ค่าของพระพุทธปฏิมากับค่าของการเรียนบาลี (๑)
---------------------------------------------
พระพุทธปฏิมาหรือพระพุทธรูปนั้น ได้ยินมาว่าคนต่างศาสนาบางศาสนาเขาเรียกว่า “รูปเคารพ”
และเรียกศาสนาที่มีรูปเคารพ เช่นพระพุทธศาสนา ว่า-ศาสนาที่บูชารูปเคารพ
พระพุทธปฏิมา ในสายตาของศาสนาที่ปฏิเสธรูปเคารพ เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าขยะแขยง และถูกมองไกลไปถึงว่า ผู้ที่เคารพพระพุทธปฏิมาเป็นมนุษย์ที่งมงายไร้สาระ
อย่าว่าถึงคนต่างศาสนาเลย แม้แต่คนที่แสดงตนอยู่ในสังกัดพระพุทธศาสนานี่เองแท้ ๆ ก็มีหลายคนหลายสำนักที่โจมตีพระพุทธปฏิมา
เคยเห็นมีผู้แสดงความเห็นว่า พระไหว้แม่ดีกว่าไหว้พระพุทธรูป
เรื่องพระพุทธปฏิมากับพระพุทธศาสนา เมื่อก่อนไม่มีปัญหา แต่คนสมัยนี้กลับไม่เข้าใจ
ไม่เข้าใจยังพอว่า แต่เข้าใจผิดนี่สิ ยุ่งมาก
...................
พระพุทธปฏิมาเป็นเครื่องช่วยให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ-คุณพระรัตนตรัย
พระพุทธปฏิมาอุปมาเหมือนอุปกรณ์ฝึกว่ายน้ำ
เด็กที่ว่ายน้ำไม่เป็น ลงน้ำต้องมีอุปกรณ์-เช่นห่วงยาง-ช่วยไม่ให้จมน้ำ
เมื่อว่ายน้ำเป็นแล้วก็ไม่ต้องใช้ห่วงยางอีกต่อไป
ไม่มีเด็กหัดว่ายน้ำคนไหนไม่ต้องใช้อุปกรณ์
ไม่มีนักว่ายน้ำคนไหนสวมอุปกรณ์ลงแข่งว่ายน้ำ
เนื่องจากศักยภาพหรือที่ภาษาธรรมเรียกว่า “อินทรีย์” ของมนุษย์แต่ละคนมีไม่เท่ากัน บางคนระลึกถึงพระพุทธคุณได้โดยสติปัญญาล้วน ๆ บางคนต้องอาศัยผู้แนะนำ หรืออาศัยบางสิ่งบางอย่างเป็นสื่อชักจูง พระพุทธปฏิมาจึงเป็นประโยชน์แก่ผู้มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้าใช้เป็นสื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ
เมื่อฝึกระลึกถึงจนอินทรีย์แก่กล้าคล่องแคล่วดีแล้ว คราวนี้จะระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเมื่อไรก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยพระพุทธปฏิมาอีกต่อไป
แต่ไม่ได้แปลว่า เมื่อถึงตอนนั้นก็ให้ทำลายพระพุทธปฏิมานั้นทิ้งเสียเพราะไม่ต้องใช้เป็นเครื่องช่วยฝึกอีกแล้ว
คนที่มาข้างหลัง-ที่อินทรีย์ยังอ่อนอยู่ยังมีอีกมาก
คนเหล่านั้นจะได้อาศัยพระพุทธปฏิมานั้นเป็นอุปกรณ์ช่วยระลึกถึงพระรัตนตรัย-เหมือนกับที่เราเคยได้ใช้มา-ต่อไปได้อีก
นี่คือเหตุผลที่สร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นมาและดูแลรักษาพระพุทธปฏิมานั้นไว้สืบมา
พระพุทธปฏิมาทุกองค์ไม่ได้เกิดขึ้นได้เอง แต่ต้องมีผู้สร้างขึ้น
พระพุทธปฏิมาประจำที่อันมีอยู่ในแดนดินถิ่นต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนนั้น ๆ สร้างขึ้น
ถ้าเผอิญใครจะรู้สึกขัดหูขัดตา หรือถึงขั้นเห็นว่าเป็นอัปรีย์จังไรที่มีพระพุทธปฏิมาอยู่ตรงนั้น และต้องการจะทำลายให้สูญสิ้นไป (ดังที่เคยมีผู้ทำเช่นนั้นเป็นที่รู้เห็นกันทั่วโลกมาแล้ว) ก็ขอให้ลองคิดดูว่า -
ชนชาติที่สร้างพระพุทธปฏิมาไว้ตรงนั้นตอนนี้เขาไปอยู่ที่ไหน
เขายินยอมยกดินแดนตรงนั้นถวายให้แก่ผู้เข้าไปครอบครองอยู่ในปัจจุบัน
หรือว่าผู้เข้าไปครอบครองดินแดนนั้นอยู่ในปัจจุบันเข้าไปรุกรานขับไล่ยื้อแย่งยึดครองดินแดนนั้นโดยอำนาจป่าเถื่อน
แล้วใช้อำนาจป่าเพื่อนนั้นทุบทำลายพระพุทธปฏิมาที่เขาสร้างขึ้นด้วยศรัทธาให้พินาศสูญสิ้น
และนั่นเป็นการกระทำของผู้เจริญแล้ว-กระนั้นหรือ?
