ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,174)


รัชชโลทร

ท้องน้ำอันเกิดแต่ความเป็นพระราชา

อ่านว่า รัด-ชะ-โล-ทอน

ประกอบด้วยคำว่า รัช + ชโลทร

(๑) “รัช”

เขียนแบบบาลีเป็น “รชฺช” อ่านว่า รัด-ชะ รากศัพท์มาจาก ราช (พระราชา) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), รัสสะ อา ที่ รา-(ช) เป็น อะ (ราช > รช), แปลง ช ที่ (รา)-ช กับ ย ที่ ณฺย ปัจจัย) เป็น ชฺช (ชฺ+ย = ชฺช)

: ราช + ณฺย = ราชณฺย > รชณฺย > รชย > รชฺช แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นแห่งพระราชา” 

“รชฺช” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง -

(1) ความเป็นพระราชา, ความเป็นเจ้า, อาณาจักร, จักรพรรดิ; รัชสมัย, ราชบัลลังก์ (kingship, royalty, kingdom, empire; reign, throne) 

(2) ความเป็นเอกราช, อำนาจอธิปไตย (sovereignty)

ขอให้สังเกตขั้นตอนการกลายรูปของ “รชฺช”จะผ่านการเป็น “ราชณฺย” ด้วย

“ราชณฺย” อ่านว่า รา-ชัน-ยะ ถ้าเขียนแบบไทย การันต์ที่ ย ก็จะเป็น “ราชัณย์” ตรงกับรูปคำสันสกฤตที่เป็น “ราชนฺย” (ขั้นตอนนี้ “-ชัณ-” บาลีเป็น ณ เณร) นี่ก็คือคำที่พูดกันในภาษาไทยว่า รา-ชัน นั่นเอง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ราชนฺย : (คำนาม) ‘ราชนย์,’ กษัตริย์, นรผู้ไสนิกหรือกษัตริยวรรณ; นามของอัคนิ; ต้นไม้; a Kshatriya, a man of the military or regal tribe; a name of Agni; a tree.”

ราชา > ราชณฺย ( > ราชนฺย) > รชฺช > รัชช 

“รชฺช” ตามปกติในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งเป็น “รัช” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“รัช ๒, รัช- : (คำนาม) ความเป็นพระราชา, ราชสมบัติ. (ป. รชฺช).”

(๒) “ชโลทร” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ชโลทร : (คำนาม) แม่น้ำ, ทะเล, ห้วงน้ำ, ท้องน้ำ. (ป., ส. ชล + อุทร).”

ตามพจนานุกรมฯ “ชโลทร” มาจากคำว่า ชล + อุทร

(ก) “ชล” บาลีอ่านว่า ชะ-ละ รากศัพท์มาจาก ชลฺ (ธาตุ = ผูกรัด; ไหลไป; รุ่งเรือง) + อ (อะ) ปัจจัย 

: ชลฺ + อ = ชล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ผูกรัด” (คือบีบทำให้เรือแตกได้) (2) “สิ่งที่ไหลไป” (3) “สิ่งที่รุ่งเรือง” (คือระยิบระยับยามค่ำคืน) หมายถึง น้ำ (water) 

บาลี “ชล” สันสกฤตก็เป็น “ชล” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ชล” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ - 

(สะกดตามต้นฉบับ) 

“ชล : (คำวิเศษณ์) เยือกเย็นหรืออนภิลาษ; สถุล; เฉื่อยชา, ไม่มีอุตสาหะ; เกียจคร้าน; cold; stupid; apathetic; idiotic; - (คำนาม) น้ำ; วิราค, เสนหาภาพ, ความเฉื่อยชาหรือความไม่มีเสนหา; water; frigidity; coldness, want of animation or coldness of affection.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ชล, ชล- : (คำนาม) น้ำ. (ป., ส.).”

(ข) “อุทร” บาลีอ่านว่า อุ-ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, บน, นอก) + ทรฺ (ธาตุ = ไป) + อ (อะ) ปัจจัย

: อุ + ทรฺ = อุทรฺ + อ = อุทรฺ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นที่เดินขึ้นข้างบนแห่งลม” 

“อุทร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ -

(1) ท้อง, กระเพาะอาหาร (the belly, stomach)

(2) ช่อง, ภายใน, ข้างใน (cavity, interior, inside)

“อุทร” ในภาษาไทยอ่านว่า อุ-ทอน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ -

“อุทร : (คำนาม) ท้อง. (ป., ส.).”

