ศึกษาเรื่องเดิม - เลี้ยงอาหารงานกฐิน

------------------------------------

คติเดิมของวัดต่างๆ นั้น ถือว่าเจ้าภาพกฐินเป็นแขก อาจเป็นเพราะเจ้าภาพกฐินในสมัยเดิมๆ นั้นมักจะมาจากต่างถิ่นเป็นส่วนมาก เมื่อเป็นคนต่างถิ่น ก็ถือว่าเป็นแขก วัดในฐานะเจ้าของบ้านก็ต้องรับรองเลี้ยงดู เป็นไปตามหลักที่รู้กันทั่วไป ดังที่มักยกพระราชนิพนธ์รัชกาลที่หกมาอ้างว่า

...................

เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ

ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ

...................

ต่อมา แม้เจ้าภาพจะเป็นคนในพื้นถิ่นนั้นเอง ไม่ได้มาจากต่างถิ่น แต่ก็ถือเป็นธรรมเนียมว่า เจ้าภาพกฐินคือแขกของวัด วัดต้องรับรองเลี้ยงดู

ดังนั้น พอถึงวันทอดกฐิน วัดก็จะตั้งโรงครัว เลี้ยงดูแขกคือเจ้าภาพกฐินประสมไปกับเลี้ยงดูชาวบ้านที่มาช่วยงานวัด เช่นช่วยจัดสถานที่และเตรียมการต่างๆ 

การเลี้ยงอาหารในงานกฐินจึงมีมูลเหตุดังที่ว่า ซึ่งอาจพูดเป็นคำกลางๆ ว่า เลี้ยงคนมาทำบุญกับเลี้ยงคนมาช่วยงาน

อาหารที่เลี้ยงกัน นอกจากวัดตั้งโรงครัวแล้ว ถ้าประมาณการว่าแขกเหรื่อน่าจะไม่มาก วัดก็อาจจะใช้วิธีขอข้าวหม้อแกงหม้อแทนการตั้งโรงครัว เป็นการประหยัดไปได้ทางหนึ่ง

.........................................................

คำว่า “ข้าวหม้อแกงหม้อ” นั้น คนรุ่นใหม่คงไม่รู้จักแล้ว แม้แต่คำว่า “แกง” นั่นเองก็เข้าใจไปคนละอย่างกับคนรุ่นเก่า เรื่องนี้มีโอกาสคงต้องเอาไปพูดกันในชุด “ศึกษาเรื่องเดิม” สักทีหนึ่ง

.........................................................

สรุปว่า เจตนาเดิมของการเลี้ยงอาหารในงานกฐินคือ เลี้ยงคนมาทำบุญกับเลี้ยงคนมาช่วยงาน

.........................

ทุกวันนี้ งานกฐินก็ยังมีการเลี้ยงอาหารเหมือนเดิม แต่ที่มาของอาหารเปลี่ยนไปจากเดิม 

วัดตั้งโรงครัวเหมือนสมัยก่อนยังมีอยู่บ้าง แต่ก็น้อยลงจนแทบจะหาดูไม่ได้แล้ว กรรมวิธีหุงหาก็เปลี่ยนไปเป็นแบบสมัยใหม่ (เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ศิลปะ “หุงข้าวกระทะ” ของไทยเรากำลังจะสูญ!)

ขอข้าวหม้อแกงหม้อยังทำกันอยู่ แต่รูปแบบเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากวิธีหาบสำรับกับข้าวมาจากบ้าน เปลี่ยนเป็น “ออกร้าน” คือใครมีศรัทธาก็แจ้งความประสงค์กับทางวัด ถึงวันทอดกฐินก็เอาอาหารมาตั้งโต๊ะตั้งร้านปรุงหรือตักแจกเลี้ยงคน 

วิธีกินก็เปลี่ยนจาก “ตั้งวง” เป็นรับอาหารไปหาที่นั่งกินเอาตามสะดวก

รูปแบบที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ เป็นเหตุให้คนมองการเลี้ยงอาหารในงานกฐินเปลี่ยนไปจากเดิม คือแทนที่จะเป็นการเลี้ยงคนมาทำบุญกับเลี้ยงคนมาช่วยงาน ก็พากันมองเห็นเป็นโรงทานเลี้ยงอาหารแก่คนทั่วไป

เมื่อทุกวัดที่ทอดกฐินเลี้ยงอาหารในรูปแบบ-โรงทานเลี้ยงอาหารแก่คนทั่วไป-เช่นนี้ ก็จึงเกิดมีคนประเภทหนึ่ง ไปวัดในวันทอดกฐินเพียงเพื่อจะได้กินอาหาร ไม่ได้คิดจะไปทำบุญหรือไปช่วยงานใดๆ 

คนประเภทนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้พูดได้ว่า-มากกว่าคนไปทำบุญและไปช่วยงานหลายต่อหลายเท่า

๑๐๐ คน 

ตั้งใจไปทำบุญหรือไปช่วยงาน ๑ คน

อีก ๙๙ คนตั้งใจไปกิน

และคนที่ตั้งใจไปกินนั้น แทบทั้งหมด “กินแล้วสะบัดตูด” คือไม่ช่วยหยิบจับเก็บกวาดใดๆ ทั้งสิ้น แถมทำสกปรกเทอะเทอะทั่วไปอีกต่างหาก

นี่คือสิ่งที่คนส่วนมากประพฤติกันในการเลี้ยงอาหารงานกฐินทุกวันนี้

ฝ่ายผู้นำอาหารมาออกร้าน เจตนาก็เริ่มเปลี่ยนไปจากสมัยเดิม 

สมัยเดิม ตั้งใจนำอาหารมาเลี้ยงคนทำบุญและคนช่วยงานกฐิน

กินแล้วก็อนุโมทนาสาธุขอบบุญขอบคุณแก่กันและกัน

สมัยใหม่ ตั้งใจนำอาหารมาออกโรงทาน แทบจะไม่ได้นึกถึงบุญกฐิน

กินแล้วจะสะบัดตูดไปก็ไม่ว่าอะไร ไม่ติดใจ ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเสียหาย เชิญตามสบาย แค่มากินก็ขอบคุณแล้ว

สมัยก่อน คนกินขอบคุณเจ้าของอาหาร

สมัยนี้ เจ้าของอาหารต้องขอบคุณคนกิน 

.........................

เพราะไม่ศึกษาเรื่องเดิม การเลี้ยงอาหารในงานกฐินทุกวันนี้จึงเคลื่อนที่ไปจากเดิม โดยทุกฝ่ายพร้อมใจกันทำให้เป็นเช่นนั้น

สมัยก่อน ทอดกฐินเป็นบุญหลัก เลี้ยงอาหารกันเป็นส่วนประกอบ

สมัยนี้ เลี้ยง-กินอาหารเป็นงานหลัก ทอดกฐินเป็นส่วนประกอบ

น้ำหนักจะแปรผันไปเรื่อยๆ เช่นนี้ จนในที่สุด น้ำหนักของกฐินตามพระธรรมวินัยก็จะค่อยๆ หมดไป 

ดังที่ทุกวันนี้ -

.........................................................

กฐินตามพระธรรมวินัยอยู่ที่ “ผ้า” 

แต่กฐินของข้าอยู่ที่ “เงิน”

.........................................................

เป็นดังนี้ทั่วไปหมดแล้ว

.........................

ความเปลี่ยนแปลงนั้น เราหยุดยั้งรั้งถ่วงไว้ไม่ได้ก็จริง แต่ถ้าได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องเดิมให้เข้าใจชัดแจ้ง เราก็จะมองเห็นภาพที่ชัดเจน

ภาพที่ชัดเจนนั้นจะช่วยให้เรากำหนดท่าทีที่ถูกที่ควรได้ว่า ควรจะยอมให้อะไรเปลี่ยนแปลงไป และควรจะพยายามรักษาอะไรไว้ 

สำหรับการเลี้ยงอาหารในงานกฐิน เมื่อศึกษาเรื่องเดิมแล้ว แม้จะรักษารูปแบบไว้ไม่ได้ อย่างน้อยก็จะช่วยให้รักษาเนื้อหาสาระไว้ได้มากที่สุด

จะได้ไม่หลงดีใจว่าได้มาออกโรงทานก็เป็นบุญแล้ว

แต่วิธีเลี้ยง ไปทำลายหลักการของการเลี้ยงอาหารงานกฐินของเดิมลงไปเสียหมดสิ้น

เชื่อหรือไม่ มีบางวัด ปรากฏว่าเจ้าภาพกฐินอดข้าว!

เพราะอาหารที่นำมาออกร้านนั้น “แขกดอย” ทยอยกันเข้ามาฟาดเรียบไปก่อนแล้ว ฮ่า ฮ่า ฮ่า 

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

๑๗:๕๖ 

[full-post]

ศึกษาเรื่องเดิม - เลี้ยงอาหารงานกฐิน

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.