ไปให้ถึงยอดอริยสัจ
------------------
อริยสัจสี่เป็นหลักธรรมที่ชาวพุทธที่พอจะเรียนรู้พระพุทธศาสนาอยู่บ้างย่อมรู้จักกันดี อย่างน้อย ๆ ก็ระบุหัวข้อทั้งสี่ได้ถูก ว่าคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ผู้รู้ของไทยเราได้ย่อคำว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็น ทุ. ส. นิ. ม. เรียกว่า “หัวใจอริยสัจ”
เคยเห็นกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานการศึกษาเอาคำย่อ ทุ. ส. นิ. ม. ไปใส่ไว้ในตราและประกาศนียบัตรด้วย
ความหมายของอริยสัจสี่แสดงเป็นภาษาสมัยใหม่ว่า -
ทุกข์ คือตัวปัญหา หรือเรื่องที่จะต้องแก้ไขที่เกิดขึ้น
สมุทัย คือสาเหตหรือเบื้องหลังของปัญหา
นิโรธ คือเมื่อแก้ปัญหาได้แล้วความสุขความเจริญจะเกิดขึ้นอย่างไร
มรรค คือวิธีแก้ปัญหาต้องทำอะไรอย่างไร
วิธีปฏิบัติต่ออริยสัจทั้งสี่นั้นท่านแสดงไว้ว่า -
ทุกข์ ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
สมุทัย ต้องกำจัด
นิโรธ ต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่าทำเช่นนั้นเพื่ออะไร
มรรค ต้องลงมือทำจนเกิดผลจริง ๆ
.......................
ในบรรดาความคิดเห็นที่แสดงกันต่อสาธารณชน ถ้าสังเกตก็จะพบว่า ส่วนมากเป็นการบรรยายสภาพปัญหา พรรณนาให้เห็นภาพว่าเกิดอะไรขึ้น ว่ากันละเอียดอยู่ในจุดนี้
เทียบกับอริยสัจสี่ก็คืออยู่ในขั้นบรรยายเรื่องทุกข์
อย่างดีขึ้นมาอีกก็ชี้บอกว่าสาเหตุหรือเบื้องหลังของปัญหามาจากอะไร
นั่นคือสมุทัย
แล้วก็มักจบลงด้วยการบอกว่าสังคมไม่ควรจะมีปัญหาอย่างนี้ พร้อมกับตั้งความหวังว่าควรจะรีบแก้ปัญหาให้ลุล่วงไป
นี่ก็คือนิโรธ
แต่จะลงมือแก้ปัญหาอย่างไร
หนึ่ง ต้องทำอะไร ทำอย่างไร
สอง แล้วทำอะไรต่อไป
สาม ...
สี่ ...
ห้า ... ทำอะไร
และที่สำคัญที่สุด ใครจะต้องเป็นคนลงมือ
และทำอย่างไรคนที่ต้องลงมือนั้นจึงจะลงมือจริง ๆ
จุดสำคัญเหล่านี้ ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนมากจะไม่ได้บอก
คือจบแค่นิโรธ-ตั้งความหวัง
แต่ไปไม่ถึงมรรค-ลงมือทำ
.......................
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่อุดมไปด้วยหลักคำสอนที่ดี
โลกเราไม่ได้ขาด “หลักคำสอนที่ดี”
และไม่ได้ขาดข้อเสนอแนะที่ดีแต่ประการใดเลย
แต่โลกขาด “กลวิธี” ที่จะทำให้ผู้คนนำคำสอนและข้อเสนอแนะที่ดีไปปฏิบัติ
เพราะเขาไม่รู้ว่ามีคำสอนที่ดีอยู่ในโลก-ก็อาจเป็นเหตุหนึ่ง
แต่ในยุคไฮเทค ปัญหานี้ไม่น่าจะเป็นปัญหา
คือไม่ควรยากเย็นอะไรเลยที่จะทำให้ผู้คนรู้ว่ามีคำสอนที่ดีอยู่ในโลก
ขนาดนั่งอยู่คนละซีกโลกก็ยังคุยกันได้
แต่ทำอย่างไร-ใช้เทคนิคอะไร ผู้คนจึงจะเอาคำสอนดี ๆ เช่นนี้ไปปฏิบัติกันจริง ๆ
นี่ต่างหากที่เป็นปัญหา
เรายังไม่มีคำตอบชนิดที่ “เจ๋ง” จริง ๆ เอามาใช้แก้ปัญหานี้
นักปราชญ์หรือคนฉลาดที่จะช่วยกันคิดหาคำตอบสำหรับปัญหานี้-ทำอย่างไรผู้คนจึงจะเอาคำสอนดี ๆ ไปปฏิบัติกันจริง ๆ-ก็ดูเหมือนว่าท่านไม่ค่อยได้สนใจประเด็นนี้กันเท่าไรด้วย
ส่วนมากถนัดแต่พรรณนาปัญหา
ชี้สาเหตุของปัญหา
แล้วก็ตั้งความหวัง
แต่จะแก้ปัญหาอย่างไร - อาจมีคำตอบอยู่บ้าง หนึ่ง-ทำอย่างนี้ สอง-ทำอย่างนั้น
แต่พอถึงจุดที่ว่า-ใครจะเป็นคนแก้ใครจะเป็นคนทำ
ประโยคสำเร็จรูปที่นิยมพูดกันก็คือ -
“เราทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน”
แล้วจะลงมือเมื่อไร ใครจะเป็นคนลงมือ
ไม่รู้
แต่ที่แน่ ๆ-ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า
จบ
ความคิดเห็นดี ๆ ข้อเสนอแนะดี ๆ มักจะจบแบบนี้
เพราะทุกคน-แม้แต่คนที่เสนอแนะความเห็นดี ๆ นั่นเอง-มักคิดกันอย่างนี้
คนที่เอาคำสอนดี ๆ ไปปฏิบัติจริง ๆ จึงมีไม่มาก-ไม่มากพอที่จะเป็นฝ่ายนำโลกได้
.......................
อริยสัจสี่เป็นคำสอนที่ดีเลิศ
แต่เราไปกันไม่ถึงยอดของอริยสัจ-คือการลงมือปฏิบัติให้เกิดผลเป็นจริง
การนำเอาคำสอนที่ดีไปลงมือปฏิบัติอย่างถูกต้องเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาทั้งปวงได้
และวิธีที่จะเพิ่มจำนวนผู้เอาคำสอนที่ดีไปลงมือปฏิบัติก็ไม่มีวิธีไหนแน่นอนเท่ากับแต่ละคนลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอใคร
ไม่ใช่-มีแต่คนพูด บอกให้คนอื่น ๆ ทำ
แต่ไม่มีคนลงมือทำ
ต้องพูดด้วย ลงมือทำด้วย
พูดไม่เป็นก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องพูด แต่ลงมือทำจริง ๆ
ลงมือปฏิบัติจริง ๆ ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอใคร
วิธีไปให้ถึงยอดอริยสัจ-คือลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง
ไปกันหรือยังล่ะครับ-ลงมือปฏิบัติ ลงมือแก้ปัญหา
-----------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
๑๙:๑๘
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