ชล + อุทร แผลง อุ ที่ อุ-(ทร) เป็น โอ (อุทร > โอทร)

: ชล + อุทร = ชลุทร > ชโลทร แปลตามศัพท์ว่า “ท้องแห่งน้ำ” เรียกสั้นๆ ว่า ท้องน้ำ

อภิปรายแทรก :

ในภาษาไทยมีหลายคำที่เกี่ยวกับน้ำ เราเรียกว่า “ท้อง-” เช่น ท้องคุ้ง ท้องคลอง ทองร่อง ท้องทะเล และท้องน้ำ

ถ้าเทียบคำเหล่านี้ แล้วดูที่มาคำว่า “ชโลทร” < ชล + อุทร = “ท้องแห่งน้ำ” > ท้องน้ำ ก็ชวนให้เห็นว่าน่าจะเป็นไปได้มาก 

แต่ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่สนิทใจ เนื่องจากยังไม่พบรูปศัพท์ “ชโลทร” ในบาลี

ศัพท์ที่พบในบาลีบ่อยๆ คือ “ชลธร” บาลีอ่านว่า ชะ-ละ-ทะ-ระ แปลว่า “ทรงไว้ซึ่งน้ำ” ใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ -

(1) เมฆ (cloud)

(2) ทะเล (the sea)

“ชลธร” ในภาษาไทยอ่านว่า ชน-ละ-ทอน คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

สันนิษฐานว่า เสียง ชน-ละ-ทอน นั่นเองชวนให้ได้ยินเป็น ชะ-โล-ทอน (ลองออกเสียงซ้ำๆ ดู) และพอได้ยินเช่นนั้นคงจะมีผู้สะกดตามความเข้าใจเอาเองเป็น “ชโลทร”

เมื่อสะกดเป็น “ชโลทร” รูปคำสามารถแยกเป็น ชล + อุทร ได้ และได้ความชอบกลดี จึงเป็นที่มาของความเห็นในพจนานุกรมฯ ที่ว่า “ชโลทร” (ซึ่งเพี้ยนมาจาก “ชลธร”) มาจาก ชล + อุทร 

ขอย้ำว่า ที่ว่ามานี้เป็นข้อสันนิษฐานของผู้เขียนบาลีวันละคำ ที่เพียงแต่ฉุกคิดว่า รูปคำ “ชโลทร” ยังไม่พบในบาลี พบแต่ “ชลธร” จึงชวนให้สงสัย ไม่ได้ยืนยันว่าจะต้องเป็นจริงตามข้อสันนิษฐาน

รัช + ชโลทร = รัชชโลทร 

“รัชชโลทร” ถ้าอ่านตามหลักภาษา ต้องอ่านว่า รัด-ชะ-ชะ-โล-ทอน แต่เนื่องจากมีเสียง -ชะ- ติดกัน 2 พยางค์ ไม่สะดวกแก่การออกเสียง จึงตัดออกไปพยางค์หนึ่ง คงอ่านว่า รัด-ชะ-โล-ทอน 

“รัชชโลทร” แปลตามศัพท์ว่า “ท้องน้ำอันเกิดแต่ความเป็นพระราชา” แปลเอาความว่า “แหล่งน้ำของพระราชา” หรือแปลโดยอนุโลมแก่ประวัติความเป็นมาว่า “แหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” 

ขยายความ :

“รัชชโลทร” เป็นชื่ออ่างเก็บน้ำซึ่งกรมชลประทานสร้างขึ้นตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ในพื้นที่บ้านคลอง ตำบลเกาะจันทร์ อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี

อ่างเก็บน้ำแห่งนี้มีชื่อเต็มว่า “อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เรียกกันสั้น ๆ ว่า “อ่างเก็บน้ำรัชชโลทร” หรือ “เขื่อนรัชชโลทร”

กรมชลประทานประกาศเริ่มโครงการเมื่อ พ.ศ.2552 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรเมื่อ พ.ศ.2559

..............

ดูก่อนภราดา!

: น้ำในอ่างเก็บน้ำ มองเห็นได้ด้วยตานอก

: น้ำพระราชหฤทัย มองเห็นได้ด้วยตาใน 

[full-post]

รัชชโลทร, ภาษาธรรม

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.