ช่วยกันศึกษากาลามสูตร

--------------------------

อย่าเอาไปพูดผิดๆ

ถ้าเอ่ยชื่อ “กาลามสูตร” เชื่อว่าคนส่วนมากจะร้องอ๋อ หลายคนอาจเคยพูดพาดพิงคำว่า “กาลามสูตร” มาแล้วด้วย เช่น -

ผมยึดหลักกาลามสูตร ผมไม่เชื่ออะไรง่ายๆ หรอก

โดนหลอกอีกแล้วสิ ไม่รู้จักใช้กาลามสูตรก็ยังงี้แหละ

ฯลฯ

ฯลฯ

แต่กระนั้น เท่าที่สังเกต คนส่วนมากยังเข้าใจผิดเรื่องกาลามสูตร และเข้าใจผิดในสาระสำคัญเสียด้วย

เริ่มจากชื่อไปเลย

พระสูตรนี้เคยได้ยินมีคนเรียกว่า “กะลามะสูตร” บ้าง “กาละมะสูตร” บ้าง

ในต้นฉบับบาลีท่านไม่ได้ตั้งชื่อไว้ แต่ในอรรถกถาเรียกชื่อว่า “เกสปุตติยสูตร” หรือ “เกสปุตตสูตร” เพราะทรงแสดงแก่ชาวเกสปุตตนิคม

แต่ชื่อสามัญที่รู้จักกันมากที่สุดคือ “กาลามสูตร” เพราะชาวเกสปุตตนิคมเป็นชนเผ่ากาลามะ

กา-ลา-มะ-

ไม่ใช่ กา-ละ-มะ-

และไม่ใช่ กะ-ลา-มะ- 

เรียกชื่อผิดก็ยังพอว่า (แต่ควรเรียกให้ถูก) แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือเข้าใจสาระสำคัญผิดพลาด

...................

สาระสำคัญของ “กาลามสูตร” มีอยู่ ๓ ตอน คือ -

.........................................................

๑ อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ

๒ ต้องเชื่ออย่างมีหลัก

๓ เชื่ออย่างมีหลักแล้วดีอย่างไร

.........................................................

ที่เอาไปอ้างกันนั้น จับเอาตอนแรกไปพูดกันตอนเดียวเหมือนกับว่าทั้งหมดของกาลามสูตรมีอยู่แค่นั้น

ที่ซ้ำร้ายก็คือ คนส่วนมากที่นำกาลามสูตรไปอ้าง มักจะเข้าใจว่า กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อ- เช่น

กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อตำรา

กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อครู

โปรดทราบว่าเป็นการเข้าใจผิดอย่างมหันต์

ใครเอาไปอ้างอย่างนี้ก็เท่ากับอ้างผิดอย่างมหันต์ไปด้วย

เรียกตามสำนวนบาลีก็ว่า “กล่าวตู่พุทธพจน์”

คือพระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างหนึ่ง แต่เอาไปพูดเป็นอีกอย่างหนึ่ง

การกล่าวตู่พุทธพจน์ถือว่าเป็นโทษที่ร้ายแรงมาก

...................

ขอยกท่อนแรกของกาลามสูตร คือท่อนที่ว่า-อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อให้ช่วยกันศึกษา

.........................................................

กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 (หมายถึง วิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อ ที่ตรัสไว้ในกาลามสูตร — Kālāmasutta-kaṅkhāniyaṭṭhāna: how to deal with doubtful matters; advice on how to investigate a doctrine, as contained in the Kālāmasutta)

1. มา อนุสฺสเวน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา — Be not led by report)

2. มา ปรมฺปราย (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา — Be not led by tradition)

3. มา อิติกิราย (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ — Be not led by hearsay)

4. มา ปิฏกสมฺปทาเนน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ — Be not led by the authority of texts)

5. มา ตกฺกเหตุ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก — Be not led by mere logic)

6. มา นยเหตุ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน — Be not led by inference)

7. มา อาการปริวิตกฺเกน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล — Be not led by considering appearances)

8. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว — Be not led by the agreement with a considered and approved theory)

9. มา ภพฺพรูปตาย (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ — Be not led by seeming possibilities)

10. มา สมโณ โน ครูติ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา — Be not led by the idea, ‘This is our teacher’.)

ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น

ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [317] 

.........................................................

หนังสือ พุทธธรรม งานนิพนธ์ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต กล่าวไว้ว่า - 

.........................................................

อนึ่ง ไม่พึงแปลความเลยเถิดไปว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อสิ่งเหล่านี้ และให้เชื่อสิ่งอื่นนอกจากนี้ แต่พึงเข้าใจว่า แม้แต่สิ่งเหล่านี้ซึ่งบางอย่างก็เลือกเอามาแล้วว่าเป็นสิ่งที่น่าเชื่อที่สุด ท่านก็ยังเตือนไม่ให้ปลงใจเชื่อ ไม่ให้ด่วนเชื่อ ไม่ให้ถือเป็นเครื่องตัดสินเด็ดขาด ยังอาจผิดพลาดได้  ต้องใช้ปัญญาพิจารณาก่อน ก็ขนาดสิ่งที่น่าเชื่อที่สุดแล้ว ท่านยังให้คิดให้พิจารณาให้ดีก่อน สิ่งอื่นคนอื่น เราจะต้องคิดต้องพิจารณาระมัดระวังให้มากสักเพียงไหน 

ที่มา: เชิงอรรถ พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ (พ.ศ.2525) หน้า 651

.........................................................

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอความกรุณาอย่าเที่ยวเอาไปพูดว่า -

กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อตำรา

กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อครู

กาลามสูตรมีเนื้อหาสาระ ๓ ตอน ไม่ใช่มีตอนเดียว

อย่ายกไปอ้างแค่ตอนเดียวอยู่นั่นแล้ว-ซ้ำอ้างผิดๆ อีกต่างหาก

โปรดช่วยกันศึกษาให้ครบทั้ง ๓ ตอน

ขอความกรุณาช่วยกันศึกษาตัวกาลามสูตรเต็มๆ ให้เข้าใจจริงๆ เสียก่อนแล้วจึงเอาไปพูดต่อ

ศึกษากาลามสูตรเต็มพระสูตรจากพระไตรปิฎกได้ที่คัมภีร์ติกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๕๐๕

.........................................................

https://84000.org/tipitaka/read/?20/505

.........................................................

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๖

๑๗:๕๓

[full-post]

ช่วยกันศึกษากาลามสูตร,กาลามสูตร,เกสปุตตสูตร

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.