ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,273)


ผู้หญิงนำหน้า

เป็นค่านิยมของบาลี

ในภาษาบาลีเมื่อเอ่ยถึงเพศชายหญิงคู่กัน มีหลายคำที่นิยมเอาคำเพศหญิงนำหน้า เท่าที่นึกได้ตอนนี้มี 3 คำ คือ มาตาปิตา อมฺมตาตา ชายปติกา

(๑) “มาตาปิตา” 

อ่านว่า มา-ตา-ปิ-ตา แยกศัพท์เป็น มาตา + ปิตา 

(ก) “มาตา” เป็นศัพท์ที่แจกรูปตามวิภัตติแล้ว ศัพท์เดิมเป็น “มาตุ” อ่านว่า มา-ตุ รากศัพท์มาจาก -

(1) มานฺ (ธาตุ = รัก, ทะนุถนอม) + ราตุ ปัจจัย, ลบ ร ที่ ราตุ (ราตุ > อาตุ), ลบพยัญชนะที่สุดธาตุและสระ (มานฺ > มา > ม)

: มานฺ > มา > ม + ราตุ > อาตุ : ม + อาตุ = มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักบุตรโดยธรรมชาติ”

(2) ปา (ธาตุ = ดื่ม) + ตุ ปัจจัย, แปลง ป ที่ ปา เป็น ม (ปา > มา)

: ปา + ตุ = ปาตุ > มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม”

มาตุ + สิ วิภัตติ, แปลง อุ กับ สิ เป็น อา = มาตา หมายถึง แม่ (mother) 

“มาตา” คือที่เราแปลงใช้ในภาษาไทยเป็น “มารดา” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มารดา” ไว้กับคำว่า “มารดร” บอกไว้ว่า -

“มารดร, มารดา : (คำนาม) แม่. (ป. มาตา; ส. มาตฺฤ).

(ข) “ปิตา” อ่านวา ปิ-ตา รากศัพท์มาจาก -

(1) ปา (ธาตุ = รักษา, คุ้มครอง) + ริตุ ปัจจัย, ลบ ร ที่ ริตุ (ริตุ > อิตุ), ลบสระที่สุดธาตุ (ปา > ป)

: ปา > ป + ริตุ > อิตุ : ป + อิตุ = ปิตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้คุ้มครองบุตร”

(2) ปิ (ธาตุ = ยินดี, ชอบใจ) + ริตุ ปัจจัย, ลบ ร ที่ ริตุ (ริตุ > อิตุ), ลบสระที่สุดธาตุ (ปิ > ป)

: ปิ > ป + ริตุ > อิตุ : ป + อิตุ = ปิตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักบุตร”

ปิตุ + สิ วิภัตติ, แปลง อุ กับ สิ เป็น อา = ปิตา หมายถึง พ่อ (father) 

“ปิตา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บิดา”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“บิดา : (คำนาม) พ่อ (ใช้ในภาษาทางการ), โดยปริยายหมายความว่า ผู้ให้กำเนิด เช่น บิดาแห่งประวัติศาสตร์. (ป. ปิตา; ส. ปิตฤ).”

การประสมคำ :

มาตา + ปิตา = มาตาปิตา (มา-ตา-ปิ-ตา) แปลว่า “มารดาและบิดา” 

รูปคำอื่นที่พบได้ คือ

- มาตาปิตุ เช่น มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ แปลว่า “การบำรุงมารดาและบิดา” 

- มาตาปิตโร เป็นรูปคำที่แจกด้วยปฐมาวิภัตติ พหุวจนะ แปลโดยพยัญชนะว่า “อันว่ามารดาและบิดาทั้งหลาย”

จะเห็นได้ว่า มารดาคือเพศหญิงนำหน้า

(๒) “อมฺมตาตา” 

อ่านว่า อำ-มะ-ตา-ตา แยกศัพท์เป็น อมฺม + ตาตา

(ก) “อมฺม” อ่านว่า อำ-มะ รูปคำเดิมเป็น “อมฺมา” อ่านว่า อำ-มา รากศัพท์มาจาก อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง; บูชา) + ม ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: อมฺ + ม = อมฺม + อา = อมฺมา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้อันบุตรธิดาไปหา” (คือเข้ามาคลอเคลีย) (2) “ผู้อันบุตรธิดาบูชา” หมายถึง แม่ (mother) 

(ข) “ตาตา” อ่านตรงตัวว่า ตา-ตา รูปคำเดิมเป็น “ตาต”อ่านว่า ตา-ตะ รากศัพท์มาจาก ตา (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + ต ปัจจัย 

: ตา + ต = ตาต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดูแลบุตร” หมายถึง พ่อ (father) 

การประสมคำ :

