ศึกษาเรื่องเดิม - เริ่มที่งานศพ (๕)

---------------------------------

นิมนต์พระขึ้นไปทำอะไรกับผ้า?

ของเดิมนั้น เผาศพ เจ้าภาพทอดผ้า ๔ มุมโลง แขกที่ไปเผาศพหากมีศรัทธาจะทอดผ้า ก็เอาผ้าของตัวเองไปจากบ้าน ไปทอดสมทบกับเจ้าภาพ

ของใหม่ แขกไม่ต้องเอาผ้าไป เจ้าภาพเตรียมผ้าไว้ให้ เชิญแขกตามที่เห็นสมควรขึ้นทอดผ้า

สมัยใหม่นี้ ทอดผ้าบนเมรุ พิธีกรจะอาราธนาพระขึ้นไป ใช้คำว่า “ขออาราธนาพระ ... พิจารณาผ้า ...”

ก็คือนิมนต์พระขึ้นไป “พิจารณาผ้า”

ถามว่า “พิจารณาผ้า” เป็นคำพูดที่ถูกต้องหรือไม่? 

อันที่จริงต้องถอยไปที่คำเรียกผ้านั่นด้วย

เท่าที่ได้ยิน มีเรียกกันเป็น ๔ คำ -

ผ้าบังสุกุล

ผ้าไตรบังสุกุล

ผ้ามหาบังสุกุล

ผ้าไตรมหาบังสุกุล

โปรดทราบว่า คำเดิมมีคำเดียวคือ ผ้าบังสุกุล

ถ้าใช้คำว่า “ผ้าไตรบังสุกุล” ก็เป็นการบังคับว่าผ้าที่ทอดต้องเป็นไตร คือมี ๓ ผืน จีวรผืนเดียวหรือผ้าผืนเดียวใช้ทอดไม่ได้ 

สำหรับชาวบ้านทั่วไปนั้น ไม่มีข้อกำหนดที่ไหนว่าผ้าที่ทอดต้องเป็นผ้าไตร

คำว่า “มหาบังสุกุล” เป็นคำเรียกพระที่ปฏิบัติธุดงค์ข้อที่ว่าด้วยปังสุกูลิกังคะและปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ คำบาลีว่า “มหาปํสุกูลิก” แปลว่า ผู้ทรงผ้าบังสุกุลผู้ใหญ่ เป็นคำเรียกพระด้วยความเคารพ ไม่ใช่คำเรียกผ้า คือไม่ได้แปลว่า ผ้าบังสุกุลผืนใหญ่

“มหาบังสุกุล” ที่เป็นคำเรียกผ้า พบในคำว่า “สุคตมหาปํสุกูลจีวรํ” (ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๒ จูฬปนฺถกตฺเถรวตฺถุ) แปลว่า “ผ้ามหาบังสุกุลจีวรของพระสุคต” แสดงว่า “มหาบังสุกุล” หมายถึงจีวรของพระพุทธเจ้า

ถ้าเป็น “ผ้าไตรมหาบังสุกุล” ก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก ผ้าบังกุลของพระพุทธเจ้า ท่านเรียกแค่ “มหาบังสุกุล” นี่ยกสูงขึ้นไปอีกเป็น “ผ้าไตรมหาบังสุกุล” เหมือนกับจะบอกว่า ผ้าที่ทอดนี้สำคัญยิ่งกว่าผ้าบังสุกุลของพระพุทธเจ้าเสียอีก

เท่าที่ฟังมา เหตุผลของพิธีกรที่ใช้คำหรูหรา “ผ้ามหาบังสุกุล” หรือ “ผ้าไตรมหาบังสุกุล” เช่นนี้ ก็ใช้เฉพาะกับผู้ทอดคนสุดท้ายซึ่งจะเป็นประธานในการเผาศพ ทั้งนี้เพื่อยกย่องให้เกียรติผู้ทอด 

แต่เมื่อใช้เข้าแล้ว ความหมายกลายเป็นผิดเพี้ยนไป

คำแนะนำของผมก็คือ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ทอด ใช้คำว่า “ผ้าบังสุกุล” คำเดียว ได้ความครบถ้วนสมบูรณ์ดีแล้วทุกประการ

..................

