษาพระไตรปิฎก แม้ที่ศึกษาบ้างก็ศึกษาเพื่อให้ได้วุฒิ พอได้วุฒิแล้วก็หยุด ฝ่ายชาวบ้านก็อ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ ครั้นมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็ได้แต่ร้องถามกันว่า อะไรผิด อะไรถูก จะเอาอย่างไรกันแน่ โดยที่ไม่มีใครตัดสินได้

มหาภัยอีกอย่างหนึ่งก็คือ ท่านผู้มีศรัทธานำเรื่องจากคัมภีร์ไปเผยแพร่ถ่ายทอดผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับ 

คนถ่ายทอดก็ไม่ศึกษาให้ถี่ถ้วน

คนฟังก็ไม่ได้สืบสวนตรวจสอบ 

เรื่องที่คลาดเคลื่อนก็คงความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่เช่นนั้นและแพร่หลายออกไปเรื่อยๆ ไม่มีใครที่จะเอาเป็นธุระทักท้วงแก้ไข นานไป-นานเข้า ก็มีคนเอาไปอ้างอิง-เรื่องนั้นฉบับนั้นว่าอย่างนี้ เรื่องนี้ฉบับนี้ว่าอย่างนั้น เลยกลายเป็นหลักฐานขึ้นมาอีกหลายกระแส ทั้งๆ ที่เหตุที่แท้เกิดจากเอาไปถ่ายทอดผิดๆ มาตั้งแต่ต้น

มหาภัยทั้งสองนี้เป็นภัยเงียบ จะมีใครรู้สึกกันบ้างหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่ผู้บริหารการพระศาสนาของเราท่านอยู่อย่างเงียบสงบมาตลอด

ผมเอาเรื่องธรรมบทและชาดกมาแนะนำ ก็ควรจะจบลงแค่นี้-ด้วยความหวังว่า ญาติมิตรทั้งหลายจะได้มีความเข้าใจขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง 

และเมื่อเข้าใจแล้ว ถ้ามีฉันทะอุตสาหะก็ช่วยกันศึกษาเรียนรู้ให้มากขึ้น ให้กว้างขึ้น 

ท่านที่มีกำลังก็ช่วยกันสนับสนุนให้มีการศึกษาพระไตรปิฎกให้มากขึ้น ให้กว้างขึ้น

ศึกษาเรียนรู้ได้ความรู้ที่ถูกต้องแล้ว ก็เอามาปฏิบัติขัดเกลาตนเอง แล้วบอกกล่าวความรู้ที่ถูกต้องนั้นให้แพร่หลายกว้างขวางออกไป

ทำได้ดังนี้ ก็เป็นที่หวังได้ว่า พระศาสนาของเราจะดำรงอยู่และดำเนินไปเพื่ออำนวยสันติสุขแก่ชาวโลกได้ยั่งยืนตลอดกาลนาน

---------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๖

๑๕:๔๗

[full-post]

แนะนำคัมภีร์ธรรมบทและชาดก (๖)-จบ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.