ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,256)


วรรณศิลป์

คืออะไร

อ่านว่า วัน-นะ-สิน

ประกอบด้วยคำว่า วรรณ + ศิลป์

(๑) “วรรณ” 

บาลีเป็น “วณฺณ” อ่านว่า วัน-นะ รากศัพท์มาจาก วณฺณ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง) + อ (อะ) ปัจจัย

: วณฺณ + อ = วณฺณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องประกาศเนื้อความ”

“วณฺณ” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เป็นเครื่องประดับความรู้ ดังต่อไปนี้ :

(ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ)

(1) สี (colour)

(2) รูปร่าง (appearance)

(3) ความรุ่งโรจน์โชติช่วง, ความแพรวพราว (lustre, splendor)

(4) ความงาม (beauty)

(5) สีหน้า, ท่าทาง (expression, look)

(6) สีของผิวเนื้อ, รูปร่าง, ผิวพรรณ (colour of skin, appearance of body, complexion)

(7) ชนิด, ประเภท (kind, sort เช่น นานาวณฺณ = ต่างๆ ชนิดกัน)

(8 ) “ลักษณะของเสียง” (timbre of voice) = อักษร (the alphabet)

(9) องค์ประกอบ, ความเหมือนกัน, สมบัติ; เหมือน (constitution, likeness, property; like เช่น อคฺคิวณฺณํ = เหมือนไฟ = like fire)

(10) ความประทับใจที่ดี, การสรรเสริญ (good impression, praise)

(11) เหตุผล (reason, ความหมายนี้ ฝรั่งแปลตามศัพท์ว่า “outward appearance” = ท่าทางภายนอก)

ในที่นี้ “วณฺณ” มีความหมายตามนัยแห่งข้อ (8 ) และข้อ (10)

บาลี “วณฺณ” สันสกฤตเป็น “วรฺณ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ - 

(สะกดตามต้นฉบับ) 

“วรฺณ : (คำนาม) ‘วรรณ,’ ชาติ, วรรค, จำพวก, พวก; สี; เครื่องตกแต่งช้าง; ลักษณะ, คุณสมบัติ; เกียรติ, ประสิทธิ; สดุดี; สุวรรณ; พรต; การจัดเพลงหรือกาพย์; ราคินีหรือคีตวิธา; โศภา, ความงาม; เครื่องแต่งตัวลคร; สุคนธ์; อักษร; รูป, ทรง; เภท, ประเภท; a trible, a class, caste, an order; colour, tint; an elephant’s housings, quality, property; fame, celebrity; praise; gold; religious observance; the arrangement of a song or poem; a musical mode; beauty, luster; theatrical dress or embellishment; perfume; a letter of the alphabet; form; figure; sort, kind.”

ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “วรรณ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“วรรณ-, วรรณะ : (คำนาม) สี เช่น เบญจวรรณ แปลว่า ๕ สี, มักใช้เข้าคู่กับคำ สีสัน เป็น สีสันวรรณะ; ผิว เช่น ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ, มักใช้เข้าคู่กับคำ ผิวพรรณ เป็น ผิวพรรณวรรณะ; ชั้นชน, ในสังคมฮินดูแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร; หนังสือ เช่น วรรณกรรม วรรณคดี. (ส. วรฺณ; ป. วณฺณ).”

(๒) “ศิลป์” 

เป็นรูปคำสันสกฤต “ศิลฺป” บาลีเป็น “สิปฺป” อ่านว่า สิบ-ปะ รากศัพท์มาจาก -

(1) สปฺปฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, ลง อิ อาคมต้นธาตุ (สปฺป > สิปฺป)

: สปฺป > สิปฺป + อ = สิปฺป แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องดำเนินไปแห่งชีวิต” = อาศัย “สิ่งนั้น” จึงเลี้ยงชีวิต คือทำชีวิตให้ดำเนินไปได้

(2) สิ (ธาตุ = เสพ) + ป ปัจจัย, ซ้อน ปฺ 

: สิ + ปฺ + ป = สิปฺป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ปรารถนาประโยชน์แห่งตนเสพอาศัย” = ถ้าต้องการประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องอาศัยศึกษาเรียนรู้ “สิ่งนั้น” จนทำได้ทำเป็น แล้วใช้สิ่งนั้นยังประโยชน์ให้เกิดตามต้องการ

“สิปฺป” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ศิลปะ, แขนงของความรู้, การช่าง (art, branch of knowledge, craft)

“สิปฺป” (สิบ-ปะ) ในบาลี หมายถึง ความรู้ความสามารถที่จะจัดจะทำอะไร ๆ ได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ชั้นที่สุดเอาใบไม้มาเป่ากับปากให้เป็นเพลง ก็เรียกว่า “สิปฺป” หรือ “ศิลปะ” ได้เช่นกัน

สรุปสั้น ๆ: ทำได้ทำเป็น คือความหมายของ “สิปฺป” ในบาลี

บาลี “สิปฺป” สันสกฤตเป็น “ศิลฺป” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ - 

(สะกดตามต้นฉบับ) 

“ศิลฺป : (คำนาม) ‘ศิลปะ,’ กลา, หัสตหรือยันตรวิทยาอย่างใดอย่างหนึ่ง, ดุจหัสตกรรม, ฯลฯ; an art, any manual or mechanical art, as handicraft etc.”

