ประเพณีทอดผ้าป่า (๒)
--------------------
ผ้าป่า ที่ทำกันแบบเดิม ๆ นั้น ก็เอาผ้าไปวางคือ “ทอด” ตามที่ว่านั้น นอกจากผ้าแล้วมักมีของเป็นบริวารด้วย เช่นผลไม้ในพื้นถิ่นตามฤดูกาล และของอื่น ๆ อันสมควรแก่สมณบริโภค บางทีเอาไปทอดไว้ใกล้ ๆ วัด แล้วทำสัญญาณให้พระได้ยิน เช่นจุดประทัดเป็นต้น พระได้ยินสัญญาณก็จะรู้ว่ามีผู้เอาผ้าป่ามาทอด
เมื่อทอดเรียบร้อยแล้วเจ้าของจะไม่แสดงตัว แต่ก็มักจะซุ่มซ่อนอยู่ในบริเวณใกล้เคียงนั้นจนกว่าจะมีพระมาชักผ้าป่า ได้เห็นผลทานของตนแล้วจึงกลับไป
วิธีตามที่ว่ามานี้เป็นการตั้งใจถวายผ้าให้พระ เป็นแต่ไม่ถวายตรง ๆ ทำอุบายอนุโลมไปตามวิธีแสวงหาผ้าของพระ
ลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของผ้าป่าก็คือ เป็นของที่ไม่มีเจ้าของ ดังคำพิจารณาผ้าป่าของเดิมว่า อิมํ ปํสุกูลจีวรํ อสฺสามิกํ มยฺหํ ปาปุณาติ แปลว่า ผ้าบังสุกุลผืนนี้ไม่มีเจ้าของ ย่อมถึงแก่เรา
แปลตามสำนวนนักเลงปากท่อว่า-ผ้าไม่มีเจ้าของ ฉันเอานะ!
แต่ผ้าป่าที่ทำกันทุกวันนี้ กลายไปจากของเดิมหมดแล้ว คือเป็นของที่มีเจ้าของ เจ้าของก็ปรากฏตัวอยู่ตรงนั้นเอง ซ้ำยังมีกล่าวคำถวายอีกด้วย
คนละเรื่องกับผ้าป่าของเดิมไปเลย
ยังเหลือแต่ชื่อที่เรียก “ผ้าป่า” เท่านั้น นอกนั้นไม่เหลือของเดิม
.....................
การสงเคราะห์พระสงฆ์ในเรื่องผ้าอีกวิธีหนึ่งก็คือ เมื่อมีคนตาย เอาศพไปป่าช้าแล้วก็เอาผ้าไปคลุมหรือพาดไว้กับศพ เพื่อให้พระท่านมาชักเอาไป เจตนาเดียวกับผ้าป่านั่นเอง พระนักปฏิบัติที่นิยมไปปลงอสุภกรรมฐานตามป่าช้าก็มีอยู่มาก เมื่อท่านไปเห็นผ้าที่ศพ นอกจากจะชักเอาไปแบบชักผ้าป่าแล้วก็ถือโอกาสนั้นปลงกรรมฐานไปด้วย
ข้อความปลงอสุภกรรมฐานที่นิยมใช้ทั่วไปเป็นคำที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก คือ
.........................................................
อนิจฺจา วต สงฺขารา
อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ
เตสํ วูปสโม สุโข.
แปลได้ความว่า
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา
บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป
เข้าไปสงบสังขารเหล่านั้นเสียได้ เป็นสุข
.........................................................
