ปฏิบัติธรรม เป็นกิจกรรม หรือควรทำเป็นกิจวัตร

---------------------

เห็นภาพการปฏิบัติธรรมที่มีญาติมิตรนำมาเสนอทางเฟซบุ๊กแล้ว อยากชวนให้คิดครับ

ภาพที่เสนอส่วนมากเป็นภาพที่เกิดจากการไปจัดกิจกรรม

เป็นที่เข้าใจกันดีว่ากิจกรรมเป็นกิจที่จัดขึ้น มีกำหนดด้วยสถานที่ ระยะเวลา ตัวบุคคล และงานที่กำหนดให้ทำตามห้วงเวลานั้น ๆ 

พอหมดเวลา ก็เลิก

กิจกรรมไม่ใช่ชีวิตประจำวันจริง ๆ 

แต่เป็นชีวิตที่ “ทำขึ้น”

พูดกันตรง ๆ การปฏิบัติธรรมที่จัดขึ้นที่นั่นที่นี่ที่เห็นในภาพทั่วไปเป็นเพียง “การแสดง” ชนิดหนึ่ง

คำว่า “การแสดง” หมายความว่า ในชีวิตจริงของแต่ละคนไม่ได้มีการปฏิบัติธรรมอย่างที่เห็นในภาพ - แต่ละคนอาจมีการปฏิบัติธรรมในชีวิตจริงของตนอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่แบบที่เห็นในภาพ 

ที่เห็นในภาพคือมีคนมาอยู่รวมกัน แล้วก็เกิดภาพที่เรียกว่า “ปฏิบัติธรรม” ซึ่งในชีวิตประจำวันของแต่ละคนไม่ได้มารวมกันปฏิบัติธรรมแบบนี้

เหตุผลที่พิสูจน์ได้ในคำกล่าวนี้ก็คือ ถ้าแต่ละคนมีการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว จะต้องไปรวมกันปฏิบัติธรรมทำไม?

...........................

อาจตอบได้ว่า ไปรวมกันปฏิบัติธรรมเพราะมันเป็นกิจกรรม และกิจกรรมปฏิบัติธรรมนั้นมีเป้าหมายที่จะชักจูงคนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมให้หันมาสนใจการปฏิบัติธรรม

ถ้ามีวัตถุประสงค์อย่างนี้ ประเด็นปัญหาก็จะเคลื่อนที่ไป คือ-เหมือนกับเกิดคำถามกันขึ้นว่า เราจะมีวิธีชักจูงคนให้สนใจการปฏิบัติธรรมได้อย่างไร

และเราได้ค้นคว้าวิจัยแล้วพบว่า การจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมเป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีมาก ๆ ในการชักจูงคนให้สนใจการปฏิบัติธรรม

นั่นหมายความว่า กิจกรรมปฏิบัติธรรมที่จัดกันขึ้นและนำภาพมาเผยแพร่นั้นเป็นกิจกรรมเพื่อชักจูงให้คนสนใจการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่กิจกรรมเพื่อประโยชน์ของผู้ปฏิบัติธรรมเองโดยตรง

ประโยชน์ของผู้ปฏิบัติธรรมเองโดยตรงอยู่ที่-แต่ละคนปฏิบัติธรรมเป็นกิจวัตรในชีวิตจริงของตนอยู่แล้ว ไม่ต้องมาทำกิจกรรมปฏิบัติธรรมร่วมกันกับใคร

...........................

หรือไม่ก็ต้องเปิดเป็นประเด็นขึ้นใหม่ว่า การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ปฏิบัติตามลำพังไม่ได้ ต้องปฏิบัติร่วมกันกับคนอื่น

ปฏิบัติตามลำพังอยู่กับบ้าน อยู่กับชีวิตประจำวันปกติ แบบนั้นไม่ใช่การปฏิบัติธรรม

ต้องไปอยู่รวมกับคนอื่นแล้วปฏิบัติธรรมร่วมกัน จึงจะเป็นการปฏิบัติธรรม 

การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาต้องทำอย่างนี้ใช่ไหม?

...........................

