ศึกษาเรื่องเดิม - กฐินสามัคคี

----------------------------

“กฐิน” ภาษาไทยอ่านว่า กะ-ถิน บาลีอ่านว่า กะ-ถิ-นะ 

คำว่า “กฐิน” ถ้าเป็นคำนาม แปลว่า “ไม้สะดึง” คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร (a wooden frame used in sewing the robes) ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า แข็ง, แนบแน่น, ไม่คลอนแคลน, หนัก, หยาบกร้าน, โหดร้าย (hard, firm, stiff, harsh, cruel)

ในที่นี้ “กฐิน” หมายถึงผ้าที่มีผู้ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบสามเดือนแล้วเพื่อผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเดิม มีพระพุทธานุญาตให้สงฆ์ยกผ้านั้นให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ด้วยกันเพื่อทำเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง โดยภิกษุทั้งหมดที่จำพรรษาร่วมกันนั้นต้องช่วยกันทำเพื่อแสดงถึงความสามัคคี 

คำว่า “กฐินสามัคคี” ในที่นี้ หมายถึงรูปแบบของกฐินที่ชาวบ้านนำกฐินไปทอด

คำนี้ไม่มีปัญหาในการเขียนและอ่าน แต่มีปัญหาในการทำความเข้าใจ 

...................

กฐินสามัคคีมีมูลเหตุมาจากกรณีต่อไปนี้ คือ - 

๑ มีผู้ต้องการจะทอดกฐินที่วัดเดียวกันหลายราย 

๒ แต่ละรายสามารถทอดได้ตามลำพัง ไม่จำเป็นต้องร่วมกับใคร หรือไปหาใครมาร่วม 

๓ ปกติ ใครมาจองก่อน ก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าภาพแต่เพียงรายเดียว แต่กรณีนี้คือมาจองพร้อมกันหลายราย แต่ละรายจึงมีสิทธิ์ที่จะได้เป็นเจ้าภาพเท่ากัน และไม่มีรายไหนยอมถอย

๔ แต่กฎกติกาของกฐินมีอยู่ว่า “เจ้าภาพทอดกฐินต้องมีรายเดียว เมื่อรายหนึ่งทอดแล้ว รายอื่นๆ จะทอดอีกไม่ได้”

๕ ทางออกคือทำอย่างไร? จับฉลาก? หรือประมูลกันว่าใครจะถวายบริวารกฐิน (เช่นเงินบำรุงวัด) มากกว่ากัน? หรือต่อยกันให้รู้แล้วรู้รอด ใครชนะได้เป็นเจ้าภาพ ฯลฯ

๖ ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ในที่สุดก็ได้ทอดกฐินเพียงรายเดียว รายอื่นๆ อด

๗ จึงเป็นที่มาของ “กฐินสามัคคี” คือทุกรายพร้อมใจกันรวมตัวให้เป็นรายเดียว แล้วเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ก็จะได้ทอดกฐินด้วยกันหมดทุกราย

นี่คือความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “กฐินสามัคคี”

...................

“กฐินสามัคคี” จึงไม่ได้หมายความว่า มีใครจองวัดขอเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน แล้วก็ไปเที่ยวชักชวนญาติสนิทมิตรสหายแบ่งสายกันบอกบุญร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ดังที่นิยมทำกันอยู่ แล้วก็เรียกกันว่า "กฐินสามัคคี"

คนทั่วไปมักเข้าใจคำว่า “กฐินสามัคคี” ตามความหมายนี้ 

“กฐินสามัคคี” ตามความหมายเดิมอันเป็นความหมายที่ถูกต้อง คือ หลายรายแย่งกันเป็นเจ้าภาพ แล้วปรองดองรวมกันเป็นเจ้าภาพเดียว

“กฐินสามัคคี” ตามความหมายใหม่ เจ้าภาพรายเดียว ไม่ได้แย่งกับใคร แต่สามัคคีกันภายในคณะของตัวนั่นเอง

“กฐินสามัคคี” ตามความหมายนี้กำลังกลายเป็นความหมายที่ถูกต้องอีกความหมายหนึ่ง ก็เพราะไม่ศึกษาเรื่องเดิม

...................

อีกกรณีหนึ่ง ทอดกฐินวัดเดียว แต่มีเจ้าภาพหลายคณะนั่งกันเต็มศาลา แต่ละคณะต่างก็มีเครื่องกฐินของตนพร้อมเสร็จ พอถึงเวลาทอดก็ทยอยกันเข้าไปถวายทีละคณะ ดังที่หลายๆ วัดนิยมทำกัน แล้วอ้างว่าเป็น “กฐินสามัคคี” 

“กฐินสามัคคี” แบบนี้โปรดทราบว่า ผิดกฎกติกาของการทอดกฐิน ผิดหลักเกณฑ์ที่กำหนดว่า วัดหนึ่งทอดกฐินได้คณะเดียว คือมีเจ้าภาพรายเดียว

กฐินสามัคคีก็คือมีเจ้าภาพหลายรายนั่นแหละ แต่ต้องรวมกันเป็นรายเดียวก่อนจะเข้าไปทอด 

การที่ยังแยกกันเป็นคณะๆ แบบนั้นอันที่จริงจะต้องเรียกว่า “กฐินไม่สามัคคี” เพราะถ้าสามัคคีกันจริงจะต้องรวมกันเป็นคณะเดียวตามกฎของกฐิน

...................

สรุปว่า 

(๑) บุญกฐินไม่เหมือนบุญอื่น เมื่อคนหนึ่งทำแล้ว คนอื่นจะมาทำซ้ำที่กันอีกไม่ได้ จึงต้องจองก่อน เป็นการบอกกล่าวให้รู้ว่า ใครจะมาทอดซ้ำอีกไม่ได้ 

(๒) แต่ถ้าเกิดมีคนอยากจะทอดวัดเดียวกันรายหลาย วิธีที่จะทำให้ทอดได้หมดทุกรายก็คือ ทุกรายต้องรวมตัวกันเป็นรายเดียวก่อน เมื่อรวมกันเป็นรายเดียวแล้วทอด ก็เท่ากับได้ทอดหมดทุกรายนั่นเอง 

.........................................................

รวมหลายๆ รายเข้าเป็นรายเดียว 

รวมหลายๆ คณะเข้าเป็นคณะเดียว

แล้วทุกรายทุกคณะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว 

มีผ้ากฐินผืนเดียวกันเข้าไปทอดพร้อมกันทีเดียว 

ไม่มีการแบ่งแยกคณะใดๆ ทั้งสิ้น 

นี่คือความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “กฐินสามัคคี”

.........................................................

: ศึกษาเรื่องเดิมให้เข้าใจเจนจิต

: ป้องกันไม่ให้ผิดกลายเป็นถูก

.........................................................

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

๑๖:๓๖

[full-post]

ศึกษาเรื่องเดิม - กฐินสามัคคี

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.