ประเพณีทอดผ้าป่า (๑)
---------------------
ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต มี ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) คิลานเภสัช (ยาบำบัดโรค)
สำหรับพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ปัจจัยเหล่านี้ ส่วนใหญ่ย่อมได้มาจากชาวบ้าน แต่วิธีที่จะได้มานั้นย่อมเป็นไปตามกรอบแห่งพระวินัยพุทธบัญญัติ ที่มุ่งความเรียบง่าย กินง่าย อยู่ง่าย ใช้ง่าย เป็นหลัก
กล่าวเฉพาะผ้านุ่งห่ม พระวินัยกำหนดให้ภิกษุใช้จีวรเพียง ๓ ผืน เป็นผ้านุ่งผืนหนึ่ง ผ้าห่ม ๒ ผืน (ที่ต้องใช้ ๒ ผืนก็เพราะในฤดูกาลที่อากาศหนาวจัด ผ้าห่มผืนเดียวไม่พอที่จะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นในระดับที่จะดำรงชีพอยู่ได้เป็นปกติ) และให้ครอบครองไว้ได้เพียงชุดเดียว เพื่อความขัดเกลาเบาสบาย และมีสิกขาบทบัญญัติให้ดูแลรักษาอย่างเข้มงวดเนื่องจากผ้าเป็นของหายากในยุคสมัยโน้น
เพราะผ้าเป็นของหายาก กว่าจะได้ผ้ามาทำจีวรสักผืนหนึ่งจึงยากมาก การมีจีวร ๓ ผืนครบชุดจึงเป็นเรื่องสำคัญถึงกับต้องยกขึ้นเป็นปัญหาซักถามผู้ที่จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนากลางที่ชุมนุมสงฆ์ก่อนเลยทีเดียว ดังปรากฏในคำสวดนาคตอนที่พระคู่สวดซักถามอันตรายิกธรรมกับเจ้านาค คำถามข้อหนึ่งว่า ปริปุณฺณนฺเต ปตฺตจีวรํ แปลว่า บาตรจีวรมีครบแล้วหรือ?
การแสวงหาผ้ามาทำจีวรสำหรับคนทั่วไปในยุคโน้นที่มีฐานะยากจนเป็นเรื่องลำบากตั้งแต่ก่อนบวช หลายรายที่ไม่ทันได้บวชก็มาตายเสียก่อนในขณะที่กำลังเที่ยวหาผ้ามาทำจีวรนั่นเอง
แม้บวชแล้ว ความลำบากในการแสวงหาผ้าก็ยังไม่หมด เพราะธรรมดาของผ้าเมื่อใช้นุ่งห่มไปก็ต้องเก่า ต้องเปื่อยขาดไปตามอายุการใช้งาน
ในเครื่องบวช ๘ อย่าง ที่เรียกว่า อัฐบริขาร กำหนดให้มี เข็ม เป็น ๑ ใน ๘ เข็มก็คืออุปกรณ์ที่ง่ายที่สุดสำหรับใช้เย็บผ้า
ที่ว่ามานี้ จะเห็นได้ถึงการให้ความสำคัญเกี่ยวกับผ้า ไม่ว่าจะเป็นก่อนได้มา หรือเมื่อใช้นุ่งห่มไปแล้ว
เนื่องจากมีพระวินัยพุทธบัญญัติมิให้ภิกษุออกปากขอปัจจัยจากชาวบ้าน (ด้วยเหตุผลที่มุ่งให้เป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย ไม่มักมาก และเพื่อฝึกหัดขัดเกลาตนเอง) และแต่เดิมนั้นยังมิได้มีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุรับผ้าจีวรจากชาวบ้านได้โดยตรง ดังนั้น แหล่งที่ภิกษุจะหาผ้าได้ตามสภาพสังคมในชมพูทวีปยุคพุทธกาล ก็คือกองขยะอันมีของที่เขาทิ้งแล้วรวมทั้งผ้าด้วย และตามป่าช้าที่มีผ้าห่อศพหรือแม้กระทั่งผ้าที่อยู่กับตัวศพนั้นเอง
กฎสำคัญข้อเดียวในการแสวงหาผ้าตามแหล่งดังกล่าวนี้ก็คือ ต้องแน่ใจว่าเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ คือไม่มีใครที่ยังมีชีวิตอยู่จะมาอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของอีกแล้ว นั่นแหละจึงจะเก็บเอาได้
ผ้าตามสภาพดังกล่าวนี้ เรียกกันว่า ผ้าปังสุกูละ
.........................................................
