กฎหมายกับกฎหมา

---------------------

ผมอ่านโพสต์ของพระคุณท่าน Hansa Dhammahaso เมื่อ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๖ เข้าใจว่าท่านยกข้อความมาจากโพสต์อื่นอีกทีหนึ่ง ข้อความมีดังนี้ -

.........................................................

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา

สุนัขกัดคน หมดหนทางไกล่เกลี่ย

จ่ายทั้งแพ่งและอาญา วัดวาอารามโปรดระวัง

เปิดคำพิพากษาฎีกาใหม่ที่ 1639/2565 ผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำ แล้วสุนัขไปกัดคนอื่น ผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำ มีความผิดตามประมวลกฎกฎหมายอาญา และ ผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำนั้น ต้องชดใช้ความเสียหายในทางแพ่งด้วย 

คดีนี้ จำเลยไม่ได้เลี้ยงดูสุนัขจรจัด ที่ก่อเหตุโดยตรง แต่ได้ให้อาหารสุนัขจรจัด ดังกล่าว มาตลอดเป็นเวลานาน จำเลยไม่ได้เลี้ยงดูสุนัขจรจัด โดยการขัง หรือ โดยการล่ามโซ่ไว้ ต่อมาในวันเกิดเหตุ เด็กอายุเพียง 2 ปี 11 เดือน ได้ถูกสุนัขจรจัดตัวนี้กัดหลายแห่ง และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา 

แม่ของเด็กผู้ตายเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับจำเลย ในความผิดฐานปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นก่อให้เกิดอันตรายแก่กายของผู้อื่น ตาม ปอ.ม.377 และความผิดฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ปอ.ม.291 ประกอบ ม.59 วรรคสี่ 

คดีขึ้นสู่ศาล พนักงานอัยการโจทก์ ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และมาตรา 377 ศาลชั้นต้น พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และ มาตรา 377 จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ เป็นยกฟ้องโจทก์ ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฎีกา 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยให้อาหารสุนัขจรจัดมาหลายปี เท่ากับว่าจำเลยเป็นเจ้าของสุนัขนั้นโดยการเลี้ยงดูแล้ว เมื่อสุนัขไปกัดเด็กถึงแก่ความตาย เท่ากับว่าจำเลยประมาทตาม ปอ.ม.59 วรรคสี่ และ การกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ถือว่าผู้เลี้ยงอาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำ ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพังจนเกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 นอกจากนี้ เมื่อจำเลยปล่อยปละละเลยจนสัตว์นั้นได้ไปกัดผู้อื่นถึงแก่ความตายเช่นนี้ จึงถือว่าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสุนัขจรจัดดังกล่าว จำเลยซึ่งเป็นบุคคลผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายเด็กที่ถึงแก่ความตายเพราะสัตว์นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 วรรคหนึ่งด้วย

ซึ่งค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้สถานใดเพียงใดนั้น ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามมาตรา 438 วรรคหนึ่ง ซึ่งเมื่อคดีนี้แม่เด็กซึ่งเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนเด็ก ตาม ป.วิ อ.มาตรา 5 (2) ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ตามป.วิ อ.มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 30 และได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ อ.มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง เป็นค่าปลงศพจำนวน 300,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท 

เมื่อคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งศาลในคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 46 เมื่อฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีส่วนอาญา อันเป็นการกระทำละเมิดในคดีส่วนแพ่ง ศาลฎีกาจึงกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายแม่เด็ก เป็นค่าปลงศพจำนวน 300,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท ส่วนอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ ตาม ปพพ.มาตรา 224 ประกอบมาตรา 7 

สรุปย่อคำพิพากษาฎีกาด้วยภาษาชาวบ้านง่ายๆ โดย

อ.มงคล กริชติทายาวุธ

ท่านที่พบผู้ที่ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำในบริเวณที่ท่านอยู่อาศัย หรือต้องผ่านบริเวณนั้นๆ อย่าลืมถ่ายภาพผู้นั้นไว้ล่วงหน้า ถ้าวันใดสุนัขจรจัดกัดท่านหรือญาติมิตรของท่าน จักไปแจ้งความดำเนินคดีเรียกร้องความเสียหายได้ถูกคนว่าเป็นใคร มีรูปร่างหน้าตาเป็นเข่นไร ใช้รถทะเบียนอะไรในการนำอาหารไปเลี้ยงสุนัขจรจัดในบริเวณนั้นๆ

.........................................................

(จบข้อความจากโพสต์)

.........................................................

ต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นของผม

..................

มองในแง่หนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ยกมานี้ก็เท่ากับพิพากษาห้ามแสดงความเมตตาต่อสุนัขจรจัดด้วยการให้อาหารเป็นประจำ-ซึ่งต่อไปจะต้องมีเกณฑ์กำหนดว่า ให้อาหารติดต่อกันกี่ปีหรือเป็นจำนวนกี่ครั้งจึงจะถือว่าเป็นเจ้าของสุนัขและอยู่ในฐานะจะต้องรับผิดชอบ มิเช่นนั้นก็จะต้องเถียงกันอีกไม่จบ

ตามความเห็นของผม รากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ “ปล่อยให้มีสุนัขจรจัด” เพราะฉะนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาให้ถึงรากก็ต้องแก้ที่-ห้ามมีสุนัขจรจัด 

นั่นก็คือ ต้องกำจัดสุนัขจรจัดให้หมดไปจากประเทศไทย และต้องกำหนดลงไปให้ชัดว่า การกำจัดสุนัขจรจัดเป็นหน้าที่ของใคร ทั้งต้องให้ผู้มีหน้าที่ตามที่กำหนดนั้นลงมือกำจัดสุนัขจรจัดให้หมดไปโดยเร็วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 

ในระหว่างที่ยังกำจัดสุนัขจรจัดได้ไม่หมด ถ้าสุนัขจรจัดไปกัดใครก็ต้องให้ผู้มีหน้าที่ตามที่กำหนดนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ

ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็จะต้องมีผู้มีเมตตาต่อสุนัขจรจัดตกเป็นเหยื่อกฎหมายรายต่อไปอีกไม่รู้จบ-โดยเฉพาะวัดซึ่งหมายถึงตัวเจ้าอาวาส

ต่อไป หมาวัดก็ต้องเลิกมี 

แต่หมาวัดแทบทั้งหมดวัดไม่ได้ไปเที่ยวหามาเอง หากแต่เกิดจากคนเอาหมาไปปล่อยที่วัด เพราะฉะนั้นก็ต้องกำหนดกันตั้งแต่บัดนี้ว่า การเอาหมาไปปล่อยวัดมีความผิดร้ายแรง 

ถ้าจับตัวคนทำผิดไม่ได้ ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปดำเนินการกำจัดหมาที่มีผู้เอาไปปล่อยวัด

เรื่องนี้เกี่ยวกับ 

(๑) กฎหมาย 

(๒) เมตตาธรรม และ 

(๓) การบริหารจัดการ 

เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อลักษณะนิสัยของสังคมไทยโดยตรง

ขอเสนอให้นักรณรงค์เอาเรื่องนี้ไปทำครับ 

“เมืองไทยต้องไม่มีหมาจรจัด” 

รณรงค์กันให้กระหึ่มโลกไปเลย

มิเช่นนั้นก็ต้องตกลงกันให้ได้ว่า ระหว่างกฎหมายกับเมตตาธรรม สังคมไทยจะเอาอะไร และจะเอาอย่างไร

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

๑๑:๑๐ 

[full-post]

กฎหมายกับกฎหมา

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.