สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้ ถือเอาขณะไหน

   ถาม พระพุทธพจน์ที่ว่า จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา และ จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา นั้น ท่านหมายเอาขณะที่จะตายใช่หรือไม่ว่า เมื่อ ศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้ เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้ คือ หมายถึงในมรณาสันนวิถีใช่หรือไม่ ผมได้ยินบางท่านกล่าวว่า เป็นมรณาสันนวิถี บางท่านก็ว่า ไม่ใช่ เลยสงสัยว่าอย่างไหนจึงจะถูกต้อง

 . ตอบ สำหรับคำตอบเรื่องนี้ อย่างไหนจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ก็เห็นจะต้องพึ่งที่มา คือที่อรรถกถาท่านอธิบายไว้จึงจะเป็นข้อยุติได้ ก็พระพุทธพจน์นี้มีมาใน วัตถูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๙๒ ขอยกข้อความในพระสูตรมา สาวก่อน แล้วจึงจะขยายความไปตามอรรถกถา ข้อความในพระสูตรมีว่า

   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผ้าที่เศร้าหมอง มลทินจับ ช่างย้อมพึงนำผ้านั้นหย่อนลงในน้ำย้อมใดๆ คือสีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้านั้นพึงเป็นผ้ามีสีที่เขาย้อมไม่ดี สีมัวหมอง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผ้าเป็นของไม่บริสุทธิ์ฉันใด เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้

   ส่วนผ้าที่บริสุทธิ์หมดจด ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้นหย่อนลงในน้ำย้อมใดๆ คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้านั้นพึงเป็นผ้ามีสีที่เขาย้อมดี มีสีสด ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร เพราะผ้านั้นเป็นของบริสุทธิ์ฉันใด เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็น อันหวังได้ ฉันนั้น

   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเหล่าไหนเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต คืออภิชฌาวิสมโลภะ ๑ พยาบาท ๑ โกธะ ๑ อุปนาหะ 9 มักขะ ๑ ปลาสะ ๑ อิสสา ๑ มัจฉริยะ ๑ มายา ๑ สาเถยยะ ๑ ถัมภะ ๑ สารัมภะ ๑  มานะ ๑ อติมานะ ๑ มทะ ๑ ปมาทะ รวมเป็นอุปกิเลส ๑๖ ประการที่ทำให้จิตเศร้าหมอง แต่เมื่อภิกษุรู้ชัดธรรม ๑๖ ประการนี้ ว่าเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ย่อมละธรรมอันเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตเหล่านี้เสีย 

   นี่เป็นข้อความที่ควรนำมากล่าวในเรื่องนี้ แม้ว่าจะยังมีข้อความอื่นในพระสูตรนี้ แต่เพียงเท่าที่ยกมานี้ก็ตรงกับเรื่องที่ถามแล้ว จึงขอตัดตอนไว้เพียงนี้

   ในพระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปรียบจิตที่เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสว่า เป็นเช่นเดียวกับผ้าที่ไม่สะอาด เปื้อนฝุ่น เป็นต้น เมื่อเอาผ้านั้นไปย้อมสีแดง เป็นต้น ผ้าที่ย้อมนั้นก็พลอยมีสีไม่สดใสไปด้วย เพราะผ้านั้น ไม่สะอาด ส่วนจิตที่ไม่เศร้าหมองด้วย อุปกิเลส เหมือนผ้าที่สะอาด เมื่อเอาไปย้อมสี มีสีแดง เป็นต้น สีนั้นก็ติดผ้าเป็นสีสดใส แล้วตรัสว่า บุคคลที่มีจิตเศร้าหมองทุคติเป็นอันหวังได้ เป็นต้น คือทุคติเป็นคติที่เขา พึงหวังได้แน่นอนว่า ผู้นี้จักถึงทุคติแน่นอน ไม่ถึงคติอื่น

   คำว่าทุคตินั้นมี ๒ อย่างคือ ปฏิบัตติทุคติ และคติทุคติ ปฏิปัตติทุคตินั้น มีทั้งที่เป็นของคฤหัสถ์และบรรพชิต ท่านอธิบายว่า คฤหัสถ์ที่มีจิตเศร้าหมอง ย่อม ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ประพฤติอกุศลกรรมบถ ๑๐ บ้าง คฤหัสถ์นั้นดำรงชีวิต อยู่ด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศลเช่นนี้แล้ว เมื่อตายไป ย่อมไปสู่นรกบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง การปฏิบัติที่เป็นบาปเป็นอกุศลของเขานั้น เป็น ปฏิปัตติทุคติ ส่วน การที่เขาต้องเกิดในทุคติภูมิมีนรก เป็นต้น เพราะข้อปฏิบัติอันเป็นทุคติของเขานั้น ชื่อว่า คติทุคติ นี่เป็น ทุคติของคฤหัสถ์

   สำหรับบรรพชิตนั้น การประพฤติไม่สมควร มีการเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้คนอื่น เป็นต้น หรือบวชแล้วไม่ประพฤติตามธรรมวินัย พยายามทำลายศาสนา หรือทำลายสงฆ์ เป็นต้น นี้ชื่อว่า ปฏิปัตติทุคติของบรรพชิต ครั้นท่านประพฤติอย่างนี้แล้ว เมื่อมรณภาพลง ย่อมไปสู่นรกบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง นี้เป็นคติทุคติของบรรพชิต