ข้อความนี้เราได้ยินกันค่อนข้างจะคุ้นหู ท่านเอามาใช้ปลงอสุภกรรมฐานกันมาตั้งแต่ไหนไม่อาจทราบได้
แต่ที่ทราบได้แน่ก็คือ ประเพณีทอดผ้าบังสุกุลในการศพมีที่มาจากเหตุนี้
คำชักผ้าป่าที่ใช้มาแต่เดิม คือ อิมํ ปํสุกูลจีวรํ อสฺสามิกํ มยฺหํ ปาปุณาติ แปลว่า ผ้าบังสุกุลผืนไม่มีเจ้าของ ย่อมถึงแก่เรา เป็นคำบอกกล่าวแก่ผู้ที่จะได้ยินได้เห็นเป็นพยานว่า ผ้าผืนนี้ท่านเก็บเอาไปอย่างบริสุทธิ์ ตามหลักก็ต้องว่าถึง ๓ ครั้ง คือมี ทุติยมฺปิ ตติยมฺปิ ด้วย เป็นการย้ำยืนยันให้แน่ใจ
แต่คำชักผ้าป่าที่ได้ยินทุกวันนี้ พระท่านมักจะว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา ... แบบชักผ้าบังสุกุลศพไปแล้ว
เอา “คำพิจารณาศพ” มาเป็น “คำชักผ้าป่า” ไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบได้
ในภาษาไทย เราเข้าใจกันว่า “ผ้าป่า” กับ “ผ้าบังสุกุล” เป็นผ้าคนละอย่างกัน
ผ้าป่ากับผ้าบังสุกุลเกิดมาจากรากเดียวกัน แต่แตกออกเป็น ๒ ยอด ผ้าป่าไม่เกี่ยวกับศพ ผ้าบังสุกุลเกี่ยวกับศพ แต่ทั้งผ้าป่าและผ้าบังสุกุล ในภาษาบาลีใช้คำเดียวกัน คือ ปํสุกูลจีวร เพราะเกิดจากรากเดียวกันดังกล่าว
มีเรื่องที่ควรสังเกตเรื่องหนึ่ง คือ ผ้าป่านั้นนอกจากรูปแบบจะกลายจากของเดิมแล้ว ความมุ่งหมายหรือความประสงค์ก็กลายไปมากด้วย
คือของเดิมมุ่งจะถวายผ้าเพื่อสงเคราะห์พระ เดี๋ยวนี้เอาวิธีทอดผ้าป่ามามุ่งหาเงินหรือหาสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ เช่น ทอดผ้าป่าหนังสือ ทอดผ้าป่าเก้าอี้ ทอดผ้าป่ากระเบื้อง ผ้าป่าเครื่องเวชภัณฑ์ ฯลฯ
สุดแต่ว่าต้องการจะระดมทุนเพื่อให้ได้อะไรมา ก็เรียกกันว่า ทอดผ้าป่า ไปทั้งนั้น
กล่าวได้ว่า ทุกวันนี้ผ้าป่าเหลือแต่เปลือก แต่เนื้อในไม่รู้ว่าเป็นอะไรไปหมดแล้ว
.....................
สมัยผมเป็นเณรอยู่ที่ถ้ำเขาพลอง ใกล้กับวัดโพธิ์ศรี ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ราว พ.ศ.๒๕๐๔-๒๕๐๕ ตอนสาย ๆ วันหนึ่ง ได้ยินเสียงประทัดดังขึ้นในดงไม่ไกลจากกุฏิ หลวงลุงที่เป็นผู้ปกครองบอกว่า เณรไปดูซิ ท่าจะเป็นผ้าป่า
ไปดูก็เป็นผ้าป่าจริง ๆ มีผลไม้กองหนึ่ง มีผ้าทอดไว้ข้างบน จึงได้ชักมา
เวลาผ่านไปเพียง ๗๐ ปี หาดูผ้าป่าแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว
ถ้าท่านผู้ใดมีจิตศรัทธาคิดทำผ้าป่าแบบดั้งเดิมขึ้นมาอีกให้คนรุ่นหลังได้รู้ได้เห็น ก็น่าจะเป็นมหากุศล
จะประยุกต์อะไรบ้างตามกาลสมัยก็ไม่ว่า แต่ขอให้ทำเป็นของจริง ๆ อย่าให้เป็นการแสดงย้อนยุคอะไรอย่างหนึ่งเหมือนการแสดงทางวัฒนธรรมที่นิยมทำกันอยู่ทั่วไปเสียก็แล้วกัน
จงทอดผ้าป่าให้เป็นของจริง
แล้วทำผ้าป่าจริงให้แพร่หลายออกไปจนเป็นวิถีชีวิตของชุมชน-อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
ให้ชาวโลกเขาบอกกันว่า-อยากเห็นผ้าป่าของเดิมของแท้ ต้องมาดูที่เมืองไทย มีแห่งเดียวในโลก
เป็นบุญที่ชาวบ้านเขาทำกันเป็นปกติในชีวิตประจำวันจริง ๆ
ไม่ใช่บุญจัดฉากที่แสดงให้นักท่องเที่ยวดู
------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
๒๐:๓๙
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