ลักขณาทิจตุกกะ (ความหมาย)

(ธรรมที่มีปริมาณ ๔ มีลักขณะเป็นต้น)


       ลกฺขณาทีสุ หิ เตสํ เตสํ ธมฺมานํ สภาโว วา สามญฺญํ วา ลกฺขณํ นาม. 

       กิจฺจํ วา (ตสฺส) สมฺปตฺติ วา รโส นาม. 

       อุปฏฺฐานากาโร วา ผลํ วา ปจฺจุปฏฺฐานํ นาม. 

       อาสนฺนการณํ ปทฏฺฐานํ นาม.

       (อฏฐสาลินี กามาวจรกุสลวณฺณนา หน้า ๑๑๐)

       อธิบายว่า ในธรรมที่มีปริมาณ ๔ มีลักขณะเป็นต้น, สภาวะ คือ ภาวะที่เป็นของตน, หรือเป็นไปกับความเป็นธรรมมีอยู่ โดยสัจฉิกัตถะและปรมัตถะ (๑) และสามัญญะคือภาวะแห่งสิ่งที่เสมอกัน (๑) ของธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ๆ ชื่อว่า ลักขณะ. 

       กิจคือหน้าที่ และสัมปัตติคือความถึงพร้อม ของกิจนั้น ชื่อว่า รส. 

       อาการที่ปรากฏ และผล ชื่อว่า ปัจจุปัฏฐาน. 

       เหตุใกล้ ชื่อว่า ปทัฏฐาน.


ลักขณะ มี ๒ ประการ

       ๑. สภาวลักขณะ ความว่า เครื่องกําหนดรู้คือภาวะที่เป็นของตน มีผุสนลักขณะของผัสสะ กักขฬลักขณาของปถวี เป็นต้น อันเป็นอสาธารณภาวะ คือภาวะที่ไม่ทั่วไป ของธรรมทั้งหลาย เหมือนอย่าง ความร้อนของไฟ หรือเรียกว่า "วิเสสลักขณะ" (เครื่องกําหนดรู้ที่พิเศษ) ปัจจัตตลักขณะ (เครื่องกําหนด รู้เฉพาะตน).

       ๒. สามัญญลักขณะ ความว่า เครื่องกําหนดรู้คือภาวะแห่งสิ่งที่เสมอกัน อันเป็นสาธารณภาวะ คือภาวะที่ทั่วไปของสังขารธรรมทั้งหลาย มีอนิจจลักขณะ ของสังขารทั้งหลาย, รุปปนลักขณะของรูปทั้งหลาย, นมนลักขณะ ของนามทั้งหลาย, เวทยิตลักขณาของเวทนาทั้งหลาย เป็นต้น

       สภาวสามญฺญลกฺขณปฏิเวธวเสน ปวตฺตมนสิกาโร กุสลาทีสุ โยนิโสมนสิกาโร นาม. (วิ.ม.ข้อ ๖๔ หน้า ๑๔๓)

       มนสิการที่เป็นไป ด้วยอํานาจแห่งการแทงตลอดซึ่งสภาวลักขณะ และสามัญญลักขณะ ชื่อว่า โยนิโสมนสิการ ในธรรมทั้งหลายมีกุศลเป็นต้น. 


       สภาวสามญฺญลกฺขณปฏิเวธวเสนาติ เอกชฺฌํ กตฺวา คเณ อนวชฺชสุขวิปากาทิกสฺส วิสุํ วิสุํ ปน ผุสนาทิกสฺส สภาวลกฺขณสฺส, อนิจจาทิกสฺส สามญฺญลฺกขณสฺส จ ปฏิวิชฺฌนวเสน. ปวตฺตมนสิกาโรติ กุสลาทีนํ ตํตํสภาวลกฺขณาทิกสฺส ยาถาวโต อวพุชฺฌนวเสน อุปฺปนฺนชวนจิตฺตุปฺปาโท. โส หิ อวิปรีตมนสิการตาย “โยนิโสมนสิกาโร”ติ วุตฺโต, ตทาโภคตาย อาวชฺชนาปิ ตคฺคติกาว, รุปฺปนลกฺขณาทิกมฺปิ อิธ สามญฺญลกฺขเณเนว สงฺคหิตนฺติ ทฏฺฐพฺพํ. 