ในการเรียนปฏิบัติธรรม ท่านว่าต้องมีครูบาอาจารย์-ถ้าเป็นพระก็คือที่เรียกว่า “พระวิปัสสนาจารย์”-คอยกำกับ คือทำหน้าที่ที่เรียกกันว่า “สอบอารมณ์” 

เช่น-เกิดอาการเช่นนั้นเช่นนี้ขึ้นในขณะปฏิบัติ อาการนั้นคืออะไร ถูกหรือผิด ถ้าถูกจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าผิดจะแก้อย่างไร - อย่างนี้เป็นต้น นี่คือสอบอารมณ์

ถ้าไม่มีอาจารย์คอยกำกับ-คือปฏิบัติไปตามลำพัง-หากเกิดอาการอะไรขึ้นมาสักอย่าง แล้วจัดการกับอาการนั้นไม่ถูกวิธี ควบคุมจิตไม่ได้ อาจเกิดความผิดปกติทางจิตจนถึงกับสติวิปลาส-คือเป็นบ้า-ไปเลยก็ได้

คือที่พูดกันว่า นั่งกรรมฐานแล้วเป็นบ้า 

มีผู้ยืนยันว่ามีแบบนั้นจริง ๆ

เป็นเหตุให้การปฏิบัติธรรมต้องมีอาจารย์คอยกำกับ

อาจารย์คนเดียว กำกับผู้ปฏิบัติธรรมคนเดียว ก็ดูจะไม่คุ้มเหนื่อย เป็นเหตุให้ชักชวนกันปฏิบัติธรรมเป็นหมู่คณะหลายคน ใช้อาจารย์คนเดียวกำกับได้หลายคน ค่อยคุ้มหน่อย

จึงเกิดเป็นภาพ-จะปฏิบัติธรรมทีหนึ่ง ก็ต้องไปอยู่รวมกันปฏิบัติรวมกัน-ดังที่เราเห็นกันทั่วไป

...........................

แล้วจริง ๆ ปฏิบัติธรรมคือทำอย่างไร?

จริง ๆ ก็คือ ศึกษาเรียนรู้วิธีปฏิบัติจนเข้าใจดีแล้ว ทดลองปฏิบัติให้ครูบาอาจารย์ตรวจสอบแล้ว ต่อจากนั้นก็เอาไปปฏิบัติตามลำพัง ปฏิบัติอยู่กับบ้าน ปฏิบัติในชีวิตประจำวันตามปกติ ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปอยู่รวมกันปฏิบัติรวมกันกับใครที่ไหนอีก

.........................................................

ไปปฏิบัติรวมกัน มีอาจารย์กำกับ นั่นคือการฝึกปฏิบัติธรรม

ฝึกปฏิบัติธรรม-เหมือนฝึกว่ายน้ำ ต้องใส่ห่วงยาง มีคนสอน

ปฏิบัติธรรมในขณะทำกิจประจำวันนั่นเอง คือปฏิบัติจริง

ปฏิบัติจริง-เหมือนแข่งว่ายน้ำ ไม่มีนักว่ายน้ำคนไหนใส่ห่วงยางลงแข่ง

.........................................................

ถ้าเข้าใจจริง ๆ ปฏิบัติได้เลยในขณะทำงานประจำวันนั่นเอง

อย่างที่พูดกันหยาบ ๆ-แม้กำลังเข้าส้วมก็สามารถปฏิบัติธรรมได้

ผู้บรรลุธรรมในขณะทำงาน บรรลุธรรมในขณะทำกิจธุระนั่นนี่โน่นตามปกตินั่นเอง มีเรื่องบันทึกไว้ในคัมภีร์ให้ศึกษาดูได้

...........................

เรื่องนี้ไม่ได้คัดค้าน ต่อต้าน หรือโต้แย้งการปฏิบัติธรรมรวมกันที่จัดขึ้นตามวัดหรือตามสำนักต่าง ๆ ดังที่นิยมทำกันทั่วไป

ปฏิบัติรวมกัน ก็เป็นบุญเป็นกุศล ขออนุโมทนาอย่างยิ่ง

ปฏิบัติตามลำพัง ก็เป็นบุญเป็นกุศล ขออนุโมทนาอย่างยิ่ง

เพียงแต่ขอให้ศึกษาและเข้าใจให้ถูกต้องว่า-ที่เรียกว่า “ปฏิบัติธรรม” นั้น จริง ๆ แล้วคือทำอะไร

-----------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

๑๘:๔๕

[full-post]

ปกิณกธรรม,ปฏิบัติธรรม,กิจกรรม,กิจวัตร

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.