ฝันเฟื่องเรื่องภูมินามวิทยา
-------------------------
คำว่า “ภูมินามวิทยา” แปลว่า ความรู้เรื่องความเป็นมาของชื่อท้องถิ่นต่าง ๆ หมายถึงข้อความที่แสดงเรื่องราวให้ทราบว่า ชื่อท้องถิ่นต่าง ๆ มีความเป็นมาอย่างไร เช่น -
หัวลำโพง มาจากคำว่าอะไร ทำไมท้องที่ตรงนั้นจึงชื่อหัวลำโพง
แปดริ้ว แปลว่าอะไร ทำไมจึงเรียกจังหวัดฉะเชิงเทราว่าแปดริ้ว
แล้วคำว่า ฉะเชิงเทรา นั่นเองแปลว่าอะไร
สองพี่น้อง สามพราน หลักสี่ เจ็ดเสมียน ร้อยเอ็ด สามร้อยยอด ฯลฯ
ทำไมจึงชื่ออย่างนั้น หมายถึงอะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร
......................
คำว่า “ภูมินามวิทยา” นี้ ผมจำมาจากหนังสือ “วิทยาสาร” น่าจะเป็นสมัยที่ท่านอาจารย์เปลื้อง ณ นคร เป็นบรรณาธิการ มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งร่วมมือกันศึกษาความเป็นมาของชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ชื่อแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง บาง ชื่อถนน ชื่อวัด รวมตลอดถึงชื่อสถานที่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ได้ความอย่างไรก็เอามาเขียนลงในวิทยาสาร เรียกชื่อคอลัมน์นี้ว่า “ภูมินามวิทยา”
เข้าใจว่าคงจะทำกันได้ไม่มากนัก แล้วต่อมาก็เลิกกันไป ข้อมูลเรื่องราวที่ศึกษามาได้ก็คงมีอยู่เฉพาะที่เขียนลงในหนังสือวิทยาสาร
หนังสือวิทยาสารก็เลิกผลิตไปนานแล้ว ฉบับที่มีเรื่องภูมินามวิทยาลงพิมพ์คือฉบับไหนบ้าง แล้วจะหาอ่านได้ที่ไหน ก็ไม่มีใครรู้ นอกจากจะไปดั้นด้นค้นเดาเอาที่หอสมุดแห่งชาติ และจะเจอหรือไม่เจอก็รับประกันไม่ได้
ได้ทราบว่ามีครูบาอาจารย์ทางภาคใต้ได้รวบรวมเรื่องภูมินามวิทยาเฉพาะบางจังหวัดทางภาคใต้ทำกันไว้ได้จำนวนหนึ่ง จะเรียกชื่อว่า ภูมินามวิทยา หรือเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นก็ไม่ทราบ แต่มีเจตนาเดียวกัน
สรุปว่า ทุกวันนี้ถ้าคนไทยอยากจะทราบว่า จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้านนั้น ๆ วัดนั้น ๆ ตรอก ซอยนั้น ๆ ถนนนั้น ๆ ทำไมจึงชื่ออย่างนั้น ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปอ่านหนังสือเล่มไหน หรือจะค้นคว้าไปที่ตรงไหนจึงจะได้คำตอบ
คงจะมีผู้บอกว่า ก็ถามเจ้าแม่ google ไงล่ะ ง่ายจะตายไป
ผมเคยลองถามแล้วครับ ก็ได้คำตอบ แต่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน บางเพจบางเว็บพูดอะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่มีพูดเรื่องชื่อตำบลตามที่ต้องการอยู่ครึ่งบรรทัด แล้วก็พูดแบบปล่อย ๆ เชื่อได้หรือไม่ได้ไม่รับรองด้วย
ที่เว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถานมี “อักขรานุกรมภูมิศาสตร์” ไว้ให้ค้น
อยากรู้ชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด มีบอกไว้ครบถ้วนว่าอยู่ที่ไหน
แต่บอกเฉพาะด้านภูมิศาสตร์เท่านั้น
อย่างเช่นชื่อ แปดริ้ว ก็บอกแต่เพียงว่า -
.........................................................
แปดริ้ว ชื่อสามัญของ จ.ฉะเชิงเทรา
.........................................................
บอกไว้แค่นี้จริง ๆ
ถ้าอยากรู้ว่าทำไมจึงชื่อแปดริ้ว เชิญไปตระเวนหาเอาเองตามอัธยาศัยเทอญ
......................