ทีนี้ก็มาถึงปัญหา นิมนต์พระขึ้นไป “พิจารณาผ้า” เป็นคำพูดที่ถูกต้องหรือไม่? 

ตอบไว้ตรงนี้เลยว่า เป็นคำพูดที่เพี้ยนครับ

จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี ต้องถอยไปเรียนรู้คำว่า “บังสุกุล”

“บังสุกุล” หรือ “บังสุกุลจีวร” เป็นหนึ่งในปัจจัยเครื่องอาศัย ๔ อย่างของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา คือ -

(๑) บิณฑิยาโลปโภชนะ = อาหาร ได้มาด้วยการออกบิณฑบาต

(๒) บังสุกุลจีวร = เครื่องนุ่งห่ม ได้มาจากผ้าที่เขาทิ้งแล้ว

(๓) รุกขมูลเสนาสนะ = ที่อยู่อาศัย พำนักตามโคนไม้

(๔) ปูติมุตเภสัช = ยารักษาโรค ได้มาจากน้ำมูตรดอง

ในคำบอกอนุศาสน์ คือเรื่องที่พระอุปัชฌาย์ต้องชี้แจงเสมือนปฐมนิเทศพระบวชใหม่ในทันที่บวชเสร็จ ท่านแสดงหลักไว้ว่า “ปํสุกูลจีวรํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา” ถอดความว่า “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยผ้าบังสุกุลเป็นเครื่องนุ่งห่ม” (ภายหลังผ่อนผันให้ใช้ผ้าที่ได้มาโดยวิธีอื่นๆ ได้บ้าง)

..................

เดิมที เครื่องนุ่งห่มของภิกษุในพระพุทธศาสนาได้มาจากผ้าที่คนทิ้งแล้ว เรียกว่า “ผ้าบังสุกุล” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “ผ้าคลุกฝุ่น” ก็คือผ้าที่เขาทิ้งไว้กับดิน 

ภิกษุต้องเที่ยวเลือกเก็บผ้าเช่นนั้น เลือกเอาแต่ส่วนที่ยังพอใช้ได้มาซักย้อมเย็บเข้าเป็นผืนพอเป็นผ้านุ่งผ้าห่ม

จีวรพระจึงไม่ใช่ผ้าเนื้อเดียวกันทั้งผืน แต่เป็นผ้าที่เป็นท่อนๆ เอามาเย็บต่อกัน ยังเป็นแบบแผนของจีวรมาจนทุกวันนี้ 

นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้-เพราะไม่เรียน

เหตุที่ต้องใช้ผ้าเช่นนั้นก็เพื่อลดละความต้องการเสื้อผ้าที่งดงามหรูหรา เป็นการฝึกหัดขัดเกลาตัวเองในชีวิตประจำวัน

ชาวบ้านที่มีศรัทธา รู้กฎกติกาของพระ ประสงค์จะสงเคราะห์พระให้หาผ้าได้ง่ายขึ้น ก็จึงทำอุบายเอาผ้าไปทอดหรือพาดวางไว้ตามกิ่งไม้หรือตามทางที่รู้ว่า-หรือคาดว่า-พระท่านจะผ่าน เป็นทีว่าเป็นผ้าทิ้งแล้ว 

เวลาพระไปพบผ้าเช่นนี้ ท่านก็จะ “ชัก” คือดึงออกมาจากที่ที่พาดหรือวางไว้นั้น ก่อนชักก็จะพูดดังๆ ว่า 

“อิมัง  ปังสุกูละจีวะรัง  อัสสามิกัง  มัยหัง  ปาปุณาติ” 

