ศึกษาเรื่องเดิม - บวชทำไม ทำไมต้องบวช?

--------------------------------------------

ทำไมต้องบวช บวชทำไม เป็น “เรื่องเดิม” อีกเรื่องหนึ่งที่คนสมัยนี้ไม่ค่อยได้ศึกษา

พ่อแม่สมัยนี้ที่มีลูกชาย และหวังว่าลูกชายจะได้บวชในพระพุทธศาสนา ยังมีอยู่มาก 

ชายหนุ่มสมัยนี้ที่นับถือเลื่อมใสพอใจที่จะบวชเมื่อมีอายุครบบวช ก็ยังพอมี-แม้จะน้อยลงไปกว่าสมัยก่อน

แต่เชื่อได้เลยว่า ทั้งตัวพ่อแม่ ทั้งตัวชายหนุ่ม สมัยนี้ ไม่เคยศึกษาว่าการออกบวชในพระพุทธศาสนามีต้นกำเนิดมาอย่างไร

เพราะไม่ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ นานมา นานเข้า การบวชก็กลายเป็นค่านิยมตามประเพณี คือทำตามกันไปโดยไม่ต้องรู้ไม่ต้องเข้าใจว่า ทำไมต้องบวช บวชทำไม

แต่ที่หนักกว่านั้นก็คือ เกิดมีการอ้างเหตุผลในการบวชผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนไปจากเหตุผลต้นเดิมอย่างชนิด-ไปคนละทิศ คิดคนละทาง

เหตุผลในการบวชที่อ้างกันในสมัยนี้ เท่าที่ฟังมามีคำพูดคล้องกันว่า 

.........................................................

บวชเล่น 

บวชลอง

บวชครองประเพณี

บวชหนีสงสาร (บวชหนีทหาร)

บวชผลาญข้าวสุก

บวชสนุกตามเพื่อน

บวชเลื่อนฐานะ

บวชรับภาระช่วยสังคม

.........................................................

และที่หนักซ้ำลงไปก็คือ คนสมัยใหม่ก็พากันเห็นดีเห็นชอบไปกับเหตุผลของการบวชที่อ้างกันขึ้นใหม่ ๆ โดยไม่สนใจที่จะศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจไปถึงเหตุผลต้นเดิม

ยกตัวอย่างให้เห็นก่อนสัก ๒ ข้อ 

เดี๋ยวนี้อ้างกันว่า บวชก็เพื่อจะได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน มีวุฒิทางการศึกษา เป็นการเลื่อนฐานะหรือพัฒนาตัวเองให้อยู่ในสังคมได้-ซึ่งถ้าไม่บวชก็จะไม่มีโอกาสเช่นนั้น ทั้งเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระในการจัดการศึกษาซึ่งรัฐยังจัดบริการให้แก่ประชาชนได้ไม่ทั่วถึงเต็มที่

ใครได้ฟังก็เห็นด้วยกับเหตุผลเช่นนี้ และทุกวันนี้ก็มีคนที่บวชด้วยเหตุผลเช่นนี้กันเป็นอันมาก

บวชแล้วได้เรียน

เรียนแล้วได้วุฒิ

ลาสิกขาก็มีวุฒิเอาไปทำงานเลี้ยงตัวได้ ไม่เป็นภาระของสังคม

บวชอยู่ต่อไปก็เป็นกำลังของพระศาสนา

อีกข้อหนึ่ง เดี๋ยวนี้อ้างกันว่า พระอยู่กับสังคม เพราะฉะนั้นบวชแล้วต้องช่วยสังคม พระที่ช่วยสังคมเป็นพระดี พระที่มุ่งปฏิบัติธรรม เอาตัวรอดไปคนเดียว เป็นพระเห็นแก่ตัว

ถามว่า-แล้วเหตุผลต้นเดิมที่แท้จริงของการบวชคืออะไร 

ไม่รู้ ไม่อยากรู้ จะต้องรู้ไปทำไม ไร้สาระ

บวชแล้วทำอะไร ๆ ไปตามที่เขานิยมทำกัน นั่นแหละสำคัญกว่า

เหตุผลต้นเดิมที่แท้จริงของการบวชคืออะไร รู้แล้วได้อะไรขึ้นมา 

เวลานี้เรามองไปในแง่นี้กันทั้งนั้น

ผมขออนุญาตนำเข้าสู่การศึกษาเรื่องเดิม-บวชทำไม ทำไมต้องบวช ดังต่อไปนี้

.......................

เมื่อศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะเสื่อมสิ้นลงและผ่านช่วงเวลาที่เรียกว่า “พุทธันดร” (ช่วงเวลาที่โลกไม่รู้จักพระพุทธศาสนา) อันยาวนานไปแล้ว พระพุทธเจ้าโคดม-พระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้จึงอุบัติขึ้นเมื่อประมาณ ๒๖๐๐ มาแล้ว

พระพุทธองค์ประกาศธรรมที่ตรัสรู้ให้ประชาชนได้รับรู้ ผู้ที่ได้ฟังแล้วมีศรัทธาเลื่อมใสออกบวชเป็นจำนวนมาก

เหตุผลที่ออกบวชปรากฏอยู่ในคำรำพึงของผู้ออกบวชเอง ดังที่ท่านบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก

ความต่อไปนี้เป็นพระพุทธดำรัสตรัสแก่พระเจ้าอชาตศัตรู ณ สวนมะม่วงของหมอชีวก ทรงแสดงถึงบุคคลที่สนใจพระพุทธศาสนาจนถึงได้ฟังธรรมแล้วออกบวช

.........................................................

