ศึกษาเรื่องเดิม : เริ่มที่งานศพ (๙)

---------------------------------

ศึกษาคำพิจารณาผ้า

ได้นำเอาบทอภิณหปัจจเวกขณะมาเสนอเป็นการศึกษาครบแล้ว ทั้งนี้เพราะผู้ใช้คำว่า “อาราธนาพระ ... ขึ้นไปพิจารณาผ้า” อ้างว่า ใช้คำว่า “พิจารณาผ้า” เป็นการถูกต้องแล้วตามหลักอภิณหปัจจเวกขณะ กล่าวคือ

- พิจารณาขณะรับปัจจัยเครื่องใช้สอย คำพิจารณาว่า-ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ...

- พิจารณาขณะใช้สอย คำพิจารณาว่า-ปะฏิสังขา โยนิโส ...

- พิจารณาหลังจากใช้สอยแล้ว คำพิจารณาว่า-อัชชะ มะยา ...

การพิจารณาผ้าที่ทอดบนเมรุ เป็นการพิจารณาขณะรับ ใช้คำว่า “พิจารณาผ้า” จึงถูกต้องแล้ว

..................

พึงเข้าใจว่า บทอภิณหปัจจเวกขณะเป็นบทที่ใช้พิจารณาปัจจัยทั้งสี่ (จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช)

การพิจารณาปัจจัยสี่เป็นหน้าที่ของพระที่จะต้องทำทุกวัน และทำกับทุกปัจจัย ไม่ใช่ทำเฉพาะผ้า (จีวร) และไม่ใช่ทำเฉพาะเวลาที่มีงานศพและมีการทอดผ้า วันที่ไม่มีงานศพไม่ต้องทำ พระที่ไม่ได้รับอาราธนาให้ขึ้นไป “พิจารณาผ้า” ก็ไม่ต้องทำ - ไม่ใช่อย่างนี้ 

จะมีงานศพหรือไม่มี จะได้รับอาราธนาขึ้นไปพิจารณาหรือไม่ได้รับ ก็ต้องพิจารณาอยู่แล้วทุกวัน

นั่นแปลว่า อภิณหปัจจเวกขณะ-พิจารณาปัจจัยสี่ ไม่ได้เกี่ยวกับงานศพแต่ประการใด พระสมัยเก่าท่านสวดบทอภิณหปัจจเวกขณะทุกวัน วันละ ๒ เวลา คือเช้า-เย็น ในช่วงเวลาทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็น

..................

บทพิสูจน์ว่า พระท่านไม่ได้ขึ้นไปบนเมรุเพื่อ “พิจารณาผ้า” ก็คือ บทที่พระท่าน “ว่า” ในเวลาพิจารณานั่นเอง

ผมเข้าใจว่า เวลานี้คนส่วนมากไม่รู้ (และไม่สนใจที่จะรู้) ว่า ตอนที่พระถือตาลปัตรด้วยมือซ้าย จับผ้าด้วยมือขวา แล้วยืนนิ่งๆ อยู่ครู่หนึ่งนั้น ท่าน “ว่า” อะไร

คำที่พระท่าน “ว่า” ในเวลาพิจารณา- มีข้อความดังนี้ - 

.........................................................

อะนิจจา  วะตะ  สังขารา              อุปปาทะวะยะธัมมิโน

อุปปัชชิต๎วา  นิรุชฌันติ                เตสัง  วูปสโม  สุโข.

แปลว่า

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ

มีการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา

สังขารทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

การเข้าไประงับดับสังขารเหล่านั้นเสียได้ เป็นความสุข

.........................................................

คำพิจารณาบทนี้เป็นพระพุทธพจน์ มีมาในมหาสุทัสสนสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๘๖ ในพระไตรปิฎกอีกหลายแห่งปรากฏเป็นคำที่ผู้อื่นนำไปกล่าวก็มี

ความจริงคำพิจารณายังมีต่อไปอีกบทหนึ่ง ข้อความเป็นดังนี้ -

.........................................................

สัพเพ  สัตตา  มะรันติ  จะ           มะริงสุ  จะ  มะริสสะเร

ตะเถวาหัง  มะริสสามิ                  นัตถิ  เม  เอตถะ  สังสะโย.

แปลว่า

สัตว์ทั้งหลายทุกหมู่เหล่า กำลังตายก็มี

ตายไปแล้วก็มี จักตาย (ต่อไปอีก) ก็มี

เราเองก็จักต้องตายเช่นเดียวกัน 

ในเรื่องตายนี้เราไม่มีความสงสัยเลย

.........................................................

คำพิจารณาบทที่ ๒ นี้ยังไม่พบที่มาในพระไตรปิฎก น่าจะเป็นคำที่แต่งขึ้นในภายหลัง

สมัยที่ผมเป็นเด็กวัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี (พ.ศ.๒๔๙๖-๒๕๐๐) ยืนยันได้ว่าพระสงฆ์ในพื้นถิ่นนั้นกล่าวคำพิจารณาควบกันทั้งสองบทเสมอ 

คำพิจารณาที่พระท่านว่าในขณะจับผ้านั้น เป็นการพิจารณาอะไร?

พิจารณาผ้า?

หรือพิจารณาสังขาร คือชีวิต ซึ่งก็คือศพที่อยู่ตรงหน้า?

ถ้า “พิจารณาผ้า” ตามที่อ้างว่าเป็นการพิจารณาตามหลักอภิณหปัจจเวกขณะ-พิจารณาปัจจัยสี่ เป็นการพิจารณาขณะรับปัจจัย พระท่านก็ต้อง “ว่า” บท “ธา-ตุปะฏิกูละปัจจะเวกขะณะปาฐะ” บทว่าด้วยจีวร ซึ่งมีข้อความขึ้นต้นว่า -

.........................................................

ยะถาปัจจะยัง  ปะวัตตะมานัง  ธา-ตุมัตตะเมเวตัง

ยะทิทัง  จีวะรัง  ตะทุปะภุญชะโก  จะ  ปุคคะโล ...

สิ่งเหล่านี้นี่ เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ

สิ่งเหล่านี้ คือจีวร และคนผู้ใช้สอยจีวรนั้น

.........................................................

แต่นี่ท่านว่าบท “อะนิจจา  วะตะ  สังขารา” ซึ่งเป็นการพิจารณาสังขาร ซึ่งก็คือพิจารณาศพนั่นเอง

พระท่านพิจารณาศพที่อยู่ตรงหน้า

แต่กลับไปเรียกว่า “พิจารณาผ้า”

ทีนี้จะอธิบายอย่างไรอีกละครับ?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๖

๑๙:๓๓

[full-post]

งานศพ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.