       (มหาฎีกา ข้อ ๖๔ หน้า ๑๘๒)

       บทว่า ด้วยอํานาจแห่งการแทงตลอดซึ่งสภาวลักขณะและสามัญญลักขณะ อธิบายว่า ด้วยอํานาจแห่งการแทงตลอดสภาวลักษณะ มีลักษณะที่ไม่มีโทษ และมีวิบากที่เป็นสุขเป็นต้น ของกุศลทั้งปวง ในการถือเอาโดยกระทําเป็นลักษณะเดียวกัน, ส่วน ในการถือเอาโดยกระทําเป็นแต่ละลักษณะ ย่อมมี ด้วยอํานาจแห่งการแทงตลอด ซึ่งสภาวลักษณะ มีลักษณะที่กระทบอารมณ์เป็นต้น ของผัสสะเป็นต้น, และด้วยอํานาจแห่งการแทงตลอด ซึ่งสามัญญลักษณะ มีลักษณะที่ไม่เที่ยงเป็นต้น ของอุปาทานักขันธ์

       บทว่า มนสิการที่เป็นไป ได้แก่ ญาณสัมปยุตตชวนจิตตุปบาท ที่เกิดขึ้น ด้วยอํานาจการหยั่งรู้ ตามความเป็นจริง ซึ่งสภาวะลักษณะ และสามัญญลักษณะนั้น ๆ ของธรรมทั้งหลายมีกุศลเป็นต้น. จริงทีเดียว ญาณสัมปยุตตชวนจิตตุปบาทนั้น ท่านอาจารย์กล่าวว่า “เป็นโยนิโสมนสิการ เพราะเป็นการกระทําไว้ในใจโดยไม่วิปริต แม้มโนทวาราวัชชนะ ก็มีคติ (คือเป็นโยนิโสมนสิการ)เหมือนกับญาณสัมปยุตตชวนจิตตุปบาทนั้นนั่นแหละที่เกิดขึ้น ด้วยอํานาจการหยั่งรู้ เพราะเป็นอาโภคะ (การผูกอารมณ์อื่นไว้จากอารมณ์ของภวังค์) แก่ญาณสัมปยุตตชวนจิตตุปบาทนั้น.


       แม้รุปปนลักขณะลักษณะที่ย่อยยับไปของรูปธรรม)เป็นต้น อันบัณฑิตพึงรู้ว่า ท่านอาจารย์สงเคราะห์ ด้วยสามัญญลักขณะนั่นเอง ในอรรถนี้


รส มี ๒ ประการ

       ๑. กิจจรส ความว่า รสคือหน้าที่ ของสภาวะนั้น เหมือนอย่าง การทําให้สุกของไฟ.

       ๒. สัมปัตติรส ความว่า รสคือความถึงพร้อม กล่าวคือสัมปันนภาวะ (ความบริบูรณ์) ของกิจคือการทําให้สุกนั้น ได้แก่คุณที่ได้เหมือนอย่างแสงสว่าง

ของไฟ.


ปัจจุปัฏฐาน มี ๒ ประการ

       ๑. อุปัฏฐานาการปัจจุปัฏฐาน ความว่า ปัจจุปัฏฐานคืออาการที่ปรากฏ แก่ปัญญา ของพระโยคี, ดังที่มหาฎีกากล่าวว่า ฯลฯ ปจฺจุปติฏฺฐติ, ญาณสฺส โคจรภาวํ คจฺฉติ - ย่อมปรากฏ คือย่อมถึงซึ่งความเป็นอารมณ์ แก่ญาณ.

       ๒. ผลปัจจุปัฏฐาน ความว่า ปัจจุปัฏฐานคือผล ที่ถูกปัจจัยของตนทําให้ตั้งขึ้น ได้แก่ ผลที่ตั้งขึ้นด้วยอํานาจแห่งสหชาตะและนานักขณิกะ เหมือนอย่าง ควัน ของไฟ.

       อากิรียนฺติ อภิมุขา โหนฺติ เอเตหีติ อาการา, อรูปธมฺมานํ อุปฏฐานสฺส มุขภูตา ผุสนานุภวนวิชานนปฺปการา. (มหาฏีกา ข้อ ๖๗๐)

ธรรมทั้งหลาย ย่อมเรี่ยราย คือย่อมมีเฉพาะหน้า ด้วยสภาวะทั้งหลาย เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น สภาวะทั้งหลายเหล่านั้น ชื่อว่า อาการ(สภาวะเป็นเครื่อง เรี่ยรายคือมีเฉพาะหน้า) ได้แก่ ประการคือ ผุสนะของผัสสะ, อนุภวนะของเวทนา และวิชานนะของวิญญาณ(เป็นต้น) อันเป็นเหตุ แห่งความปรากฏของอรูปธรรมทั้งหลาย.