   สรุปว่า ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ถ้าประพฤติชั่วแล้ว ตายไปความชั่ว นั้นจะนำเขาไปเกิดในทุคติมีนรก เป็นต้น เพราะฉะนั้นคำว่าจิตเศร้าหมองนั้นหมายถึงจิต ที่เศร้าหมองเพราะการทำชั่วด้วยอำนาจของกิเลส ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง เป็นปัจจัย ให้ผู้นั้นเกิดในทุคติมีอบาย เป็นต้น ในเมื่อสิ้นชีวิตลง นั่นก็คือกรรมชั่วที่เขาทำไว้เป็น ชนกกรรมนำเกิดในทุคติภูมินั่นเอง

   แม้ในธรรมที่ตรงกันข้าม คือกุศลกรรม ซึ่งท่านเรียกว่าสุคติในที่นี้ ก็มีทั้งปฏิปัตติสุคติ และคติสุคติ เช่นเดียวกับอกุศลเหมือนกัน

   สำหรับคฤหัสถ์การปฏิบัติตนที่เป็นไปในกุศลมีการไม่ฆ่าสัตว์ เป็นต้นชื่อว่า ปฏิปัตติสุคติ ส่วนที่เมื่อปฏิบัติตนอยู่ในกุศลกรรมแล้วตายไปได้เกิดในสุคติ เพกรรมนั้นเป็นชนกกรรมนำเกิดในสุคติภูมิ มีมนุษย์เป็นต้นนั้น สุคติภูมิชื่อว่า คติสุคติ เพราะ เป็นต้น

   ส่วนบรรพชิตนั้น เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็รักษาปาริสุทธิศีล ๔ ให้หมดจด สมาทาน องค์ ๑๓ ข้อ เรียนกรรมฐานเจริญวิปัสสนาจนบรรลุมรรคผล นี้ชื่อว่า ปฏิปัตติสุคติ ของบรรพชิต เมื่อบรรพชิตนั้นดำรงตนอยู่ในข้อปฏิบัติที่เป็นสุคติเช่นนี้แล้ว ครั้น มรณภาพลง ก็ย่อมเกิดในสุคติภพ คือในมนุษยโลกบ้าง เทวโลก ๖ ชั้นบ้าง ในรูปภพ อรูปภพบ้าง นี่ชื่อว่า คติสุคติของบรรพชิต

   เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต (หากมีจิตไม่เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสแล้ว) ประพฤติข้อปฏิบัติอันเป็นสุคติแล้ว สิ้นชีวิตลงก็ย่อมไปเกิดในคติที่เป็นสุคติ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีจิตไม่เศร้าหมอง จึงหวังได้ทั้งข้อปฏิบัติและคติอันเป็นสุคติ ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มีจิตใจเศร้าหมองเพราะอุปกิเลส จึงหวังได้ทั้งข้อปฏิบัติและคติที่เป็นทุคติ

   เพราะฉะนั้นความหมายของจิตเศร้าหมองและไม่เศร้าหมองนี้ จึงมิได้หมายเอา ในขณะใกล้ตาย แต่หมายเอาความเศร้าหมองและไม่เศร้าหมองของจิตตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ คือนับตั้งแต่เกิดมาแล้วจนกระทั่งตาย มิได้มุ่งเอาเฉพาะที่ใกล้ตาย หรือที่ทางอภิธรรม เรียกว่า มรณาสันนวิถีเท่านั้น ทั้งนี้เพราะชวนะจิต ๕ ดวงในมรณาสันนวิถีนั้นมีกำลังอ่อน เพราะใกล้ต่อความตายแล้ว จึงไม่อาจนำเกิดได้

   ในเวลาที่สัตว์ใกล้จะตายนั้น กรรมที่ทำแล้วทั้งกุศลและอกุศลมีมากมาย แต่ กรรมอย่างเดียวเท่านั้นที่จะมีกำลังเป็นชนกกรรมนำเกิดในภพใหม่ กรรมนั้นแหละจะชักนำอารมณ์ คือกรรม กรรมนิมิต หรือคตินิมิต อย่างใดอย่างหนี่งที่สมควรแก่ภพภูมิ อันเป็นสุคติหรือทุคติที่จะไปเกิดให้ปรากฏเป็นอารมณ์แก่ชวนะจิต ๕ ดวง เมื่อใกล้จะตายนั้นแหละ ย่อมเกิดต่อจากจุติจิตทันที โดยไม่มีจิตอื่นมาคั่นในระหว่างนั้น เรียกว่าตายแล้วเกิดทันที แต่จะเกิดในสุคติหรือทุคติ ด้วยกำเนิดใดในสี่กำเนิด ก็สุดแต่กรรมที่ชักนำปฏิสนธิมา ก็จุติจิตในภพเก่านั้นมิได้ติดตามมาเป็นปฏิสนธิจิตในภพใหม่ เพราะจุติจิตดับไปแล้วก็ไม่เกิดขึันอีก เพราะสิ้นเหตุสิ้นปัจจัยให้เกิดแล้ว ส่วนปฏิสนธิจิตที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยใหม่โดยเฉพาะ แต่สืบต่อมาจากจุติจิต โดยมีจุติจิตเป็นอนันตรปัจจัยให้

หากจุติจิตไม่ดับไปก่อน ปฏิสนธิจิตก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า จุติจิตเป็นอนันตรปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิต

 

[full-post]

เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้ ถือเอาขณะไหน

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.