พูดดังๆ อย่างนี้ ๓ เที่ยว 

เมื่อเห็นว่าไม่มีใครแสดงตัวเป็นเจ้าของแน่แล้ว ท่านจึงจะ “ชัก” เอาไป

คำที่พระท่านพูดนั้นแปลเป็นไทยว่า “ผ้าเปื้อนฝุ่นผืนนี้ไม่มีเจ้าของ ตกเป็นของข้าพเจ้า” หรือแปลให้ชัดกว่านี้ ผ้าไม่มีเจ้าของ ฉันเอานะ 

เวลาชักผ้าป่า พระรุ่นเก่าท่านจะว่าคำที่ว่านี้ เพราะผ้าป่าก็คือผ้าที่ทอดทิ้งไว้ตามทาง ต้นกำเนิดมาจากผ้าบังสุกุลดังที่ว่ามานี้ 

แต่เวลานี้ ชักผ้าป่าได้ยินพระท่านใช้บท “อะนิจจา วะตะ สังขารา ...” อันเป็นบทพิจารณาสังขาร ไปคนละเรื่องเลย

..................

ตรงนี้ก็มีเรื่องที่งอกออกมาจากผ้าบังสุกุล นั่นคือ ในบรรดาแหล่งที่พระท่านจะหาผ้าได้ นอกจากกองขยะแล้วก็ยังมีตามป่าช้าอีกแหล่งหนึ่ง คือผ้าที่ห่อศพซึ่งไม่มีใครต้องการแล้ว ประกอบกับพระที่เจริญอสุภกรรมฐานท่านก็มักจะหาโอกาสไปพิจารณาซากศพตามป่าช้าด้วย ถ้ามีผ้าอยู่กับศพท่านก็จะหาวิธี “ชัก” เอาไป พร้อมไปกับพิจารณาซากศพ เป็นการเจริญพระกรรมฐานไปด้วย

ญาติของผู้ตายที่รู้กฎกติกาของพระ ก็จะถือโอกาสเอาผ้าไปคลุมหรือพาดไว้ที่ศพ แล้วนิมนต์พระไป “พิจารณาศพ” เพื่อให้พระได้ชักเอาผ้านั้นไปทำจีวรต่อไป ได้ประโยชน์ ๒ ทาง คือได้เจริญอสุภกรรมฐานด้วย ได้ผ้าไปทำจีวรด้วย

ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา (อรรถกถาธรรมบท) มีเรื่อง-เวลามีคนเอาศพมาทิ้งที่ป่าช้า คนเฝ้าป่าช้าจะนิมนต์พระที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าช้าไปพิจารณาศพ และเรื่องนางสิริมาหญิงงามเมือง (น้องสาวหมอชีวก) ถึงแก่กรรม พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ภิกษุไปพิจารณาศพ - เป็นพยานเรื่องที่ว่านี้

การทอดผ้าในงานศพมีปฐมเหตุมาจากเรื่องดังที่ว่ามานี้ 

จะเห็นได้ว่า เดิมทีนั้นพระไป “พิจารณาศพ” แล้ว “ชักผ้า” ไม่ได้ไป "พิจารณาผ้า"

ปัจจุบันการจัดการศพทำด้วยวิธีมิดชิด มองไม่เห็นศพ เวลาทอดผ้าก็ไม่ได้ทอดที่ตัวศพ หรือทอดที่โลงศพซึ่งยังพอนึกภาพออกว่ามีศพอยู่ในนั้น พระไปพิจารณาก็เห็นแต่ผ้า ไม่ได้เห็นศพ 

คำว่า “พิจารณาศพ” ก็เลยถูกเปลี่ยนเป็น “พิจารณาผ้า” ซึ่งคลาดเคลื่อนจากความมุ่งหมายเดิม เพราะสิ่งที่จะต้องพิจารณาคือ “ศพ” ส่วน “ผ้า” นั้น ไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องพิจารณาในเวลานั้น 

..................

ตอนต่อไป-คนใช้คำว่า “พิจารณาผ้า” อ้างเหตุผลอย่างไร?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๖

๑๖:๑๖

[full-post]

ปกิณกธรรม,งานศพ,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.