ปทัฏฐาน

       ความว่า เหตุใกล้ ที่เป็นปัจจัย แก่การเกิดขึ้นสภาวะนั้น ได้แก่ อสาธารณปัจจัย คือปัจจัยที่ไม่ทั่วไป เป็นปธานเหตุ แก่สังขารธรรมเหล่าอื่น เพื่อความอุบัติขึ้น ของสภาวะนั้น


อภิธัมมาวตาร ข้อ ๖๓๓ -๔

  (๖๓๓) สามญฺญํ วา สภาโว วา      ธมฺมานํ ลกฺขณํ มตํ

              กิจฺจํ วา ตสฺส สมฺปตฺติ        รโสติ ปริทีปิโต.

              ภาวะแห่งสิ่งที่เสมอกันก็ดี (อันเป็นสาธารณะมีอนิจจะเป็นต้น) 

              ของธรรมทั้งหลาย, ภาวะที่เป็นของตนก็ดี (อันเป็นอสาธารณภาวะ 

              มีกักขฬะ ของปฐวีเป็นต้นและผุสนะของผัสสะเป็นต้น) ของธรรมทั้งหลาย 

              รู้กันว่า เป็นลักขณะ, กิจ(มีสันธารณกิจ - ความรองรับไว้ของปฐวีเป็นต้น) 

              หรือความ เต็มบริบูรณ์(สมฺปนฺนภาโว) แห่งกิจนั้น ท่านแสดงว่า เป็นรส.

 (๖๓๔) ผลํ วา ปจฺจุปฏฺฐานํ           อุปฏฐานนโยปิ วา

              อาสนฺนการณํ ยํ ตุ            ตํ ปทฏฺฐานสญฺญิตํ.

              ผลก็ดี (ที่ตั้งขึ้น ด้วยอํานาจสหชาตะและที่มีนานาขณะ) แม้นัยคือ 

              อาการที่ปรากฏก็ดี (แก่ญาณ โดยภาวะที่พึงถูกถือเอา) เป็นปัจจุปัฏฐาน, 

              ส่วน สิ่งใดเป็นเหตุใกล้(คือปธานการณะ), สิ่งนั้น หมายจําว่า เป็นปทัฏฐาน.


ปรมัตถทีปนี สังคหมหาฎีกา นวมปริจเฉท ข้อ ๕๑ 

       ลกฺขณรสปจฺจุปฏฐานปทฏฺฐานวเสนาติ เอตฺถ ธมฺมานํ ปจฺจตฺตสภาโว ลกฺขณํ นาม. อคฺคิสฺส อุณฺหตฺตํ วิย. เตน สภาเวน สาเธตพฺพํ กิจฺจํ วา สาธนปจฺจยา ปฏิลทฺธคุณสงฺขาตา สมฺปตฺติ วา รโส นาม, อคฺคิสฺส ปริวาจนโชตนานิ วิย, สา เอว สมฺปตฺติ วา การิยสงฺขาตํ ผลํ วา ปจฺจุปฏฐานํ นาม, อคฺคิสฺส ธูโม วิย อตฺตโน อุปฺปตฺติยา อสาธารณปจฺจยสงฺขาตํ อาสนฺนการณํ ปฏฺฐานํ นาม.

       ในบทนี้ว่า ด้วยอํานาจแห่งลักขณะรสปัจจุปัฏฐานและปทัฏฐาน อธิบายว่า สภาวะเฉพาะตน ของธรรมทั้งหลาย อันเป็นอารมณ์ของทิฏฐิวิสุทธิ) ชื่อว่า ลักขณะ (ปัจจัตตลักขณะ) เหมือนอย่าง ความร้อน ของไฟ.

       กิจที่พึงให้สําเร็จ ด้วยสภาวะนั้น เหมือนอย่างการทําให้สุกของไฟ และสมบัติ กล่าวคือคุณที่ได้ เพราะปัจจัยที่ให้สําเร็จนั้น เหมือนอย่าง แสงสว่างของไฟ ชื่อว่า รส. (กิจจรสและสัมปัตติรส, ความว่า ไฟมีหน้าที่ ทําวัตถุให้สุก และในขณะเดียวกันก็มีคุณสมบัติคือแสงสว่าง อันเป็น ความบริบูรณ์ ของกิจคือการทําให้สุกนั้น)

       คุณสมบัตินั้นนั่นเอง เป็นอาการที่ปรากฏ และผลกล่าวคือสิ่งที่ถูกเหตุ กระทํา ชื่อว่า ปัจจุปัฏฐาน, เหมือนอย่าง ควันของไฟ

       เหตุใกล้ กล่าวคือปัจจัยที่ไม่สาธารณะ แก่ความอุบัติขึ้น ของตน (มีเตโช เป็นต้น) ชื่อว่า ปทัฏฐาน

---------------------

ข้อมูลโดย อาจารย์สุรพงศ์ เทพสุธา

 

[full-post]

ลักขณาทิจตุกกะ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.