เพราะโลกเปลี่ยนไป
------------------
เวลาเห็นใครทำอะไรที่แปลกไปจากที่คนทั้งหลายเคยทำกันมา แล้วมีใครแสดงความฉงนสนเท่ว่า ทำไมจึงทำอย่างนั้น หรือทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็จะมีคนออกมาบอกเหตุผลว่า-เพราะโลกเปลี่ยนไป
น่าจะมีคนเป็นอันมากเห็นด้วยกับเหตุผลนี้
และน่าจะมีคนเห็นด้วยมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยเฉพาะเวลาเห็นพระภิกษุสามเณรสมัยนี้ทำอะไรบางอย่าง-หลายอย่าง ที่ไม่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย ก็จะมีคนออกมาแสดงเหตุผลอย่างหนักแน่นว่า-เพราะโลกเปลี่ยนไป
การออกมาแสดงเหตุผลอย่างหนักแน่นเช่นนี้ เหมือนกับจะบอกว่า การที่พระภิกษุสามเณรสมัยนี้ทำอะไรไม่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยเช่นนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนไป
ไม่ควรฉงนสนเท่
แต่ควรจะปล่อยให้เป็นเช่นนั้นต่อไป
พระภิกษุสามเณรต้องปรับตัวตามโลก
และการปรับตัวตามโลกย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ถ้า-เพราะโลกเปลี่ยนไป-เป็นเหตุผล และการที่พระภิกษุสามเณรทำอะไรไม่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ยอมรับได้ เพราะต้องปรับตัวตามโลก-เป็นเหตุผลที่เรายอมรับกันว่าถูกต้อง
ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ควรจะต้องสงสัยอีก่อไปว่า ในห้วงเวลาที่พระพุทธศาสนาจะเสื่อมสูญ-ที่ท่านใช้คำว่า “อันตรธาน” พระภิกษุมีครอบครัวประพฤติตัวเหมือนชาวบ้าน ทำไมสังคมสมัยนั้นจึงยังยอมรับว่า “ทำแบบนั้นก็ยังเป็นพระอยู่”
.........................
ท่านว่า พระพุทธศาสนาของเรานี้ เมื่อกาลเวลาล่วงไปก็จะเกิดอันตรธาน คือเสื่อมสูญไปตามลำดับ กล่าวคือ
(๑) อธิคมอันตรธาน การบรรลุมรรคผลหายไป
(๒) ปฏิปัตติอันตรธาน การปฏิบัติธรรมหายไป
(๓) ปริยัตติอันตรธาน การเล่าเรียนธรรมหายไป
(๔) ลิงคอันตรธาน เพศสงฆ์หายไป
(๕) ธาตุอันตรธาน พระบรมสารีริกธาตุหายไป
“ลิงคอันตรธาน” หรือ “การสูญหายไปแห่งเพศสงฆ์” คัมภีร์อรรถกถาบรรยายไว้ดังนี้ -
.........................................................
คจฺฉนฺเต คจฺฉนฺเต กาเล จีวรคหณํ ปตฺตคหณํ สมฺมิญฺชนปสารณํ อาโลกิตวิโลกิตํ น ปาสาทิกํ โหติ
เมื่อกาลล่วงไป ๆ การครองจีวร การถือบาตร การคู้ การเหยียด การแลดู การเหลียวดู ก็ไม่เป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส
.........
........
จีวรํปิ รชนสารุปฺปํ อกตฺวา โอฏฺฐฏฺฐิวณฺณํ กตฺวา วิจรนฺติ ฯ
แม้จีวรก็ไม่ย้อมให้ถูกต้อง ห่มจีวรสีแดงกันทั่วไปหมด
.........
........
คจฺฉนฺเต คจฺฉนฺเต กาเล โก อิมินา อมฺหากํ อตฺโถติ ขุทฺทกํ กาสายขณฺฑํ หตฺเถ วา คีวายํ วา พนฺธนฺติ เกเสสุ วา อลฺลิยาเปนฺติ ...
เมื่อกาลล่วงไป ๆ ก็คิดว่า พวกเราจะต้องครองผ้าเช่นนี้ไปทำไม จึงผูกผ้ากาสายะชิ้นเล็ก ๆ เข้าที่มือ หรือที่คอ หรือขอดไว้ที่ผม
ทารภรณํ วา กโรนฺตา กสิตฺวา วปิตฺวา ชีวิตํ กปฺเปนฺตา วิจรนฺติ ฯ
พากันมีภรรยาบ้าง ประกอบการไถหว่าน (และทำกิจอื่น ๆ) เลี้ยงชีพบ้าง
ตทา ทกฺขิณํ เทนฺโต ชโน สํฆํ อุทฺทิสฺส เอเตสํ เทติ ฯ
ในครั้งนั้น คนที่จะถวายทักขิณาทาน ย่อมถวายให้แก่คนครองเพศเช่นนั้นโดยตั้งใจว่าถวายสงฆ์
ที่มา: มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค ๑ หน้า ๑๒๐-๑๒๑
.........................................................
นั่นก็คือ พระประพฤติถึงขนาดนั้น สังคมสมัยนั้นก็ยอมรับว่า “ยังเป็นพระอยู่”
และแน่นอน สังคมสมัยนั้นย่อมจะอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับที่เรากำลังอ้างกันอยู่ในวันนี้ว่า-เพราะโลกเปลี่ยนไป
.........................
พระเมื่อ ๗๐ ปีที่ผ่านมา ท่านก็ทำงานโยธา เลื่อยไม้ ไสกบ ซ่อมศาลา ปีนขึ้นไปมุงหลังคากุฏิ ฯลฯ
แต่ท่านยังคงนุ่งสบงทรงอังสะในขณะทำงาน
แต่พระวันนี้ ทำงานโยธา ใส่เสื้อนุ่งกางเกงเหมือนชาวบ้าน-เพียงแต่เป็นสีเหลือง อ้างว่าเพื่อความคล่องตัว
ไม่มีใครเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ก็ด้วยเหตุผล-เพราะโลกเปลี่ยนไป
เพราะฉะนั้น ถ้าพระอีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า ฉันภัตตาหารมื้อเย็นกันทั่วไป เราก็ทายได้ว่า สังคมอีก ๑๐๐ ปีข้างหน้าก็ย่อมจะไม่มีใครเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุผล-เพราะโลกเปลี่ยนไป
เช่นเดียวกับที่เรากำลังอ้างกันอยู่ในวันนี้นั่นเอง
.........................................................
ถ้าไม่รักษาวิถีชีวิตสมณะให้มั่นคง
จะไม่ใช่แค่เพศสงฆ์อันตรธาน
หากแต่จะแหลกลาญหมดทั้งพระศาสนา
.........................................................
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๓๐ มกราคม ๒๕๖๗
๑๑:๒๒
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