สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


เหตุที่ไม่ให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง

   ถาม ทุกวันนี้หลายคนชอบอ้างพระพุทธพจน์ที่ตรัสถึงการไม่ให้เชื่อ ๑๐ อย่าง มีอย่าได้เชื่อโดยฟังตามกันมา เป็นต้น และข้อสุดท้ายคือ อย่าได้เชื่อเพราะผู้นี้เป็นครู ของเรา แล้วก็พากันไม่เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ไม่ตรงกับความเชื่อของตน โดยอ้างว่าพระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เชื่อ เราจะทำอย่างไรกับคนเหล่านี้ดี คือทำอย่างไร จะช่วยเขาให้เข้าใจถูกได้

   ตอบ ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชน นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ถ้าขาด ศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ในพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของธรรมะแล้ว ก็ยากที่ จะทำความเข้าใจได้ ทุกท่านโดยเฉพาะท่านที่ไม่เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่นับถือพระองค์เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก เบื้องต้นควรจะมีศรัทธาเชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ทรงตรัสรู้จริง พระธรรมที่ทรงนำมาบอกสอนนั้น ทรงได้มาจาก การตรัสรู้ มิใช่ด้นเดาเอาตามใจชอบ และเมื่อมีศรัทธาในพระองค์ท่านและพระธรรมคนที่พระองค์ท่านทรงแสดงแล้ว ก็ต้องศึกษาที่มาของคำกล่าวอ้าง ที่หลายๆ คนชอบอ้างกันนั้นให้ถ่องแท้ มิใช่พูดกันตามที่เขาพูดๆ กัน หรือเชื่อตามที่มีคนมาพูดให้ฟัง โดยที่เรามิได้สาวเข้าไปถึงเหตุ ว่าเพราะเหตุใดพระองค์จึงตรัสเช่นนั้น ธรรมทั้งหลาย มีเหตุเป็นแดนเกิด แม้การแสดงการ ไม่ให้เชื่อ ๑๐ อย่างนั้นก็มีเหตุ เพื่อให้ท่านที่ยังไม่เคยได้ฟังถึงเหตุเป็นที่มาให้ตรัสการ ไม่ให้เชื่อ ๑๐ อย่างนี้ ได้ทราบความจริงตามที่ พระองค์ตรัสไว้ ใน อัง, ติก, เกสปุตตสูตร ข้อ ๕๐๕ ซึ่งมักจะเรียกกันตามอรรถกถาว่า กาลามสูตร เพราะเป็นเรื่องของชนชาวกาลามะ เห็นไหมว่าเพียงแต่ชื่อพระสูตร เราก็ยังมิได้สอบสวน เขาเรียกกันว่ากาลามสูตร ก็เรียกตามๆ กันไป ทั้งที่จริงๆ แล้วใน พระไตรปิฎกเป็น เกสปุตตสูตร จะขอเล่าเรื่องในเกสปุตตสูตร ให้ทราบดังนี้

   ในสมัยพุทธกาล ในแคว้นโกศลมีหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อว่า เกสปุตตนิคม เป็นที่อาศัยอยู่ของชนชาวกาลามะ ชาวกาลานะเหล่านี้ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเกสปุตตนิคมของตน พวกเขาทราบถึงกิตติศัพท์อันงามของพระองค์ที่ขจรขจายไปว่า แม้เพราะ เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเสด็จไปแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก ทรงฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า ทรงเป็นครุผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นผู้เบิกบานแล้ว ทรงจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ทรงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วทรงสอนโลกนี้พร้อมทั้งเทวดา มาร พรหม และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ และเทวด และมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมไพเราะทั้งในเบื้องต้น ไพเราะทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด ประกอบด้วย อรรถะและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ด้วยกิตติศัพท์อันงามที่พวกชาวกาลามะ ได้ฟังมานี้ ทำให้เขาคิดกันว่า การได้เห็นและเฝ้าท่านผู้ไกลจากกิเลสเป็นพระอรหันต์ เช่นนี้เป็นการดี ย่อมให้สำเร็จประโยชน์ได้ จึงได้พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเมื่อไปเฝ้าแล้ว บางพวกที่เลื่อมใสก็ถวายบังคม บางพวกก็เพียงกล่าววาจาปราศรัย บางพวกก็เป็นแต่ประนมอัญชลีแต่มิได้กราบไหว้ บางพวกก็ร้องประกาศชื่อแซ่ของตน แล้วพากันนั่งอยู่ในที่สมควร 

