แนะนำคัมภีร์ธรรมบทและชาดก (๕)

-----------------------------------

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่ต้องรู้ให้ถูกต้อง จะได้ไม่เข้าใจผิด

นั่นก็คือ เรื่องราวต่างๆ ที่เราเอามาบอกเล่ากันว่าเป็นเรื่องจากธรรมบท เช่นเรื่องพระจักขุบาล-พระอรหันต์ตาบอด เรื่องนางสามาวดี เป็นต้นก็ดี และบอกว่าเป็นเรื่องชาดก เช่นเรื่องมโหสถชาดก เรื่องมหาเวสสันดรชาดก เป็นต้นก็ดี โปรดทราบว่าเรื่องราวที่เป็นเรื่องเล่าเหล่านี้ไม่มีในคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก แต่มีในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา

อย่าเพิ่งงง

ดังที่ได้บอกแล้วว่า ในพระไตรปิฎกนั้น ทั้งธรรมบท ทั้งชาดก มีแต่ตัวคาถา คือคำที่เป็นภาษิตบ้าง คำพูดของบุคคลต่างๆ บ้าง แต่ไม่มีรายละเอียดบอกไว้ว่าเป็นคำพูดของใครและเรื่องราวเป็นอย่างไรจึงพูดเช่นนั้น

รายละเอียดทั้งหลายทั้งปวงไปมีอยู่ในคัมภีร์อรรถกถา

โปรดจับประเด็นตรงนี้ไว้ให้แน่น และ-ให้แม่น

ผมสังเกตเห็นว่า ท่านที่ยกเรื่องจากธรรมบทก็ดี จากชาดกก็ดี ไปเล่าต่อหรือนำไปอ้างอิง ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่ก็มี 

เช่นบอกว่า เรื่องพระจักขุบาลอยู่ในธรรมบทพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕

เอาพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ส่วนที่เป็นธรรมบทมาอ่าน (อย่าลืม-พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ มีคัมภีร์รวมกันอยู่ ๕ คัมภีร์ ไม่ได้มีแต่ธรรมบท) จะไม่พบเรื่องพระจักขุบาลอยู่ตรงไหนเลย

อ้าว!

อย่าอ้าว! 

ทำไมล่ะ?

ก็เพราะเรื่องพระจักขุบาลไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ นะซี

เรื่องพระจักขุบาลอยู่ใน “ธัมมปทัฏฐกถา” หรืออรรถกถาธรรมบท ไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕

คราวนี้ก็ต้องเรียกข้อมูลขึ้นมาดู

อรรถกถาธรรมบท หรือ “ธัมมปทัฏฐกถา” มี ๘ ภาค จำได้ไหมครับ

ก็ต้องไล่ดูสิครับว่า เรื่องพระจักขุบาลอยู่ในภาคไหน

เรื่องพระจักขุบาลอยู่ในภาคไหน ก็อ้างเฉพาะภาคนั้น

ตรงนี้นักเรียนบาลีส่วนมากจะแม่น ถามว่าเรื่องนี้อยู่ภาคไหน มักจะตอบได้ทันที เช่น -

เรื่องสามาวดี - อยู่ภาค ๒

เรื่องจูเฬกสาฎก-พราหมณ์ผ้าห่มผืนเดียว - อยู่ภาค ๕

เรื่องโจรเคราแดง - อยู่ภาค ๔

เรื่องพระจักขุบาล - อยู่ภาค ๑

ฯลฯ

พอได้ข้อมูลอย่างนี้ ก็อ้างตรงไปเลย-เรื่องพระจักขุบาลอยู่ในธัมมปทัฏฐกถาภาค ๑

ไม่ใช่-เรื่องพระจักขุบาลอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕

จริงอยู่ คัมภีร์ธรรมบทในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ มีคาถา “มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ...” ซึ่งอรรถกถายกไปอธิบายในเรื่องพระจักขุบาล แต่คัมภีร์ธรรมบทในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ไม่มีเรื่องพระจักขุบาล มีเฉพาะตัวคาถา ไม่มีตัวเรื่อง - ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว

ตัวเรื่อง-คือเรื่องพระจักขุบาลไปมีในอรรถกถา คือธัมมปทัฏฐกถาภาค ๑

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาหรืออรรถกถาธรรมบทยกคาถาจากคัมภีร์ธรรมบทพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ไปอธิบายเป็นบทๆ หรือเป็นตอนๆ ตั้งชื่อเรื่องเป็นตอนๆ รวมทั้งหมด ๓๐๒ ตอน หรือ ๓๐๒ เรื่อง อันเป็นจำนวนเรื่องทั้งหมดในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ๘ ภาค 

เรื่องพระจักขุบาลเป็นเรื่องแรก คือเรื่องที่ ๑ ในจำนวน ๓๐๒ เรื่อง

สรุปตัวเลขตอนนี้ - ธรรมบทพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐเล่ม ๒๕ มีจำนวนคาถา ๔๒๓ คาถา แบ่งเป็นวรรค ๒๖ วรรค

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถายกคาถา ๔๒๓ คาถาไปอธิบายโดยการเล่าเรื่องประกอบเป็นตอนๆ รวมทั้งหมด ๓๐๒ ตอน หรือ ๓๐๒ เรื่อง

.....................

ส่วนชาดกนั้นต่างจากธรรมบทตรงที่-ท่านตั้งชื่อชาดกแต่ละเรื่องไว้พร้อมแล้วในพระไตรปิฎก (เล่ม ๒๗ และ ๒๘) รวม ๕๔๗ เรื่อง 

แต่ที่เหมือนกับธรรมบทก็คือ-๕๔๗ เรื่องนี้มีแต่ตัวคาถาเท่านั้น ไม่มีตัวเรื่อง 

เรื่องราวรายละเอียดของชาดกแต่ละเรื่องไปมีอยู่ในอรรถกถา คือ “ชาตกัฏฐกถา” 

ดังนั้น เวลาอ้างชื่อชาดกจึงสามารถอ้างตัวพระไตรปิฎกได้โดยตรง เช่น ชาดกชื่อนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ชาดกชื่อนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๘ 

แต่โปรดทราบด้วยว่า-ในพระไตรปิฎกมีแต่ตัวคาถาเท่านั้น ไม่มีตัวเรื่อง

อยากรู้ว่าชาดกแต่ละเรื่องเรื่องราวเป็นอย่างไร ต้องไปอ่านที่ชาตกัฏฐกถา คืออรรถกถาชาดก ซึ่งมีทั้งหมด ๑๐ ภาค

เรื่องเล่าในชาดกที่เอามาเล่ากันนั้นมาจากอรรถกถาชาดก ๑๐ ภาคนี่แหละ

.....................

ที่ควรรู้ต่อไปก็คือ --

อรรถกถาธรรมบท ๘ ภาค ๓๐๒ เรื่อง มีแปลเป็นไทยครบถ้วนแล้ว

อรรถกถาชาดก ๑๐ ภาค ๕๔๗ เรื่อง ก็มีแปลเป็นไทยครบถ้วนแล้วเช่นกัน

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาหรืออรรถกถาธรรมบท คณะสงฆ์ไทยกำหนดให้ใช้เป็นแบบเรียนในหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีชั้นต่างๆ ดังนี้ -

๑ ภาค ๑-๔ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ๑-๒/บ.ศ.๑-๒

๒ ภาค ๕-๘ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๓/บ.ศ.๓

๓ ภาค ๑ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๔/บ.ศ.๔

๔ ภาค ๒-๔ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๕/บ.ศ.ค

๕ ภาค ๕-๘ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๖/บ.ศ.๖

ส่วนคัมภีร์ชาตกัฏฐกถาหรืออรรถกถาชาดก คณะสงฆ์ไทยไม่ได้กำหนดให้ใช้เป็นแบบเรียนในหลักสูตรพระปริยัติธรรมชั้นใดๆ ทั้งสิ้น

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาจึงถูกเรียนถูกแปลแหลกแล้วแหลกอีก ตลอดปี ตลอดมา และตลอดไป

แต่คัมภีร์ชาตกัฏฐกถาถูกเก็บอยู่ในตู้พระไตรปิฎกไม่มีใครเหลียวแล ตลอดปี ตลอดมา และคงจะตลอดไป!

---------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๖

๑๙:๑๗

[full-post]

แนะนำคัมภีร์ธรรมบทและชาดก (๕)

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.