ปังสุ แปลว่า ฝุ่น ขี้ดิน
กูล แปลว่า เกลือกกลั้ว เปรอะเปื้อน
ปังสุกูละ ก็คือ ผ้าที่เปื้อนฝุ่น คือถูกทิ้งคลุกอยู่กับดิน
ในภาษาไทย เอาคำนี้มาเรียกว่า ผ้าบังสุกุล (-บัง-สุ-กุน)
.........................................................
เมื่อได้ผ้ามาชิ้นหนึ่ง โดยมากก็ไม่พอที่จะทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่มได้ทั้งผืน ต้องหาชิ้นอื่น ๆ มาต่อกันเข้าอีก ด้วยเหตุนี้จีวรพระจึงมีรอยต่อไปทั่วผืน แม้ภายหลังจะมีผ้าผืนใหญ่ที่อาจทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่มได้พอในผืนเดียว ก็มีพุทธบัญญัติให้ตัดเป็นชิ้น ๆ ก่อนแล้วจึงเย็บต่อกันเข้า กลายเป็นรูปแบบของจีวรที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้
อีกเหตุผลหนึ่ง ท่านว่า ค่านิยมของสังคมในยุคนั้นถือว่าผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นแล้วเป็นของไม่มีราคา หรือถึงกับถือเป็นเสนียด น่ารังเกียจ จึงให้ตัดเป็นชิ้นให้หมดราคาเสีย จะได้ไม่เป็นที่ต้องการของใคร ๆ เป็นความปลอดภัยของเจ้าของผ้าด้วย
ต่อมา ชาวบ้านที่เข้าใจวิถีชีวิตของพระสงฆ์และรู้วิธีที่ท่านแสวงหาผ้า ปรารถนาจะสงเคราะห์มิให้ท่านต้องหาผ้าได้อย่างลำบาก จึงทำอุบายเอาผ้าไปวางไว้กับพื้นดินบ้าง พาดไว้กับกิ่งไม้บ้าง เป็นทีว่าเป็นของทิ้งแล้ว ตามที่หรือตามทางที่รู้ว่าพระท่านมักจะไป หรือจะผ่านเพื่อไปแสวงหาผ้า
ผ้าที่ชาวบ้านเอาไปทอดไว้เช่นนี้ เมื่อพระไปเห็นเข้าและแน่ใจว่าไม่มีเจ้าของแน่แล้ว ท่านก็จะ “ชัก” คือเก็บเอาไป
คำที่พระรุ่นเก่า ๆ ท่านพูดกัน ยังเรียกว่า “ชักผ้า” (ชัก ช ช้าง)
และสมัยก่อน ที่ที่พระอยู่หรือทางที่พระผ่านเสมอก็มักจะเป็นป่า ชาวบ้านก็นิยมเอาผ้าไปทอดดักทางพระไว้ตามป่า จึงเรียกผ้าเช่นนั้นว่า “ผ้าป่า”
แม้ต่อมาจะมีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุรับผ้าที่ชาวบ้านถวายเป็นอย่างจีวรสำเร็จรูปได้โดยตรง (เรียกผ้าเช่นนี้ว่า คฤหบดีจีวร) แต่พระภิกษุที่พอใจจะแสวงหาผ้าตามวิธีเดิมก็ยังมี ด้วยเห็นว่าเป็นวิธีขัดเกลามิให้เกิดความมักมากอยากได้ ถือว่าเป็นธุดงค์ข้อหนึ่งในธุดงค์ ๑๓ เรียกว่า ปังสุกูลิกังคธุดงค์ แปลว่า องค์แห่งผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คือใช้เฉพาะแต่ผ้าบังสุกุล ไม่รับจีวรสำเร็จรูปจากทายก เที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลมาเย็บย้อมทำจีวรเอง (เรียกผ้าที่ได้มาตามวิธีเดิมนี้ว่า บังสุกุลจีวร)
พระอรหันตเถระองค์หนึ่งที่ได้รับยกย่องเป็นเลิศในทางนี้ก็คือ พระมหากัสสปะ
นี่คือที่มาของประเพณีทอดผ้าป่า
---------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
๑๙:๓๕
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