ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (4,265)
ดันทุรัง
ดันเข้าคลังบาลีอีกสักคำ
“ดันทุรัง” เป็นคำไทย อ่านว่า ดัน-ทุ-รัง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ดันทุรัง : (คำวิเศษณ์) ดื้อดึงไม่ยอมแพ้, ดื้อดึงไม่เข้าเรื่อง, ดัน ก็ว่า.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “ดันทุรัง” เป็นภาษาอะไรหรือมาจากภาษาอะไร
“ดัน” เป็นคำไทยแน่นอน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ดัน : (คำกริยา) ทำให้เคลื่อนที่ออกจากตัว เช่น ดันประตูให้เปิด, ยันหรือค้ำไว้ เช่น ดันประตูไว้ไม่ให้เข้ามา; (ภาษาปาก) ใช้เป็นคำไม่สุภาพหมายถึงขืนทำ เช่น กางเกงคับยังดันสวมเข้าไปได้, ทำสิ่งที่ไม่น่าจะทำ เช่น ดันขึ้นไปอยู่บนยอดไม้.”
แล้ว “ทุรัง” เป็นภาษาอะไร?
เมื่อพจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกไว้ ก็ต้องใช้วิธีเดา เรียกให้เป็นวิชาการก็ว่าสันนิษฐาน
ผู้เขียนบาลีวันละคำสันนิษฐานว่า “ทุรัง” มาจาก “ทุร” ในบาลีสันสกฤต
คำรูปร่างอย่างนี้ พจนานุกรมฯ เก็บไว้ 2 คำ คือ “ทุร-” (ทุ- สระอุ) และ “ทูร-” (ทู- สระอู) บอกไว้ดังนี้ -
(1) ทุร- : (คำวิเศษณ์) คำประกอบหน้าคำศัพท์ หมายความว่า ชั่ว, ยาก, ลำบาก, น้อย, ไม่มี, เช่น ทุรค ว่า ที่ไปถึงยาก, ทางลำบาก. (ส.).
(2) ทูร- : (คำวิเศษณ์) คำประกอบหน้าคำศัพท์ หมายความว่า ไกล เช่น ทูรบถ ทูรมรรคา ว่า ทางยาว, ทางไกล. (ป.).
บาลี “ทุร” มาจาก “ทุ” คำอุปสรรค นักเรียนบาลีจำคำแปลกันมาว่า “ชั่ว, ยาก, ลำบาก, ทราม, น้อย”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทุ” ว่า bad, wrong, perverseness, difficulty, badness (ชั่ว, ผิด, ยาก, ลำบาก, ทราม, การใช้ไปในทางที่ผิด, ความยุ่งยาก, ความเลว)
หลักของการประกอบ “ทุ” หน้าคำอื่น :
๑ ถ้าเป็นคำที่ขึ้นต้นด้วยสระ แปลง ทุ เป็น ทุร หรือจะว่าลง ร-อาคม (ระ-อา-คม) ก็ได้ เช่น -
ทุ + อภิรม : ทุ > ทุร (ทุ + ร) + อภิรม = ทุรภิรม = ยากที่จะยินดี
ทุ + อาคต : ทุ > ทร (ทุ + ร) + อาคต = ทุราคต = มาถึงได้ยาก
๒ ถ้าเป็นคำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้ซ้อนพยัญชนะตัวหน้าของคำนั้น เช่น -
ทุ + กร : ทุ + กฺ + กร = ทุกฺกร = ทำได้ยาก
ทุ + จริต : ทุ + จฺ + จริต = ทุจฺจริต = ประพฤติชั่ว
ทุ + พล : ทุ + พฺ + พล = ทุพฺพล = กำลังน้อย, ไม่มีกำลัง
๓ คำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ถ้าไม่แปลง ทุ เป็น ทุร (หรือไม่ลง ร-อาคม) และไม่ซ้อนพยัญชนะตัวหน้าเนื่องจากไม่นิยมใช้เป็นตัวซ้อน ให้แปลง ทุ เป็น ทู หรือจะว่า ทีฆะ อุ เป็น อู ก็ได้ เช่น -
ทุ + วิญฺเญยฺย : ทุ > ทู + วิญฺเญยฺย = ทูวิญฺเญยฺย = รู้ได้ยาก, ยากที่จะรู้
“ทุ” ที่เปลี่ยนรูปเป็น “ทุร-” ที่เราคุ้นกันในภาษาไทยคำหนึ่งคือ “ทุเรศ” (ดูรายละเอียดที่ “ทุเรศ” บาลีวันละคำ (1,763) 4-4-60) ซึ่งมาจาก ทุร + อีศ แผลง อี เป็น เอ : ทุร + อีศ = ทุรีศ > ทุเรศ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ทุเรศ ๑ : (คำวิเศษณ์) ลักษณะที่ขัดหูขัดตา น่ารังเกียจ หรือน่าสมเพช เป็นต้น, (ภาษาปาก) คำที่เปล่งออกมาแสดงการไม่ยอมรับหรือแสดงความรังเกียจ.”
“ทุเรศ” คำนี้ บางทีพูดแบบมีสร้อยคำเป็น “ทุเรศทุรัง”
สันนิษฐานว่า “ทุรัง” ในคำว่า “ทุเรศทุรัง” นี่เอง ที่เอามาพูดควบกับ “ดัน” หรือจะว่าเอามาเป็นคำสร้อยของ “ดัน” เป็น “ดันทุรัง” ซึ่งพจนานุกรมฯ บอกความหมายไว้ว่า “ดื้อดึงไม่ยอมแพ้, ดื้อดึงไม่เข้าเรื่อง, ดัน ก็ว่า.”
ที่ว่ามานี้เป็นข้อสันนิษฐานของผู้เขียนบาลีวันละคำแต่เพียงผู้เดียว ญาติมิตรทั้งปวงไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยแต่ประการใด
..............
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ารู้จักยอมรับว่าผิด
: ก็เป็นบัณฑิตทันที
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