ผมเชื่อแน่ว่า -
(๑) ชื่อบ้านนามเมืองของเรานั้น หลาย ๆ ชื่อ ได้มีผู้เคยศึกษาค้นคว้ารวบรวมไว้แล้ว เขียนเป็นหนังสือพิมพ์เผยแพร่แล้วก็มี ปัญหามีเพียงว่าเราไม่รู้ว่าความรู้ที่ศึกษาค้นคว้ามาได้แล้วนั้น ตอนนี้มีใครเก็บไว้ที่ไหนบ้าง ที่เป็นเล่มหนังสือถ้าเราไม่มีหนังสือเล่มนั้นเก็บไว้เอง ไม่ได้ไปค้นหาที่ห้องสมุด หรือไปค้นแล้วไม่มี จะทำอย่างไรจึงจะได้อ่านได้ศึกษา
(๒) ผู้คนในปัจจุบันที่รู้ภูมิหลังความเป็นมาของชื่อบ้านนามเมือง โดยเฉพาะชื่อท้องถิ่นที่ตนเกิดหรือที่อาศัยอยู่ ก็ต้องมีอยู่ เพียงแต่ว่าท่านเหล่านั้นไม่ได้เขียนบอกเล่าไว้ หรืออาจมีบางคนเขียนบันทึกไว้ แต่ก็ไม่มีใครรู้ เพราะไม่ได้เอาไปเผยแพร่ที่ไหน
(๓) ในโลกออนไลน์ ณ เวลานี้ ก็มีคนเอาความรู้เกี่ยวกับชื่อบ้านนามเมืองไปวางไว้ที่เพจนั้นเว็บโน้น กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ใครอยากรู้ก็ต้องตระเวนหาเอาเอง
นี่คือสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ความฝันของผมก็คือ ขอแรงท่านที่มีความรู้ความสามารถช่วยจัดหาพื้นที่บนโลกออนไลน์ให้สักแห่งหนึ่ง
อาจจะตั้งชื่อพื้นที่ตรงนั้นว่า “ภูมินามวิทยา” หรือ “ชื่อบ้านนามเมือง” ตามชื่อที่มีเรียกมีใช้กันอยู่แล้วก็ได้
......................
คุณสมบัติที่ต้องการของพื้นที่ “ภูมินามวิทยา” ก็คือ
.........................................................
() เอาข้อมูลมาใส่ไว้สักเท่าไรก็ไม่มีวันเต็ม
() มีช่อง “ส่งข้อมูล” สำหรับเอาข้อมูลมาเก็บไว้
() เมื่อพิมพ์ชื่อที่ต้องการค้น ถ้าชื่อนั้นมีข้อมูลที่เก็บไว้ ข้อมูลก็จะปรากฏให้อ่านได้ ชื่อเดียวอาจมีหลายข้อมูลตามจำนวนที่จะมีผู้เอามาใส่
() ถ้าชื่อนั้นยังไม่มีข้อมูล ก็จะขึ้นข้อความว่า “ยังไม่มีข้อมูล” (อาจใช้วิธีแสดงเฉพาะรายชื่อที่มีข้อมูลไว้ให้เห็นก็ได้)
() ข้อมูลที่จะส่งเข้าเก็บ ขอให้เป็น file word, file pdf หรือรูปภาพ อย่าให้เป็น link (ออกแบบให้โปรแกรมไม่รับ link) เหตุผลเพราะถ้าลากเอา link มาวางไว้ เราก็จะมีแต่ข้อมูลขยะเต็มไปหมดดังที่กล่าวแล้วว่า แต่ละ link พูดนอกเรื่องมากมาย มีเนื้อหาที่ต้องการครึ่งบรรทัด ข้อมูลที่เอามาเก็บต้องเป็นข้อมูลที่เรียบเรียงตรงตามเนื้อหาสาระมาเรียบร้อยแล้ว
.........................................................
เมื่อหาพื้นที่ส่วนกลางได้แล้ว ก็ช่วยกันหาทางเอา (๑) (๒) (๓) มารวมไว้ในที่เดียวกันใน “ภูมินามวิทยา” นั้น (ขอเรียกชื่อนี้ไปพลางก่อน)
วิธีการก็คือ ใครรู้ประวัติของชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ชื่อแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง บาง ชื่อถนน ชื่อวัด รวมตลอดถึงชื่อสถานที่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือในพื้นที่ที่ท่านกำลังอาศัยอยู่นั่นแหละ ก็ช่วยกันค้นคว้ารวบรวมเรียบเรียงส่งมาเก็บไว้ใน “ภูมินามวิทยา”
หรือรู้ว่าประวัติชื่อบ้านชื่อเมืองไหน มีเขียนบอกไว้ในหนังสือเล่มไหน หรือมีใครโพสต์ไว้ในเว็บไซต์ไหน ก็ช่วยกันคัดลอกหรือถ่ายเป็นไฟล์เป็นภาพส่งมาเก็บรวมไว้ใน “ภูมินามวิทยา”
งานที่สำคัญคือ ขอแรงอาสาสมัครเป็นคณะบรรณาธิการทำหน้าที่เข้าไปตรวจสอบความถูกต้องควบคู่กันไป หรือสมาชิกเข้าไปอ่านแล้วเห็นว่าข้อมูลไม่ถูกต้องก็สามารถเขียนแก้ไขได้อยู่แล้ว
......................
ถ้าทำตามที่ฝันไว้นี้ได้สำเร็จ ต่อไปใครต้องการจะค้นหาชื่อบ้านนามเมืองก็ไม่ต้องเข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้ให้วุ่นไปหมด
มาที่ “ภูมินามวิทยา” แห่งเดียว จบ แบบที่ใช้คำฝรั่งว่า one stop service !
เด็กไทยรุ่นใหม่ได้อ่านประวัติบ้านเมืองของตนใน “ภูมินามวิทยา” ก็จะได้มีความรู้ความเข้าใจ และรักบ้านรักท้องถิ่นของตนมากขึ้น
โครงการนี้ผมทำเองไม่ได้
ทำได้แค่ฝันเฟื่องแบบนี้แหละครับ
--------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
๑๘:๕๑
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