   เมื่อชาวกาลามะทั้งหลายนั่งเรียบร้อยแล้ว ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า มีสมณพราหมณ์หลายพวกมาที่เกสปุตตนิคมนี้ แต่ละพวกก็กล่าวแต่ว่าถ้อยคำที่ตนกล่าวนั้น ดีแล้วชอบแล้ว ควรยึดถือตาม แต่คำพูดของคนอื่นไม่ถูก ไม่ควรยึดถือตาม หมายความว่า สมณพราหมณ์ที่มานั้น แต่ละพวกก็ยกย่องเชิดชูความเห็นของตนว่าถูกต้อง ดูหมิ่นความเห็นของผู้อื่นว่าผิดหมด เป็นเหตุให้พวกชาวกาลามะสงสัยว่า สมณพราหมณ์ที่มาเหล่านี้ พวกไหนพูดจริง พวกไหนพูดเท็จ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสว่า ควรแล้ว ที่ท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุที่ควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือคืออย่าได้ยึดถือโดยได้ฟังตามกันมา, อย่าได้ถือโดยลำดับสืบๆ กันมา, อย่าได้ถือว่าข้อนั้น ได้ฟังมาแล้วอย่างนี้, อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา คืออย่าได้ถือว่าคำสอนนั้นตรงกับตำราของ พวกเรา, อย่าได้ถือเอาโดยนึกเดาเอาเอง, อย่าได้ถือโดยนัย คือโดยการคาดคะเน, อย่าถือเอาโดยตรึกตามอาการ, อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าคำสอนนี้ลงกันได้กับความเห็นของตน, อย่าได้ถือว่าผู้พูดสมควรเชื่อถือได้, และอย่าได้ถือโดยนับถือว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใดที่ท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็น ประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ เมื่อนั้นท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย 

   ท่านจะเห็นว่าพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสลอยๆ ว่าชาวกาลามะไม่ควรเชื่อ ไม่ ควรยึดถือถ้อยคำที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นยกมากล่าวโดยอาการ ๑๐ อย่าง มีอย่าเชื่อโดยการฟังตามๆ กันมา เป็นต้น พระองค์มิได้ตรัสเพียงเท่านี้ แต่ยังตรัสถึงการเชื่อว่า ควรจะ เชื่ออย่างไร โดยตรัสให้พิจารณาให้รู้ด้วยตนเองว่าธรรมอะไรที่เป็นโทษ เป็นบาปอกุศล ท่านผู้รู้ติเตียน ผู้ใดประพฤติแล้วย่อมเสียประโยชน์ ทั้งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์แล้ว ธรรม เหล่านั้นควรละ ไม่ควรประพฤติ เพราะฉะนั้นถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้นมาแสดงลัทธิของตนแก่พวกท่าน ท่านพิจารณาแล้วว่าไม่มีโทษ ไม่เป็นบาปอกุศล ท่านผู้รู้สรรเสริญ ประพฤติตามแล้วได้รับประโยชน์และความสุข คำสอนของสมณพราหมณ์นั้นควรเชื่อถือ และควรประพฤติตาม

   เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไม่ให้ชาวกาลามะถือเอาคำของสมณพราหมณ์ เหล่านั้นโดยอาการ ๑๐ อย่างแล้ว เมื่อจะทรงแนะนำให้ชาวกาลามะใช้ปัญญาพิจารณา เห็นสิ่งที่ควรเว้นด้วยตนเอง จึงทรงยกโลภะ โทสะ และโมหะ ขึ้นมาเป็นตัวอย่างให้ ชาวกาลามะได้ตอบตามลำดับดังนี้

