ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,250)


อาจม - อาจมนะ

ไม่ใช่เรื่องโสมม แต่เป็นเรื่องน่ารู้

“อาจม” ภาษาไทยอ่านว่า อา-จม

“อาจมนะ” อ่านว่า อา-จะ-มะ-นะ (ไม่ใช่ อา-จม-นะ)

(๑) “อาจม” รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + จมฺ (ธาตุ = ชำระ, ล้าง) + อ (อะ) ปัจจัย หรือ ณ ปัจจัย, ลบ ณ

: อา + จมฺ = อาจมฺ + อ = อาจม

: อา + จมฺ = อาจมฺ + ณ = อาจมณ > อาจม

“อาจม” (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงล้างออก” หมายถึง ขี้, คูถ, อุจจาระ (discharge, excrement, faeces)

(๒) “อาจมน” รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + จมฺ (ธาตุ = ชำระ, ล้าง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อา + จมฺ = อาจมฺ + ยุ > อน = อาจมน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การชำระ” “การล้าง” (2) “สิ่งที่พึงล้างออก”

“อาจมน” หมายถึง -

(1) การชำระ, การล้างด้วยน้ำ (rinsing, washing with water) มักใช้ในกรณีหลังจากถ่ายอุจจาระ แต่การล้างทั่วไปก็ใช้ได้ด้วย

(2) บางกรณีหมายถึง ขี้, คูถ, อุจจาระ (เหมือน “อาจม”)

บาลี “อาจมน” สันสกฤตก็เป็น “อาจมน”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ -

“อาจมน : (คำนาม) การล้างปากหรือล้างคอ; rinsing the mouth or gargling the throat.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

(1) อาจม : (คำนาม) ขี้ (ของคน). (ป., ส. อาจม ว่า สิ่งที่ควรล้าง, สิ่งที่ควรชำระ).

(2) อาจมนะ : (คำนาม) การล้าง, การชำระ. (ป., ส.).

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎก (โกสัมพิขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 238-261) มีเรื่องเล่าถึงภิกษุชาวเมืองโกสัมพีแตกสามัคคีกันอันเนื่องมาจาก “อาจมน” 

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 1 (โกสมฺพิกวตฺถุ) สรุปความมาเล่าไว้ ซึ่งผู้เขียนบาลีวันละคำขอสรุปอีกชั้นหนึ่งดังนี้ -

เรื่องเกิดขึ้นที่โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี พระนักเทศน์รูปหนึ่งเข้าไปถ่ายอุจจาระในวัจกุฎี (ห้องส้วม) เหลือน้ำชำระ (คำบาลีว่า “อาจมนอุทกาวเสส” หมายถึงน้ำล้างก้นที่เหลือ) ไว้ในขันแล้วออกไป (การเหลือน้ำชำระไว้ในขันเช่นนี้เป็นการผิดระเบียบ เพราะน้ำนั้นย่อมเป็นที่รังเกียจของผู้เข้ามาใช้วัจกุฎีทีหลัง หลักปฏิบัติคือต้องเทน้ำให้หมดขันแล้วคว่ำขันไว้)

พระนักวินัยรูปหนึ่งเข้าไปใช้วัจกุฎี เห็นน้ำที่เหลือจึงพูดแก่พระนักเทศน์ว่าการเหลือน้ำไว้เช่นนั้นต้องอาบัติ คือเป็นความผิด พระนักเทศน์ก็ยอมรับ บอกว่าไม่ทันรู้ เผลอไป และยินดีที่จะปลงอาบัติตามระเบียบ พระนักวินัยจึงพูดทำนองรักษาน้ำใจว่า ถ้าเผลอไปไม่ได้แกล้งทำ ก็ไม่ต้องอาบัติ

ถ้าจบกันแค่นี้ก็ไม่มีเรื่อง แต่พระนักวินัยเอาเรื่องนี้ไปบอกพระที่เป็นศิษย์ว่า พระนักเทศน์นี่ไม่รู้เรื่องรู้ราว ต้องอาบัติก็ไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ ศิษย์พระนักวินัยก็เอาไปพูดเย้ยศิษย์พระนักเทศน์ว่า อาจารย์ของพวกท่านต้องอาบัติก็ไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ ศิษย์พระนักเทศน์เอาเรื่องไปบอกอาจารย์ พระนักเทศน์จึงพูดขึ้นว่า พระนักวินัยพูดจาไม่อยู่กับร่องกับรอย ตอนนั้นบอกว่าไม่เป็นอาบัติ ตอนนี้กลับมาพูดว่าเป็นอาบัติ แบบนี้โกหกกันชัด ๆ ศิษย์พระนักเทศน์ก็เอาไปพูดเย้ยศิษย์พระนักวินัยบ้างว่า อาจารย์ของพวกท่านเป็นคนขี้โกหก 

ทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์ของทั้งสองฝ่ายก็เลยแตกกัน ลุกลามออกไปถึงญาติโยมที่เลื่อมใสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็พลอยแตกกันไปด้วย สำนวนในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาบอกว่า แตกกันไปจนถึงพรหมโลก

พระพุทธองค์ตรัสห้ามแต่ต้นว่าให้ปรับความเข้าใจกันเสีย แต่พระสองฝ่ายก็ไม่ฟัง ตรัสห้ามถึง 3 ครั้ง ซึ่งตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีปถือว่า 3 ครั้งนี่ถึงที่สุดแล้ว ก็ยังไม่ฟัง จึงทรงปลีกพระองค์ออกไปจากโฆสิตาราม เสด็จไปทรงจำพรรษาที่ป่าตำบลปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี (เป็นพรรษาที่ 10 นับจากตรัสรู้) มีช้างกับลิงคอยปฏิบัติ เป็นที่มาของพระพุทธรูปที่เรียกว่า ปางพระปาลิไลยก์

ชาวบ้านที่เป็นกลาง ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าก็ซักถามกัน ได้ความว่าเหตุเกิดจากพระทะเลาะกัน ก็ยื่นคำขาด ไม่ใส่บาตรไม่เข้าวัดไม่ปรนนิบัติบำรุงใด ๆ ทั้งสิ้น จนกว่าพระจะสามัคคีกันเหมือนเดิม 

ในที่สุดพระก็สำนึกได้ กลับมาสามัคคีกันดังเดิม

..............

ดูก่อนภราดา!

: น้ำล้างกันอย่าคิดว่าไม่สำคัญ

: เป็นเหตุให้แตกกันจนถึงพรหมโลกมาแล้ว

[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,อาจม,อาจมนะ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.