ศรัทธากับปัญญาต้องสมดุลกัน

----------------------------

เวลาใครจะให้อะไรใครสักคน เขามีวิธีคิดอย่างไร?

บางคนมีวิธีคิดแบบ-เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง คือตั้งต้นด้วยการคิดว่า ฉันอยากให้อะไร

ผู้รับอยากได้อะไร หรือควรได้อะไร ไม่สำคัญ 

สำคัญอยู่ที่ฉันอยากให้อะไร

นี่คือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง คือเอาความอยากของตัวเองนำหน้า

ต่อจากนั้นก็เกณฑ์ให้ผู้รับต้องพอใจด้วย 

ถ้าผู้รับแสดงอะไรออกมา หรือทำท่า หรือมีวี่แววว่าอาจจะไม่พอใจกับสิ่งที่ให้ หรือแม้แต่ไม่แสดงอาการยืนดีปรีดาหรือตื่นเต้นไปกับสิ่งที่ให้เท่าที่ควร ผู้ให้ประเภทนี้ก็จะโกรธ

อาการโกรธ ถ้าถอดเป็นคำพูด ก็มักจะขึ้นต้นว่า-ไม่เห็นความหวังดีของเราบ้างเลย ไอ้เรารึสู้อุตส่าห์ ... จากนั้นก็จะเป็นการบรรยายถึงความยากลำบากของตัวเองที่ต้องไปทำหรือไปแสวงหาสิ่งนั้นกว่าจะได้มา และจบลงด้วย-ความไม่ดี ความไม่ได้เรื่องของผู้รับ

......................

ส่วนบางคนมีวิธีคิดแบบ-เอาผู้รับเป็นศูนย์กลาง คือขึ้นต้นก็จะคิดก่อนว่า ผู้รับอยากได้อะไร หรือควรได้อะไร

ตัวเองอยากให้อะไรไม่สำคัญ 

สำคัญอยู่ที่ผู้รับอยากได้อะไร หรือควรได้อะไร

การจะรู้ว่าผู้รับอยากได้อะไร หรือควรได้อะไร ก็ต้องมีวิธีในการศึกษาสืบทราบ 

นี่คือที่ทางพระท่านเรียกว่าใช้ปัญญา

มีศรัทธาที่จะให้ นั่นดีแล้ว

แต่ต้องใช้ปัญญาเข้าประกอบด้วย คือไม่ใช่สักแต่ให้ หรือสักแต่อยากให้อย่างเดียว แต่ต้องรู้ด้วยว่าควรให้อะไร หรือควรให้อย่างไร

จุดนี้ถ้าชี้ไปที่ถวายของให้พระ ก็จะเห็นชัด

เช่น-ถ้าจะถวายอะไรแก่พระสงฆ์ ก็ต้องมีความรู้พอสมควรว่าพระท่านฉัน ท่านใช้ ท่านรับ ท่านมีสิ่งนั้นได้หรือไม่ และควรรู้ตลอดไปจนถึงวิธีที่ถูกต้องในการถวาย

.........................................................

เช่นมีศรัทธาจะถวายเงิน ต้องรู้ว่าถวายเงินให้ถูกวิธีต้องทำอย่างไร-อย่างน้อยก็ไม่ใช้วิธีเอาเงินใส่บาตรไปดื้อ ๆ ตอนที่พระออกบิณฑบาต อย่างที่กำลังนิยมทำกันผิด ๆ สุดขั้วโลกอยู่ในเวลานี้

.........................................................

ตรงนี้ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง-ที่พูดกันว่า “ตักบาตรอย่าถามพระ”

สำนวน “ตักบาตรอย่าถามพระ” ท่านหมายถึงคนที่ไม่ได้ตั้งใจจะให้จริง ถามก่อนเพื่อที่ว่าถ้าเขาไม่รับก็จะไม่ให้ 

ส่วนคนที่ตั้งใจให้แน่ ๆ ถามก่อนเพื่อที่จะได้จัดหาให้ตรงกับความต้องการ 

เจตนาต่างกัน

การศึกษาสืบทราบว่าผู้รับอยากได้อะไร จำเป็นต้องใช้อะไร หรือควรได้อะไรนั้น บางทีก็ใช้วิธีง่าย ๆ คือถามผู้รับตรง ๆ-เจตนาเพื่อผู้ให้จะได้จัดหาให้ตรงกับความประสงค์ของผู้รับ

วิธีถามตรง ๆ นี้ ผู้ให้ที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางก็อาจถามเหมือนกัน แต่เจตนาต่างกัน คือมักเป็นการถามเพื่อ “แจ้งให้ทราบ” ว่าผู้รับมีหน้าที่ต้องพอใจยินดีกับสิ่งที่ตนจะให้ จึงขอให้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ห้ามปฏิเสธ และห้ามไม่ชอบ

ผู้ให้ประเภท-เอาผู้รับเป็นศูนย์กลาง-นั้น ถ้าให้แล้ว เกิดเห็นวี่แววว่าอาจจะไม่ถูกใจผู้รับ ก็จะไม่โทษผู้รับ แต่จะโทษตัวเองว่าศึกษาสืบทราบข้อมูลมาไม่ดีพอ

......................

ขอให้ลองพิจารณากันดูว่า เราเป็นผู้ให้แบบไหน

แบบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง 

หรือแบบเอาผู้รับเป็นศูนย์กลาง 

แล้วก็จะรู้ได้ว่า ที่ท่านสอนกันว่าศรัทธากับปัญญาต้องสมดุลกันนั้น เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ

--------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

๑๐:๑๕

[full-post]

ปกิณกธรรม,ศรัทธา,ปัญญา

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.