(1) อมฺมา + ตาต ลบสระหน้า (อมฺมา > อมฺม) 

: อมฺมา + ตาต = อมฺมาตาต > อมฺมตาต แปลว่า “แม่และพ่อ” 

(2) “อมฺมตาต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหุวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อมฺมตาตา” (อำ-มะ-ตา-ตา) แปลว่า “แม่และพ่อทั้งหลาย” 

ขยายความ : “อมฺมตาต”

“อมฺม” ใช้เป็นคำเรียกสตรี เด็กหญิง หรือลูกสาว แต่โดยปกติใช้ในกรณี -

(1) เด็ก ๆ ร้องเรียกมารดา = แม่จ๋า, คุณแม่ที่รัก (by children in addressing their mother = mammy, mother dear)

(2) โดยทั่วไป เมื่อร้องเรียกสตรีอย่างคุ้นเคย = คุณนาย, คุณหญิง, ที่รัก (in general when addressing a woman familiarly = good woman, my lady, dear)

“ตาต” ใช้เป็นคำเรียกคนคนเดียวหรือมากกว่านั้นด้วยความรัก, อย่างเพื่อนฝูง หรือด้วยความเคารพ, ทั้งที่หนุ่มกว่าและแก่กว่าผู้พูด, ไม่ว่าจะเหนือกว่าหรือต่ำกว่า (used as term of affectionate, friendly or respectful address to one or more persons, both younger & older than the speaker, superior or inferior)

บางกรณี “ตาต” ใช้เป็นคำที่ลูกเรียกพ่อก็ได้ พ่อแม่เรียกลูกชายก็ได้

“อมฺม - ตาต” เมื่อลูกเรียกพ่อแม่ มีความหมายเหมือน mammy - daddy ในภาษาอังกฤษ

เมื่อรวมกันเป็น “อมฺมตาตา” ใช้ในกรณีร้องทักที่ชุมนุมชน ตรงกับคำอังกฤษว่า Ladies and gentlemen หรือที่นักการเมืองบ้านเรานิยมใช้ในการปราศรัยหาเสียงขึ้นต้นว่า “พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย” นั่นเอง

จะเห็นได้ว่า ภาษาไทยพ่อนำหน้า แต่ภาษาบาลีแม่คือเพศหญิงนำหน้า

(๓) “ชายปติกา”

อ่านว่า ชา-ยะ-ปะ-ติ-กา แยกศัพท์เป็น ชาย + ปติกา

(ก) “ชาย” อ่านว่า ชา-ยะ รูปคำเดิมเป็น “ชายา” รากศัพท์มาจาก -

(1) ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ย ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็น อา (ชนฺ > ชา) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: ชนฺ + ย = ชนฺย > ชาย + อา = ชายา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นแดนเกิดแห่งบุตร” 

(2) ชิ (ธาตุ = ชนะ) + ย ปัจจัย, แปลง อิ เป็น อา (ชิ > ชา) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: ชิ + ย = ชิย > ชาย + อา = ชายา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ชนะ” 

“ชายา” หมายถึง ภรรยา, เมีย (wife)

(ข) “ปติกา” อ่านว่า ปะ-ติ-กา รูปคำเดิมเป็น “ปติ” รากศัพท์มาจาก -

(1) ปา (ธาตุ = รักษา, ดูแล) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > ป)

: ปา + ติ = ปาติ > ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษา”

(2) ปตฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย

: ปตฺ + อิ = ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปข้างหน้า”

“ปติ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า -

(1) พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ (lord, master, owner, leader)

(2) สามี (husband)

การประสมคำ :

(1) ชายา + ปติ ลบสระหน้า (ชายา > ชาย) 

: ชายา + ปติ = ชายาปติ > ชายปติ แปลว่า “ภรรยาและสามี” “เมียและผัว”

(2) ชายปติ ลง ก-สกรรถ (กะ-สะ-กัด) = ชายปติก แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหุวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “ชายปติกา” แปลว่า “ภรรยาและสามีทั้งหลาย” “เมียและผัวทั้งหลาย”

จะเห็นได้ว่า ภรรยาคือเพศหญิงนำหน้า

..............

เรียนบาลีก็จะเห็นว่า วัฒนธรรมบาลีนั้นยอมให้สตรีนำหน้าได้

มีผู้คิดว่า พระพุทธศาสนากีดกันสตรี กดขี่สตรี ไม่ให้เกียรติสตรี ผู้คิดเช่นนี้สมควรทบทวนดูว่า เราศึกษาพระพุทธศาสนาทั่วถึงหรือยัง

..............

ดูก่อนภราดา!

: ลังเล ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้นำ

: รวนเร ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้ตาม

[full-post]

Bhasadhamma,ผู้หญิงนำหน้า,ทองย้อย,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.