เราจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร
-------------------------------------
ถ้าศึกษาต้นบัญญัติสิกขาบทหรือศีลของพระ จะพบว่ามีสิกขาบทจำนวนมากที่เกิดจากคำตำหนิของชาวบ้านว่า “พระทำเช่นนี้ก็ไม่ต่างไปจากชาวบ้าน” หรือ “พระทำอย่างนี้ก็เหมือนชาวบ้านนี่เอง”
เราจึงน่าจะจับหลักได้ว่า วิถีชีวิตของพระต่างจากชาวบ้าน
อะไรที่พระทำลงไปแล้วชาวบ้านรู้สึกว่า-ทำแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากชาวบ้าน นี่ต้องระวัง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะมีพุทธบัญญัติห้ามไว้หรือไม่ก็ตาม
แน่นอนว่า การดำรงชีพของพระกับชาวบ้าน หลาย ๆ อย่างทำเหมือนกัน เช่นต้องกิน ต้องนอน ต้องใช้สอยปัจจัยสี่เหมือนกัน
หลาย ๆ อย่างที่ชาวบ้านเขาทำกันอย่างไร
พระก็ต้องทำอย่างนั้น
แต่ก็มีอีกหลาย ๆ อย่างที่ชาวบ้านเขาทำได้
แต่พระทำไม่ได้
และหลาย ๆ อย่างที่-ถ้าพระไปทำเข้า ก็จะเป็นที่มาของคำพูดที่ชาวบ้านเขาพูดกันว่า-พระทำแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับพวกเราชาวบ้าน
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า พระจะดำรงรักษา “ภาวะที่ต่างจากชาวบ้าน” ไว้ได้หรือเปล่า หรือดำรงรักษาไว้ได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้าดำรงรักษาไว้ได้มาก
ชาวบ้านก็เคารพนับถือมาก
เหตุผลที่เคารพนับถือมากก็คือ-พระท่านทำได้ แต่เรายังทำไม่ได้เหมือนท่าน เราจึงควรเคารพนับถือและสนับสนุนส่งเสริมท่าน
แต่ถ้าดำรงรักษาไว้ได้น้อย
ความเคารพนับถือของชาวบ้านก็จะน้อยลงไป
เหตุผลที่เคารพนับถือน้อยลงไปก็คือ-พระก็ไม่ต่างอะไรกับพวกเรา แล้วจะต้องเคารพนับถือไปทำไม
...........................
หลักอีกอย่างหนึ่งที่ควรจะได้จากการศึกษาพระธรรมวินัยก็คือ อะไรก็ตามที่-ถ้าไม่ต้องบวชก็ทำได้ นี่ต้องระวัง
ทุกวันนี้เราจะเห็นว่า พระทำนั่นนี่โน่นหลายอย่าง โดยเหตุผลว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม
แต่มักจะไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามว่า นั่นนี่โน่นที่พระท่านทำ และอ้างว่า-หรือมีผู้ยอมรับว่า-เป็นประโยชน์ต่อสังคม-นั้น ถ้าไม่บวช ทำได้ไหม
หรือว่าต้องบวชเท่านั้นจึงจะทำได้ ไม่บวชทำไม่ได้
๑ สิ่งนั้น บวชหรือไม่บวชก็ทำได้
๒ สิ่งนั้น ต้องบวชเท่านั้นจึงจะทำได้ ไม่บวชทำไม่ได้
ถ้ายกสองเรื่องนี้ขึ้นมาถาม ก็จะกลายเป็นอีกประเด็นหนึ่ง
นั่นคือประเด็นที่ว่า-พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ให้คนเข้ามาบวชเพื่อทำอะไรกัน?
ถ้าสิ่งนั้น บวชหรือไม่บวชก็ทำได้
พระพุทธเจ้าจะทรงตั้งคณะสงฆ์ให้คนเข้ามาบวชทำไม-ในเมื่อไม่บวชก็ทำสิ่งนั้นได้อยู่แล้ว?
ถ้าสิ่งนั้น ต้องบวชเท่านั้นจึงจะทำได้ ไม่บวชทำไม่ได้
บวชแล้วไม่ทำสิ่งนั้น แต่ไพล่ไปทำสิ่งอื่น ๆ-ซึ่งแม้ไม่บวชก็ทำได้
แบบนี้ จะเข้ามาบวชทำไม?
นี่คือประเด็นที่ต้องคิด
...........................
เรื่องบวชแล้วทำอะไรหรือไม่ทำอะไร นี่สำคัญมาก
เพราะเป็นการตอบคำถามว่า เราจะรักษาพระศาสนาไว้ได้อย่างไร
บวชแล้วไม่ทำสิ่งที่ต้องทำ แต่ไปทำสิ่งที่-แม้ไม่บวชก็ทำได้
ถ้าเป็นแบบนี้ทั่วไปหมด เราจะรักษาพระศาสนาไว้ได้หรือ?
และประการสำคัญ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้-สิ่งที่เรารักษากันมาและจะรักษากันต่อไปนั้น ลงท้ายกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่ “คำสอนของพระพุทธเจ้า”
.........................................................
อย่าลืมว่า พระพุทธศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้า
.........................................................
เวลานี้มีแนวคิดว่า สมัยนี้เป็นสมัยปุถุชน ไม่มีพระอริยะแล้ว เพราะฉะนั้นจะมาเกณฑ์ให้ปุถุชนต้องทำอะไร ๆ เหมือนพระอริยะไม่ได้หรอก มีพระไว้รักษาวัดก็ดีเท่าไรแล้ว ศีลข้อไหนรักษาได้ก็รักษาไป ข้อไหนรักษาไม่ได้ก็ต้องปล่อยไป
สรุปว่า การเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ไม่จำเป็นต้องตั้งมาตรฐานไว้ที่-ต้องมุ่งปฏิบัติขัดเกลาตนเองเพื่อบรรลุมรรคผล-เสมอไป
เชื่อว่าแนวคิดนี้คงมีคนเห็นด้วยเยอะ
เห็นด้วยกับการลดมาตรฐานของการบวชลงมา
.........................................................
“เราควรพัฒนาศักยภาพของเราขึ้นไปหามาตรฐาน
ไม่ใช่ลดมาตรฐานลงมาให้เท่ากับศักยภาพของเรา”
ผมเชื่ออย่างนี้
.........................................................
แม้เราจะยังพัฒนาตัวเองขึ้นไปถึงมาตรฐานไม่ได้ แต่ก็ควรจะรักษามาตรฐานเอาไว้ให้ได้ เพื่อที่ว่า-คนที่เกิดมาภายหลังจะได้เห็นมาตรฐานนั้น-เหมือนกับที่เราเคยเห็น
ใครมีวิริยะอุตสาหะ ก็จะได้พัฒนาตัวเองขึ้นไปสู่มาตรฐานนั้นต่อไป
และนั่นคือวิธีที่จะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างถูกต้อง
พระพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้า ย่อมดำรงอยู่และดำเนินไปได้ ด้วยประการฉะนี้
-----------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
๑๗:๓๕
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