สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
สาระประโยชน์จากความรอบรู้ความเนื่องกันระหว่างลักษณะที่เป็นหน้าตาของตัวสิกขาบทบัญญัติ 17 ประการ กับ ลักษณะที่เป็นคุณสมบัติของบริวารสิกขาบท 21 ประการ
พระวินัย สอนความประพฤติเพื่อดำรงตนให้บรรลุนิพพานได้สะดวกสมเป็นสมณเพศ แม้ทุกสิกขาบทบัญญัติจะมีลักษณะหน้าตาประจำ 17 ประการ ได้แก่
1. นิทาน คือ สถานที่บัญญัติสิกขาบท
2 ปุคคล คือ ภิกษุผู้กระทำการละเมิดเป็นบุคคลแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงปรารภถึง แล้วบัญญัติสิกขาบท
3. วตฺถุ คือ เรื่องที่ทำการระเบิด
4. ปญฺญตฺติวิธิ คือ รูปแบบวิธีการบัญญัติ 9 แบบ
5. อาณตฺติ คือ ประเภทการสั่งที่สั่งแล้วเป็นอาบัติหรือไม่เป็นอาบัติ
6. อาปตฺติ คือ ประเภทของอาบัติ
7. อนาปตฺติ คือ อาการที่ไม่ต้องอาบัติ
8. วิปตฺติ คือ ประเภทวิบัติ
9. องฺค คือ องค์ประกอบที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติสิกขาบทข้อนั้นๆ
10. สมุฏฺฐานวิธิ คือ ช่องทางที่ต้องอาบัติ
11. กิริยานานตฺฺต คือความต่างกันแห่งอาการกิริยาที่เป็นเหตุทำให้ต้องอาบัติ
12. สญฺญานานตฺต คือความต่างกันแห่งสัญญาที่เป็นเหตุทำให้ต้องอาบัติ
13. จิตฺตานานตฺต คือ ความต่างกันแห่งจิตที่เป็นเหตุทำให้ตัองอาบัติ
14. วชฺชปฺปเภท คือ ประเภทแห่งโทษ มี โลกวัชชะเป็นต้นที่ต้องอาบัติ
15. กมฺมปเภท คือ ประเภทแห่งทวารกรรม มีกายกรรมเป็นต้นที่ต้องอาบัติ
16. กุสลตฺติกวิธิ คือ รูปแบบช่องทางประเภทจิตหมวด 3 มีกุศลจิตเป็นต้นที่ต้องอาบัติ
17. เวทนาตฺติกวิธิ คือ รูปแบบช่องทางประเภทเวทนาหมวด 3 มี สุขเวทนาเป็นต้นที่ต้องอาบัติ
โดยธรรมชาติ แม้ลักษณะหน้าตาสิกขาบทจะมีช่องทางการต้องอาบัติได้(สมุฏฐานวิธิ) 6 ช่องทาง คือ
1. กาย 2. วาจา 3. กายกับวาจา 4. กายกับจิต 5. วาจากับจิต 6. กายวาจากับจิต แต่รูปแบบอาบัติที่เกิดขึ้นได้สูงสุด(สมุฏฐานสีสะ) กลับมีได้ 13 รูปแบบ ดังนี้ คือ
* สิกขาบทบัญญัติที่เกิดอาบัติได้ช่องทางเดียว มี 3 รูปแบบ ได้แก่
1. รูปแบบ ปฐมปาราชิกสิกขาบท การเสพเมถุน(ปฐมปาราชิกสมุฏฐาน) เกิดช่องทางช กายกับจิต มีสิกขาบทบัญญัติรูปแบบนี้ 76 สิกขาบท
2. รูปแบบธัมมเทสนาสิกขาบท การแสดงธรรมแก่มาตุตามเกิน 5-6 คำ(ธัมมเทสนาสมุฏฐาน) เกิดช่องทางวาจากับจิต มีสิกขาบทรูปแบบนี้ 11 สิกขาบท
3. รูปแบบ สมนุภาสนสิกขทบท การสวดประกาศ(สมนุภาสนสมุฏฐาน) เกิดช่องทางกายวาจากับจิต มีสิกขาบทรูปแบบนี้ 37 สิกขาบท
* สิกขาบทบัญญัติ ที่เกิดได้ 2 ช่องทาง มี 5 รูปแบบ ได้แก่
1. รูปแบบ เอฬกโลมสิกขาบท การถือขนเจียม(แกะ)เดินทางไกลเกิน 3 โยชน์(เอฬกโลมสมุฏฐาน) เกิดช่องทางกาย และช่องทางกายกับจิต มีสิกขาบทรูปแบบนี้ 44 สิกขาบท
2. รูปแบบ ปทโสธัมสิกขาบท การสอนธรรมแก่อนุปสัมบัน เกิดช่องทางวาจา และช่องทางวาจากับจิต มีสิกขาบทรูปแบบนี้ 7 สิกขาบท
