สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


มหาภูตรูป 4 ดับไม่มีเหลือในนิพพาน

   ภิกษุรูปหนึ่งอยากทราบว่า มหาภูตรูป 4 มี ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และ ธาตุลม ดับไม่มีเหลือที่ไหน (ที.สี. 9.487.218) ท่านจึงเข้าฌานเจริญอภิญญาแล้วท่องเที่ยวไปในเทวโลกทั้ง 6 ชั้น เพื่อค้นหาคำตอบ เหล่าเทวดาทั้ง 6 ชั้น มี จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และ ปรนิมมิตวสวดี ล้วนกล่าวว่า ไม่ทราบ และแนะนำให้ไปถามท้าวมหาพรหม

   เมื่อพระภิกษุไปถึงท่านก็ถามปัญหานั้นกับท้าวมหาพรหมทันที่ ได้รับคำตอบว่า " ข้าพเจ้าเป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่มีใครยิ่งกว่า ข้าพเจ้าเห็นแจ่มแจ้งทุกอย่าง เป็นเจ้าแห่งจักรวาล เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นผู้สร้างด้วยการเนรมิตโลกและสัตว์โลก เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้ก่อกำเนิด เป็นไปตามปรารถนา เป็นบิดาของสัตว์ที่เกิดแล้ว และที่จะเกิดต่อไป " (ที.สี.9.487.218)

   ในพรหมชาลสูตร(ที.สี.9.41-2.18-9) ทรงตรัสว่า เมื่อเริ่มต้นกําเนิดโลกนั้น มหาพรหมองค์หนึ่งบังเกิดขึ้นเป็นองค์แรกเพียงองค์เดียว ครั้นอยู่นานเข้า เกิดเหงาอยากให้มีผู้อื่นเป็นเพื่อน ประจวบกับขณะนั้น คนทั้งหลายได้ฌานจากมนุษยโลกได้ถือกำเนิดเป็นพรหมในวิมานที่ท้าวมหาพรหมครองอยู่ ด้วยเหตุที่พรหมเกิดที่หลังมีอำนาจน้อยกว่าพรหมที่เกิดก่อน จึงเข้าใจว่า ตนเป็นผู้สร้างให้พรหมเหล่านั้นเกิดขึ้น พรหมรุ่นหลังเมื่อถึงอายุขัยก็จุติไปก่อน ส่วนท้าวมหาพรหมนั้นยังอยู่ไป พรหมที่มีอำนาจน้อยกว่าจึงนับถือท้าวมหาพรหมเป็นผู้สร้าง

   แต่ภิกษุนั้นไม่ได้ถามว่า ท้าวมหาพรหมเป็นผู้ทรงอำนาจสร้างโลกหรือไม่ ท่านเพียงอยากทราบว่า มหาภูตรูป 4 ดับไม่มีเหลือที่ไหน ท่านจึงถามซ้ำอีกครั้ง และท้าวมหาพรหมก็ตอบเหมือนเดิมอีก หลังจากท่านได้เพียรถามอีกหลายครั้ง จนท้าวมหาพรหมจำต้องพาไปในที่สมควรเพื่อยอมรับว่า " ไม่อาจตอบต่อหน้าพรหมองค์อื่นได้ว่า ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะเกรงจะเสื่อมเสียชื่อเสียง การเป็นผู้รู้แจ่มแจ้ง เป็นผู้ทรงอำนาจ ท่านควรกลับไปทูลถามพระศาสดาฃองท่าน "

   ดังนั้น ภิกษุรูปนั้นจึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลถามว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาภูตรูป 4 ดับไม่มีเหลือที่ไหน "

   พระพุทธองค์ทรงเปรียบภิกษุรูปนั้นเหมือนนกตีรทัสสี(นกบินเที่ยวหาฝั่ง) ที่นายเรือเดินทะเลปล่อยให้บินไปหาฝั่ง เมื่อไม่เห็นฝั่งก็บินกลับมาที่เรือดังเดิม แล้วทรงตรัสว่า " ปัญหานี้เธอไม่ควรถามอย่างนั้น เพราะที่ซึ่งมหาภูตรูป 4 ดับไม่มีเหลืออยู่นอกกายนั้นไม่มี เธอควรถามอย่างนี้ว่า

" ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน รูปที่ยาวและสั้น เล็กและใหญ่ งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน " (ที.สี.9.498.223)

   หมายความว่า ในนิพพาน มหาภูตรูป 4 รวมทั้งนามและรูปย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ หรือจะกล่าวว่า " สิ่งเหล่านี้มีในนิพพานย่อมไม่ได้ " เพราะเป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กันนั่นเอง


[full-post]

ปกิณกธรรม,มหาภูตรูป,นิพพาน,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.