ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,263)


ไกรสร

“ราชสีห์” ดูจะมีสง่ากว่า “สิงโต”

อ่านว่า ไกฺร-สอน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ไกรศร, ไกรสร : (คำที่ใช้ในบทกลอน) (คำนาม) สิงโต เช่น เสือคร่งเสือแผ้วเอนกาไลยไกรสรสีหส่งเสียงแขง. (ม. ร่ายยาว มหาพน). (แผลงมาจาก เกสรี).”

ได้ความตามพจนานุกรมฯ ว่า “ไกรสร” แผลงมาจาก “เกสรี”

“เกสรี” บาลีอ่านว่า เก-สะ-รี รากศัพท์มาจาก เกส + ร อาคม + อี ปัจจัย

“เกส” อ่านว่า เก-สะ รากศัพท์มาจาก -

(1) เก (ศีรษะ, หัว) + สี (ธาตุ = อยู่, นอน) + อ (อะ) ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อี ที่ สี (สี > ส)

: เก + สี = เกสี > เกส + อ = เกส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่อยู่บนศีรษะ” 

(2) เก (ศีรษะ, หัว) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบ นฺ ที่สุดธาตุแล้วแปลง ช เป็น ส (ชนฺ > ช > ส) 

: เก + ชนฺ = เกชนฺ + อ = เกชน > เกช > เกส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เกิดอยู่บนศีรษะ” 

“เกส” (ปุงลิงค์) หมายถึง เส้นผม (the hair of the head) 

: เกส + ร = เกสร + อี = เกสรี แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีผม” (คือมีขนที่คอ) 

อีกนัยหนึ่ง แสดงรากศัพท์ว่ามาจาก เกสร + อี ปัจจัย

“เกสร” บาลีอ่านว่า เก-สะ-ระ แปลตามรากศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ร่วงลงไปในน้ำ” (2) “สิ่งที่เป็นไปอยู่บนดอกบัว” (3) “สิ่งที่เล็กละเอียด” ความหมายเดิมมุ่งหมายเฉพาะ “เกสรดอกบัว” ต่อมาขยายไปถึงเกสรดอกไม้อื่น ๆ ทั่วไป และยังหมายถึง ไม้บุนนาค, พิกุล และ มหาหิงคุ์ ได้อีกด้วย 

และจากคำแปลตามศัพท์ที่ว่า “สิ่งที่เล็กละเอียด” “เกสร” จึงหมายถึง เส้นผม อีกด้วย

ในคำว่า “เกสรี” นี้ ท่านว่า “เกสร” ใช้แทนศัพท์ว่า “ชฏา” (ชะ-ตา) ที่หมายถึง มวยผม

: เกสร + อี = เกสรี แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ประกอบด้วยชฎาคือมวยผม” หมายถึงมีขนเป็นมุ่นอย่างมวยผมอยู่ที่คอ

ขยายความ :

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “เกศรินฺ” และ “เกสร” บอกไว้ดังนี้ -

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) เกศรินฺ : (คำนาม) สิงห์, สิงโต; อัศดร, ม้า; ต้นมะนาวหรือมะกรูด; a lion; a horse; the citron tree.

(2) เกสร : (คำนาม) ใย; สิงห์; ม้า; ผมคอม้าหรือสิงห์, ฯลฯ; มหาหิงคุ์; ทองคำ; กาสี (หรือกาศี, หรือธาตุเศขร); a filament; a lion; a horse; the mane of a horse or lion, &c.; asafoetida; gold; sulphate of iron (or green sulphate of iron).

สรุปว่า “เกสรี” ในบาลีหมายถึง สิงโต (โปรดสังเกตและระวัง “สิงโต” สิง- ไม่มี ห การันต์ อย่าเขียนผิด) 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “เกสรี” ว่า having a mane, of a lion, also name of a battle-array (มีขนคอ, พูดถึงสิงโต, ชื่อการจัดขบวนสงครามด้วย) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำที่เกี่ยวกับ “ไกรสร” = สิงโต ราชสีห์ ไว้หลายคำ ขอยกมาเสนอในที่นี้เพื่อประกอบการศึกษา ดังนี้ - 

(1) เกสร : (คำนาม) ส่วนในของดอกไม้โดยมากเป็นเส้น ๆ เช่น เกสรบัว, เรณูหรือผงเหลืองที่มีอยู่ในดอกไม้ ติดอยู่กับก้านเกสรก็มี ติดกับเมล็ดเกาะอยู่กับดอกก็มี, ส่วนสืบพันธุ์ของดอกไม้; (คำแบบ) ขนสร้อยคอสิงโต เช่น เกสรสร้อยศอดังผ้ารัตกัมพล. (ม. ร่ายยาว มหาพน). (ป.; ส. เกสร, เกศร).

(2) เกสรี : (คำแบบ) (คำนาม) สิงโต, สิงห์, ราชสีห์. (ป.).

(3) ไกรศรี ๑ : (คำวิเศษณ์) ผู้ยิ่งด้วยสิริ. (ไกร + ศรี).

(4) ไกรศรี ๒, ไกรสรี : (คำแบบ) (คำนาม) สิงโต. (แผลงมาจาก เกสรี).

(5) ไกรสิทธิ : (คำโบราณ; คำที่ใช้ในบทกลอน) (คำนาม) ราชสีห์ เช่น สูจงนฤมิตรเป็นราชไกรสิทธิ. (ม. คําหลวง มัทรี).

..............

ดูก่อนภราดา!

: ใหญ่ไปเสียทุกที่ ไม่ใช่วิถีแห่งสิงห์

: คนที่ใหญ่จริง ต้องเล็กเป็น

[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,ไกรสร,ราชสีห์,สิงโต

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.