3. รูปแบบ กถินสิกขาบท การทรงอดิเรกจีวรเกิน 10 วัน(กถินสมุฏฐาน) เกิดช่องทางกายกับวาจา และ ช่องทาง กายวาจากับจิต มีสิกขาบทรูปแบบนี้ 29 สิกขาบท
4. รูปแบบ เถยยสัตถสิกขาบท การชักชวนกองคาราวานที่เป็นโจรร่วมเดินทางด้วย(เถยยสัตถสมุฏฐาน)เกิดช่องทาง กายกับจิต และช่องทาง กายวาจากับจิต มีสิกขาบทรูปแบบนี้ 7 สิกขาบท
5. รูปแบบ โจรีวุฏฐาปนสิกขาบท การบวชหญิงผู้เป็นโจร(โจรีวุฏฐาปนสมุฏฐาน) เกิดช่องทางวาจากับจิต และช่องทางกายวาจากับจิต มีสิกขาบทรูปแบบนี้ 1 สิกขาบท
* สิกขาบทบัญญัติที่เกิดได้ 3 ช่องทาง มี 2 รูปแบบ ได้แก่
1. รูปแบบ ภูตาโรจนสิกขาบท การบอกอุตริมนุสธรรมที่มีจริง แก่อนุปสัมบัน(ภูตาโรจนสมุฏฐาน) เกิดช่องทางกาย ช่องทางวาจา และช่องทาง กายกับวาจา มีสิกขาบทรูปแบบนี้ 1 สิกขาบท
2. รูปแบบ อทินนาทานสิกขาบท การลักทรัพย์ เกิดช่องทาง กายกับจิต ช่องทาง วาจากับจิต และช่องทาง กายวาจากับจิต มีสิกขาบทรูปแบบนี้ 70 สิกขาบท
* สิกขาบทบัญญัติที่เกิดอาบัติได้ 4 ช่องทาง มี 2 รูปแบบ ได้แก่
1. รูปแบบ อัทธานสิกขาบท การชักชวนภิกษุณีร่วมเดินทางไปด้วยกัน เกิดช่องทาง กาย ทาง กายกับวาจา ช่องทาง กายกับจิต และ ช่องทาง กายวาจากับจิต มีสิกขาบทรูปแบบนี้ 15 สิกขาบท
2. รูปแบบ อนนุญญาตสิกขาบท การบวชสตรีที่มารดาบิดา หรือสามีไม่อนุญาต เกิดช่องทาง วาจา ช่องทาง กายกับวาจา ช่องทาง วาจากับจิต และ ช่องทาง กายวาจากับจิต มีสิกขาบทรูปแบบนี้ 1 สิกขาบท
* สิกขาบทบัญญัตืที่เกิดอาบัติได้ 5 ช่องทาง ไม่มี
* สิกขาบทบัญญัติ ที่เกิดอาบัติได้ทั้ง 6 ช่องทาง มี 1 รูปแบบ ได้แก่
1. รูปแบบ สัญจริตตสิกขาบท การชักสื่อชายหญิงให้เป็นสามีภรรยากัน เกิดได้ครบทั้ง 6 ช่องทาง มีสิกขาบทรูปแบบนี้ 50 สิกขาบท ดังนั้น ลักษณะที่เป็นหน้าตาของสิกขาบท จึงมีสาระอยู่ที่รูปแบบสิกขาบท เพราะเมื่อจับเอารูปแบบได้ ลักษณะที่เป็นหน้าตาก็หลั่งไหลออกมาให้ทราบได้
ส่วนลักษณะที่เป็นคุณสมบัติของสิกขาบท 21 ประการที่เป็นบริวารของสิกขาบท มีสาระอยู่ที่การทดสอบ ความเป็นเหตุ 8 วาระ และความเป็นผล 8 วาระของสิกขาบท ด้วยภิกขุวิภังค์โสฬสมหาวาระ 16 และ ภิกขุนีวิภังค์โสฬสมหาวาระ 16 เหมือนหมอยาทดสอบยา และคุณสมบัติยาที่ร่างกายสัตว์ ทั้งลักษณะที่เป็นหน้าตาของสิกขาบทบัญญัติ ทั้งลักษณะที่เป็นคุณสมบัติของสิกขาบทบัญญัติ ต่างต้องพิจารณาในส่วนที่เป็นท้องเรื่องเดียวกัน(นิทาน บุคคล วัตถุ) จึงนับเนื่องกันด้วยท้องเรื่องเดียว คือ ตัวสิกขาบทเดียวกันนั่นเอง พระภิกษุผู้ฝึกประพฤติตนเพื่อความสิ้นไปแห่งวัฎฏทุกข์ และฆราวาสผู้ประสงค์เกื้อกูลพระภิกษุให้ประพฤติปฏิบัติได้สะดวก โปรดใส่ใจศึกษาลักษณะทั้งสองประการแห่งสิกขาบทบัญญัติเถิด
(สาระประโยชน์ความเนื่องกันแห่งลักษณะที่เป็นหน้าตา 17 ประการ และลักษณะที่เป็นคุณสมบัติ 21 ประการในแต่ละสิกขาบท จากนิสสยะ อักษรปัลลวะ อักษรสิงหล อักษรขอม)
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