...................
คราวนี้ย้อนกลับมาดูพระพุทธปฏิมาที่มีอยู่ในประเทศไทย
พระพุทธปฏิมาที่สร้างขึ้นไว้ประจำที่แห่งหนึ่ง อาจถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ในที่อีกแห่งหนึ่ง
จากวัดหนึ่งไปไว้อีกวัดหนึ่งในภูมิภาคเดียวกันก็มี
จากภูมิภาคหนึ่งไปอีกภูมิภาคหนึ่งก็มี
จากรัฐหนึ่งไปอีกรัฐหนึ่งก็มี
จะเรียกว่ายื้อแย่งปล้นชิงหรือจะเรียกอะไร ก็แล้วแต่จะคิดจะเรียก
แต่ย่อมกระทำด้วยศรัทธาปรารถนาจะได้ไว้สักการบูชา
ใช้สำนวนว่า-อัญเชิญไปประดิษฐาน
เช่นพระแก้วมรกต จากประเทศนั้นประเทศนี้ ในที่สุดมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ
เช่นพระพุทธชินราชจังหวัดพิษณุโลก ก็เคยมีความคิดจะอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ แต่เดชะเทพยดาบันดาลให้ระงับความคิดนั้นเสียได้ พระพุทธชินราชจึงยังคงประดิษฐานที่จังหวัดพิษณุโลกสืบมา
...................
ยังมีการเคลื่อนย้ายพระพุทธปฏิมาอีกวิธีหนึ่งที่นิยมประพฤติกันจนทุกวันนี้ นั่นคือวิธีโจรกรรม
เมื่อคิดคำนึงถึงเจตนารมณ์ของการสร้างพระพุทธปฏิมาแล้ว วิธีโจรกรรมจัดว่าเป็นวิธีที่วิปริตสุดขั้วโลก
เล่าเป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง-เรื่องจริงและผมอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ขอม สร้างพระพุทธปฏิมาที่เรียกขานกันว่า “พระชัยพุทธมหานาค” ทั้งหมด ๒๐ กว่าองค์เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานตามหัวเมืองที่อยู่ในอำนาจขอมในสมัยนั้น หนึ่งในเมืองเหล่านั้นคือ ชยราชปุระ หรือราชบุรีในปัจจุบัน
พระชัยพุทธมหานาคนี้ปัจจุบันเหลือแค่องค์เดียวที่วัดมหาธาตุราชบุรี ส่วน ๒๐ กว่าองค์นอกนั้นไม่เหลือแล้ว
องค์ที่อยู่ที่วัดมหาธาตุราชบุรีก็เกือบจะไม่เหลือเหมือนกัน ขโมยมายกเอาไป แต่พระที่เฝ้าอยู่ท่านเห็นเสียก่อน ยกเคลื่อนที่ไปได้ไม่ไกล ตั้งแต่นั้นมาต้องดูแลรักษากันอย่างแข็งแรง
ถามว่า ขโมยพระเอาไปทำไม?
ตอบว่า เอาไปขาย
แล้วคนรับซื้อ รับซื้อไปทำไม?
รับซื้อเอาไปขายต่อ
คนรับซื้อต่อ รับซื้อต่อเอาไปทำไม?
เอาไปขายให้เศรษฐี-นักสะสมของเก่า
แล้วเศรษฐี-นักสะสมของเก่าซื้อเอาไปทำไม?
ซื้อเอาไปดู ...
นี่สมัยทวาฯ นี่สมัยเชียงแสน
นี่สมัยอู่ทองยุคต้น นี่อู่ทองยุคปลาย
นี่สมัยอยุธยา นี่สมัยรัตนฯ
นี่เนื้อสัมฤทธิ์ นี่เนื้อชิน
นี่เนื้อหินเขียว นี่เนื้อหินทรายสีชมพู
ฯลฯ
พระเกศอย่างนั้น
พระกรรณอย่างนี้
พระพักตร์อย่างโน้น
ฯลฯ
เศรษฐี-นักสะสมของเก่ารับซื้อพระที่โจรกรรมมาล้วนแต่เอามาดูในแง่ที่เรียกกันว่า “พุทธศิลป์” แบบนี้ทั้งนั้น
ไม่มีใครดูเพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นบาทฐานสำหรับเจริญวิปัสสนาเพื่อบรรลุมรรคผลต่อไป-ให้สมกับเจตนารมณ์ของการสร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นมา
...................
เป็นอันว่า -
ขโมย มองพระพุทธปฏิมาเป็น “ทรัพย์”
เศรษฐี-นักสะสมของเก่า มองพระพุทธปฏิมาเป็น “ศิลป์”
ไม่มีใครมองพระพุทธปฏิมาในฐานะเป็น “สื่อ” เพื่อเข้าถึงธรรม
เขาสร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อเข้าถึงธรรม
แต่โจรกรรมพระพุทธปฏิมาเอาไปดูเป็นงานศิลปะ
ถ้าไม่เรียกว่าวิปริตสุดขั้วโลก จะเรียกว่าอะไร
พฤติกรรมแบบนี้ ผมมองเปรียบเทียบไปถึงค่านิยมการเรียนบาลีในบ้านเรา
เปรียบเทียบว่าอย่างไร
คงต้องหาโอกาสอธิบายต่อไป
------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
๑๔:๓๕
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