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โลภะความ อยากได้ เมื่อเกิดขึ้นภายในใจของบุรุษ คือของชนย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์ ชนชาวกาลามะก็ทูลตอบว่า ความโลภย่อมเกิดขึ้นเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์พระเจ้าข้า 

   นี่ชาวกาลามะก็ตอบได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลยว่า โลภะความโลภนั้น เป็นสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามต่อไปว่า บุรุษผู้โลกแล้ว อันความโลภครอบงำแล้วมีใจอันความโลภยึดไว้โดยรอบแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ถือเอาของที่เจ้าของไม่ให้แล้วบ้าง ประพฤติผิดภรรยาผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนให้ผู้อื่นเป็นอย่างนั้นบ้าง สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์แก่ผู้อื่นนั้นสิ้นกาลนาน ผู้โลภแล้วย่อมชักชวนผู้อื่นในสิ่งนั้น คือในการฆ่าสัตว์เป็นต้นนั้น ข้อนี้จริงหรือไม่ ชาวกาลามะกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า นี่ชาวกาลามะก็สามารถทราบได้ด้วยตนเองว่า โลภะมีโทษ เพราะแต่ละคนเห็นโทษของโลภะมาแล้ว เพราะฉะนั้นใครจะ มาพูดว่าโลภะไม่มีโทษเขาก็จะไม่เชื่อ เพราะเขาได้รู้ได้เห็นโทษของโลภะด้วยตนเองแล้ว

   ต่อแต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงโทสะบ้างว่า ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โทสะความประทุษร้าย เมื่อเกิดขึ้นภายในบุรุษ เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์ ชนชาวกาลามะก็กราบทูลว่า โทสะความประทุษร้ายนั้นเกิดขึ้น เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามต่อไปว่า บุรุษอันโทสะประทุษร้ายแล้ว อันโทสะครอบงำแล้ว มีใจอันโทสะยึดไว้รอบแล้ว ย่อมฆ่สัตว์มีชีวิตบ้าง ถือเอาของที่เจ้าของไม่ให้แล้วบ้าง ผิดในภรรยาผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนให้ผู้อื่นเป็นอย่างนั้นบ้าง สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ แก่ผู้อื่นนั้นสิ้นกาลนาน ผู้ที่โทสะประทุษร้ายแล้วชักชวนผู้อื่นในสิ่งนั้น ข้อนี้จริงหรือไม่ ชาวกาลามะกราบทูลว่า ข้อนั้นจริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า

   แม้โมหะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามเช่นเดียวกับโลภะและโทสะ และชาว ชนชาว กาลามะก็ได้ทราบด้วยตนเองว่าโมหะก็มีโทษ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นไปเพื่อความทุกข์ตลอดกาลนานเช่นเดียวกับโลภะและโทสะเหมือนกัน จากนั้นพระผู้มีพระ ภาคเจ้าตรัสถามถึงโลภะ โทสะ โมหะ ว่าธรรมเหล่านั้นเป็นกุศลหรืออกุศล กาลามะกราบทูลว่า เป็นอกุศลพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามต่อไปว่า ก็อกุศล เหล่านั้นมีโทษหรือไม่มีโทษ ได้รับคำตอบว่า มีโทษพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามต่อไปอีกว่า ท่านผู้รู้ติเตียนหรือสรรเสริญอกุศลเล่า ได้รับคำตอบว่า ท่านผู้รู้ติเตียน พระเจ้าข้า

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามอีกว่า อกุศลเหล่านี้ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็น ไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์หรือไม่ ความเห็นของท่านในข้อนี้เป็นอย่างไร ชาวกาลามะทูลตอบว่า ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ความเห็นของข้าพระองค์ในข้อนี้เป็นอย่างนี้ พระเจ้าข้า

   พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า เราได้กล่าวคำใดว่า ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามๆ กันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบๆ กันมา อย่าได้ถือโดยได้ยินว่าอย่างนี้ๆ อย่าได้ถือโดยอ้าง ตำรา อย่าได้ถือโดยนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยคาดคะเน อย่าได้ถือโดยตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกับความเห็นของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยนับถือว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละ ธรรมเหล่านั้นเสียเมื่อนั้น ดังนี้ คำนั้นเราได้อาศัยความข้อนี้แล กล่าวแล้ว

   พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสสอนอย่างนี้แล้ว ได้ตรัสถึงธรรมที่ตรงข้ามกับโลภะ โทสะ โมหะ โดยยกเอา อโลภะความไม่โลภ อโทสะความไม่โกรธ อโมหะความไม่หลง ตามลำดับว่า ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อโลภะความไม่โลภ เมื่อเกิดขึ้นภายในแห่งบุรุษ เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ชาวกาลามะ กราบทูลว่า อโลภะเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บุรุษผู้ไม่โลภแล้ว อันโลภไม่ครอบงำแล้ว มีใจ อันโลกไม่ยึดไว้รอบแล้ว ไม่ฆ่าสัตว์มีชีวิต ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้แล้ว ไม่ผิดในภรรยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้น สิ่งใดเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อ สุขแก่ผู้อื่นสิ้นกาลนาน ผู้ไม่โลภแล้ว ชักชวนผู้อื่นในสิ่งนั้น ข้อนี้จริงหรือไม่ ชาว กาลามะกราบทูลว่า ข้อนี้จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า จากนั้นก็ตรัสถามถึงอโทสะและ อโมหะ เช่นเดียวกับอโลภะแล้วตรัสถามว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล คำตอบคือ เป็นกุศล พระเจ้าข้า

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า มีโทษหรือไม่มีโทษ ได้รับคำตอบว่า ไม่มีโทษ พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามต่อไปว่า ท่านผู้รู้ติเตียนหรือสรรเสริญเล่า คำตอบ คือ ท่านผู้รู้สรรเสริญ พระเจ้าข้า

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า ใครประพฤติให้เต็มที่แล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขหรือไม่ ความเห็นของท่านในข้อนี้เป็นอย่างไร ชาวกาลามะกราบทูลว่า ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข ความเห็นของข้าพระองค์เป็น อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ที่เรากล่าวว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือโดยได้ฟัง ตามๆ กันมาเป็นต้นนั้น เราอาศัยความข้อนี้แลกล่าวแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำให้ชนชาวกาลามะได้ปัญญา พิจารณาเห็นด้วยตนเองแล้ว ทำสิ่งที่ควร ทำอย่างนี้แล้ว ทรงแสดงอานิสงส์ของผู้ปฏิบัติอย่างนั้นจะพึงได้พึงถึงดังนี้ว่า อริยสาวก นั้นปราศจากความโลภ ปราศจากพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสติรู้รอบคอบ มีใจ ประกอบด้วยเมตตา มีใจประกอบด้วยกรุณา มีใจประกอบด้วยมุทิตา มีใจประกอบด้วย อุเบกขา แผ่อัปปมัญญาพรหมวิหารนี้ไปตลอดทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ มีใจประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไพบูลย์เต็มที่ เป็นมหัคตจิต มีสัตว์หาประมาณมิได้เป็นอารมณ์ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่อัปปมัญญาพรหมวิหารบาทตลอดโลกอันมีสัตว์ทั้งปวง ในที่ทั้งปวงด้วยความเป็นผู้มีใจในสัตว์ทั้งปวง ทั้งทิศเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ดังนี้เอยู่เสมอ สาวกผู้ประเสริฐนั้นมีจิตหาเวรมิได้อย่างนี้ 


[full-post]

เหตุที่ไม่ให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.