ภาษามคธ (บาลี)

ถอยหลังจากนี้ ๒๕๐๐ ปีขึ้นไป แถบเหนือของประเทศอินเดียมีแคว้นหนึ่งชื่อ มคธ (รัฐพิหาร ปัจจุบัน) สมัยนั้นชาวเมืองใช้ภาษา มาคธี หรือ มคธภาษา มันคือแยกย่อยของภาษาปรากฤต แห่งชนชาวอินเดียโบราณ..พุทธองค์ทรงสอนประชาชนด้วยภาษานี้..เลยถูกแยกเป็น ๒ ภาษาคือ

เทสิยา (อสุทธมาคธี) ภาษาพื้นบ้านที่พูดกัน ไม่มีแบบแผนมาตรฐานอะไรนัก

ปาลิ (สุทธมาคธี) ภาษาร้อยกรองพุทธพจน์ - มีระเบียบแบบแผนเช่นหลักไวยากรณ์เป็นต้น..นักปราชญ์เรียกว่า "ตนฺตี ภาสา"

 บาลี แบ่งเป็นหมวดใหญ่ ๓ คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก.

พระไตรปิฎกนี้เป็น "มุขปาฐะ" ทรงจำกันด้วยปากเรื่อยมา ตั้งแต่พุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ จน พ.ศ. ๔๕๒ - ๔๖๔ จดลงใบลานที่ศรีลังกา(สังคายนาครั้งที่ ๕) นี่เป็นบาลีชั้นที่หนึ่ง.

ประมาณ พ.ศ. ๙๕๖ พระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกา แก้ไขอธิบายพระไตรปิฎก..เรียกตำราของท่านว่า "อรรถกถา" (ที่เราใช้เรียนกัน) นี่เป็นบาลีชั้นที่สอง..ต่อมาจึงเกิด ฎีกา อนุฎีกา โยชนา และไวยากรณ์ต่างๆขึ้น.

ตำราไวยากรณ์ที่สำคัญๆคือ กัจจายนะ โมคคัลลานะ สัททนีติ (ที่สูญหายไปก็มี)

ตำราคัมภีร์กัจจายนะ ฎีกาท่านว่า พระมหากัจจายนะแต่งขึ้น(สมัยพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่)

คัมภีร์โมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะแต่งขึ้นที่ลังกา ประมาณ พ.ศ. ๑๖๙๕ - ๗ (แต่ง อภิธานัปปทีปิกาด้วย)

คัมภีร์สัททนีติ พระอัคควงสาจารย์แต่งที่พม่า รุ่นเดียวกับคัมภีร์โมคคัลลานะ..คัมภีร์สัททนีติ ละเอียดที่สุด พวกฝรั่งก็มีของ ชิลเดอรส เป็นต้น.

 ปัจจุบัน น.ร.บาลีเมืองไทย เรียนไวยากรณ์แบบย่อของสมเด็จมหาสมณเจ้าฯ ในพม่าและบางสำนักเรียนในไทย เรียนบาลีใหญ่ คือจากคัมภีร์กัจจายนะเป็นต้น..ไทยโบราณก็เรียน "มูลกัจจายน์" เหมือนกัน.

    คำว่า "มคธ"

๑. อรรถกถาอัมพัฏฐสูตร วิเคราะห์ว่า มคฺเคน สทฺธึ ธาวนฺตีติ มคฺคธา แปลว่า เที่ยวไปกับทาง ลง กฺวิ ปัจจัย.

๒. ฎีกาภูมิวรรค วิเคราะห์ว่า มํเสสุ คิชฺฌนฺตีติ มคธา แปลว่า คนติด(กิน)เนื้อ คิธ  ธาตุ ในความจำนง.

๓. อรรถกถากูฏทันตสูตร ว่า เป็นชื่อหมู่บ้านของเจ้าชายชื่อ มคธ.

๔. อรรถกถากุสิภารทวารสูตรว่า พระเจ้าเจติยราชโกหก ถูกแผ่นดินสูบ คนพูดกันว่า "พวกเราช่วยกันขุดดินหาพระราชาเถิด" ตรงนั้นเลยชื่อ มคธ แปลว่า ค้นหา มคฺค ธาตุ ในความค้นหา.


[full-post]

ปกิณกธรรม,บาลี,ภาษาบาลี,มคธภาสา

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.