โส  ตํ  ธมฺมํ  สุตฺวา  ตถาคเต  สทฺธํ  ปฏิลภติ  ฯ 

ครั้นฟังธรรมนั้นแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต

โส  เตน  สทฺธาปฏิลาเภน  สมนฺนาคโต  อิติ  ปฏิสญฺจิกฺขติ  

เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า

สมฺพาโธ  ฆราวาโส 

ฆราวาสคับแคบ

รชาปโถ 

เป็นทางมาแห่งธุลี

อพฺโภกาโส  ปพฺพชฺชา 

บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง

นยิทํ  สุกรํ  อคารํ  อชฺฌาวสตา  เอกนฺตปริปุณฺณํ  เอกนฺตปริสุทฺธํ  สํขลิขิตํ  พฺรหฺมจริยํ  จริตุํ  

การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย

ยนฺนูนาหํ  เกสมสฺสุํ  โอหาเรตฺวา  กาสายานิ  วตฺถานิ  อจฺฉาเทตฺวา  อคารสฺมา  อนคาริยํ  ปพฺพเชยฺยนฺติ  ฯ 

อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด

.........................................................

นี่คือเหตุผลต้นเดิมของการมีเพศบรรพชิตขึ้นในพระพุทธศาสนา

ออกบวชแล้วทำอะไรกันบ้าง?

โปรดสดับต่อไป -

.........................................................

โส  เอวํ  ปพฺพชิโต  สมาโน  ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต  วิหรติ  

เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์

อาจารโคจรสมฺปนฺโน 

ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร (คือความประพฤติปฏิบัติอันสมควรแก่ภูมิเพศบรรพชิต)

อณุมตฺเตสุ  วชฺเชสุ  ภยทสฺสาวี 

โทษผิดเพียงเล็กน้อยก็เห็นว่าเป็นภัยน่ากลัว (ไม่กล้าล่วงละเมิด)

สมาทาย  สิกฺขติ  สิกฺขาปเทสุ 

สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

กายกมฺมวจีกมฺเมน  สมนฺนาคโต  กุสเลน 

ประกอบด้วยกายกรรมวจีกรรมที่เป็นกุศล

ปริสุทฺธาชีโว 

เลี้ยงชีพอย่างบริสุทธิ์

สีลสมฺปนฺโน 

ถึงพร้อมด้วยศีล

อินฺทฺริเยสุ  คุตฺตทฺวาโร 

คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

(ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ฯลฯ มีสติรู้เท่านั้น ไม่หลงชอบหลงชังตามไป)

สติสมฺปชญฺเญน  สมนฺนาคโต 

ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ 

สนฺตุฏฺโฐ  ฯ 

เป็นผู้สันโดษ

ที่มา: สามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๑๐๒

.........................................................

นี่คือที่มาของคำตอบว่า บวชแล้วต้องทำอะไร

ลองพิจารณาเทียบเคียงดูเถิดว่า ที่บวชกันทุกวันนี้ บวชแล้วทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ในฐานะเป็นภารกิจสำคัญในชีวิตประจำวันกันหรือเปล่า

เพราะไม่ได้ศึกษาเรื่องเดิม ชีวิตประจำวันของบรรพชิตจึงผิดเพี้ยนไปจากเดิม 

เช่นไปทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของบรรพชิต แต่พากันเห็นว่าทำแบบนั้นดี แล้วก็พากันทำอยู่ทั่วไป 

เวลานี้อาจพูดได้ว่า ชาวบ้านทำอะไร นิยมอะไร พระก็ทำอย่างนั้น นิยมอย่างนั้น ก็คือ ออกจากความเป็นชาวบ้านมาเป็นชาววัดแล้ว แต่ก็ยังทำเหมือนชาวบ้านอยู่นั่นเอง

.......................

ความจริง การที่พระทำอะไร ๆ เหมือนชาวบ้านนั้น มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นที่มาของสำนวนบาลีในพระไตรปิฎกว่า “ยเถว  มยํ … เอวเมวิเม … (ยะเถวะ มะยัง … เอวะเมวิเม) 

แปลว่า: “พวกเรา-อย่างไร … พระพวกนี้ก็-อย่างนั้น” 

สรุปว่า พระทำอย่างนี้ก็เหมือนพวกเราชาวบ้าน

ในพระวินัยปิฎกจะพบสำนวน “ยเถว  มยํ … เอวเมวิเม …” หลายแห่ง

นี่ก็เป็น “เรื่องเดิม” อีกอย่างหนึ่งที่ชาววัดสมัยนี้ไม่ได้ศึกษา

เมื่อไม่ได้ศึกษา ก็จึงไม่ค่อยได้ตระหนักว่า ชาวบ้านเขาตำหนิพระที่ทำอะไร ๆ เหมือนชาวบ้านว่าอย่างไรบ้าง

รวมทั้งไม่ค่อยได้ตระหนักว่า ชาวบ้านนับถือเลื่อมใสพระแบบไหน หรือควรนับถือเลื่อมใสพระแบบไหน พระที่เหมือนชาวบ้าน หรือพระที่เป็นพระอย่างที่พระควรจะเป็น

ถึงตรงนี้ ก็มีประเด็นเกิดขึ้นอีก คือ ชาวบ้านใช้เหตุผลอะไรในการนับถือเลื่อมใสพระแบบนั้นพระแบบนี้ และเหตุผลต้นเดิมที่ถูกต้องในการนับถือเลื่อมใสพระในพระพุทธศาสนาควรจะเป็นเช่นไร

ก็ต้องศึกษาเรื่องเดิมกันอีกเรื่องหนึ่ง-ทำไมเมื่อคนบวชเป็นพระแล้วเราจึงนับถือเลื่อมใส?

-----------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

๑๘:๒๙ 

[full-post]

ศึกษาเรื่องเดิม - บวชทำไม ทำไมต้องบวช

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.