บาลี “สิปฺป” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ศิลป” 

(ก) คำนี้ถ้าอยู่คำเดียว 

- ต้องการให้อ่านว่า สิน-ละ-ปะ เขียนว่า “ศิลปะ” (ประวิสรรชนีย์ที่ ป) 

- ต้องการให้อ่านว่า สิน เขียนว่า “ศิลป์” (การันต์ที่ ป)

- เขียนว่า “ศิลป” จะอ่านว่า สิน-ละ-ปะ ไม่ได้ อ่านว่า สิน ก็ไม่ได้ 

(ข) ถ้าสมาสกับคำอื่น อยู่ต้นหรือกลางคำ และอ่านว่า สิน-ละ-ปะ ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ ป เช่น ศิลปศาสตร์ (สิน-ละ-ปะ-สาด) ไม่ใช่ ศิลปะศาสตร์

คำว่า สิปฺป > ศิลป หมายถึงอะไรได้บ้าง :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิปฺป” คำหนึ่งว่า art

พจนานุกรมสอ เสถบุตร แปล art ว่า วุฒิสามารถ, เล่ห์กระเท่ห์, อุบาย

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล art กลับเป็นบาลีว่า -

(1) sippa สิปฺป (สิบ-ปะ) = หลักความรู้

(2) kosalla โกสลฺล (โก-สัน-ละ) = ความฉลาด

(3) nepuñña เนปุญฺญ (เน-ปุน-ยะ) = ความจัดเจน

(4) cittakamma จิตฺตกมฺม (จิด-ตะ-กำ-มะ) = ภาพวาด, การวาดภาพ

(5) kalā กลา (กะ-ลา) = ชั้นเชิง > กล

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ศิลป-, ศิลป์ ๑, ศิลปะ : (คำนาม) ฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตรพิสดาร, เช่น รูปสลักวีนัสเป็นรูปศิลป์ เขาทำดอกไม้ประดิดประดอยอย่างมีศิลปะ ผู้หญิงสมัยนี้มีศิลปะในการแต่งตัว; การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่าง ๆ อย่างเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง เป็นต้น เช่น วิจิตรศิลป์ ศิลปะการดนตรี ศิลปะการวาดภาพ ศิลปะการละคร. (ส. ศิลฺป; ป. สิปฺป ว่า มีฝีมืออย่างยอดเยี่ยม).”

ในที่นี้ “ศิลป” อยู่ท้ายคำ ต้องการให้อ่านว่า สิน จึงสะกดเป็น “ศิลป์” (การันต์ที่ ป)

วรรณ + ศิลป์ = วรรณศิลป์” (วัน-นะ-สิน) แปลว่า “ศิลปะในการแต่งหนังสือ” หรือ “หนังสือที่แต่งอย่างมีศิลปะ” 

ขยายความ :

ความหมายที่ 2 ตามที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ในนิยามคำว่า “ศิลป์” คือ “การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่าง ๆ” 

พจนานุกรมฯ ยกตัวอย่างว่า “เสียง เส้น สี ผิว รูปทรง เป็นต้น” สิ่งสำคัญที่ไม่ได้ระบุไว้ในตัวอย่างคือ “ภาษา”

“การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยการใช้ภาษา” ก็เป็น “ศิลป์” หรือ “ศิลปะ” อย่างหนึ่ง และนั่นคือความหมายของ “วรรณศิลป์”

“วรรณศิลป์ : (คำนาม) ศิลปะในการประพันธ์หนังสือ เช่น ลิลิตพระลอเป็นวรรณคดีที่มีวรรณศิลป์สูงส่ง, ศิลปะทางวรรณกรรม เช่น นักวรรณศิลป์; วรรณกรรมที่ถึงขั้นเป็นวรรณคดี, หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี.”

..............

ดูก่อนภราดา!

: คนโลภ ใช้วรรณศิลป์ได้เพียงแค่อุปกรณ์หาทรัพย์

: คนมีปัญญาถึงระดับ ใช้วรรณศิลป์เป็นอุปกรณ์ดำเนินถึงพระนฤพาน 

[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,วรรณศิลป์

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.