ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (4,289)
อาภรณ์พิโมกข์ปราสาท
อย่าประมาทว่าเขียนถูก
อ่านว่า อา-พอน-พิ-โมก-ปฺรา-สาด
ประกอบด้วยคำว่า อาภรณ์ + พิโมกข์ + ปราสาท
(๑) “อาภรณ์”
บาลีเป็น “อาภรณ” (อา-พะ-ระ-นะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ภรฺ (ธาตุ = ทรงไว้, ประดับ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ (ยุ > อน > อณ)
: อา + ภรฺ = อาภรฺ + ยุ > อน = อาภรน > อาภรณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลทรงไว้” หรือ “สิ่งอันบุคคลประดับไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาภรณ” ตามศัพท์ว่า “that which is taken up or put on” (สิ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาหรือสวมใส่)
“อาภรณ” หมายถึง การประดับ, เครื่องประดับ, เครื่องเพชรพลอย (ornament, decoration, trinkets)
“อาภรณ” ในภาษาไทย ใส่การันต์ที่ ณ เป็น “อาภรณ์” อ่านว่า อา-พอน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“อาภรณ์ : (คำนาม) เครื่องประดับ, บางทีก็ใช้เป็นส่วนท้ายของคําสมาส เช่น พัสตราภรณ์ = เครื่องประดับคือเสื้อผ้า สิราภรณ์ = เครื่องประดับศีรษะ คชาภรณ์ = เครื่องประดับช้าง พิมพาภรณ์ = เครื่องประดับร่างกาย ในคําว่า ถนิมพิมพาภรณ์ ธรรมาภรณ์ = มีธรรมะเป็นเครื่องประดับ. (ป., ส.).”
(๒) “พิโมกข์”
บาลีเป็น “วิโมกฺข” อ่านว่า วิ-โมก-ขะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + มุจฺ (ธาตุ = ปล่อย, เปลื้อง; หลุด, พ้น) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อุ ที่ มุ-(จฺ) เป็น โอ แล้วแปลง จฺ เป็น ข (มุจฺ > โมจ > โมข), ซ้อน กฺ
: วิ + มุจฺ = วิมุจฺ + อ = วิมุจ = วิโมจ > วิโม + กฺ + ข > วิโมกฺข แปลตามศัพท์ว่า “การเปลื้องออกอย่างพิเศษ” “การหลุดพ้นพิเศษ” “ธรรมเป็นที่หลุดพ้น” “ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากราคะเป็นต้น”
“วิโมกฺข” ในบาลีหมายถึง ความหลุดพ้น, ความปลดเปลื้อง, ความปลดปล่อย, การพ้นจากโลกีย์, ความเป็นอรหันต์ (deliverance, release, emancipation, dissociation from the things of the world, Arahantship)
บาลี “วิโมกฺข” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิโมกข์” “พิโมกข์” และใช้อิงสันสกฤตเป็น “พิโมกษ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
(1) วิโมกข์ : (คำนาม) ความหลุดพ้น, การขาดจากความพัวพันแห่งโลก; พระนิพพาน. (ป.; ส. วิโมกฺษ).
(2) พิโมกข์ : (คำนาม) ความพ้น, ความเปลื้องออก, ชื่อพระนิพพาน. (คำกริยา) เปลื้อง, พ้น. (ป. วิโมกฺข; ส. วิโมกฺษ).
(3) พิโมกษ์ : (คำนาม) พิโมกข์. (ส. วิโมกฺษ; ป. วิโมกฺข).
ในที่นี้ใช้เป็น “พิโมกข์” หมายถึง เปลื้องหรือเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย (release)
(๓) “ปราสาท”
บาลีเป็น “ปาสาท” อ่านว่า ปา-สา-ทะ รากศัพท์มาจาก -
(1) ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + สทฺ (ธาตุ = แผ่ไป, ยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ป เป็น อา (ป > ปา), ทีฆะ อะ ที่ ส-(ทฺ) เป็น อา (สทฺ > สาท)
: ป + สทฺ = ปสทฺ + ณ = ปสทณ > ปสท > ปาสท > ปาสาท แปลตามศัพท์ว่า “อาคารเป็นที่ยินดีแห่งตาและใจ”
(2) ปสาท (ความยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ป-(สาท) เป็น อา (ปสาท > ปาสาท)
: ปสาท + ณ = ปสาทณ > ปสาท > ปาสาท แปลตามศัพท์ว่า “อาคารที่ยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้น”
“ปาสาท” นักเรียนบาลีแปลทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า ปราสาท
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาสาท” ว่า a lofty plat-form, a building on high foundations, a terrace, palace (แท่นหรือชานหรือยกพื้นสูง, สิ่งก่อสร้างที่มีฐานสูง, อาคารเป็นชั้นๆ, วัง)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -
“ปฺราสาท : (คำนาม) ‘ปราสาท,’ วิหาร; มนเทียร, พระราชวัง; a temple; a palace, a building inhabited by a prince or king.”
“ปาสาท” ใช้ในภาษาไทยตามรูปสันสกฤตเป็น “ปราสาท”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ปราสาท : (คำนาม) เรือนมียอดเป็นชั้น ๆ สําหรับเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินหรือเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์. (ส. ปฺราสาท; ป. ปาสาท).”
การประสมคำ :
(๑) อาภรณ์ + พิโมกข์ = อาภรณ์พิโมกข์ (อา-พอน-พิ-โมก) แปลว่า “สถานที่เปลื้องเครื่องประดับ” คือสถานที่เปลื้องเครื่องประดับบางส่วน เช่นถอดพระมหามงกุฎออก หรือเปลี่ยนเครื่องทรงจากแบบหนึ่งเป็นอีกแบบหนึ่ง เพื่อให้เหมาะแก่พระราชภารกิจ
(๒) อาภรณ์พิโมกข์ + ปราสาท = อาภรณ์พิโมกข์ปราสาท (อา-พอน-พิ-โมก-ปฺรา-สาด) แปลว่า “ปราสาทหรือพระที่นั่งสำหรับเปลื้องเครื่องประดับ” หรือ “พระที่นั่งสำหรับเปลี่ยนเครื่องทรง”
หมายเหตุ: คำว่า “อาภรณ์พิโมกข์ปราสาท” ว่าตามหลักคำสมาส ไม่ต้องมีการันต์ที่ -ณ์ และ -ข์ คือควรเขียนเป็น “อาภรณพิโมกขปราสาท” และควรอ่านว่า อา-พอน-พิ-โมก-ขะ-ปฺรา-สาด
ในที่นี้เขียนตามเอกสารของทางราชการ
ขยายความ :
เอกสารชื่อ “คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ที่คำว่า “พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท (๑)” มีคำอธิบายดังนี้ -
..............
พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท (๑)
พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ตั้งอยู่บนแนวกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านตะวันออก เป็นปราสาทโถงแบบจัตุรมุข มุขด้านตะวันออกและตะวันตกเป็นมุขสั้น มีหลังคาชั้นลด ๒ ชั้น ส่วนมุขด้านเหนือและด้านใต้เป็นมุขยาว มีหลังคาชั้นลด ๔ ชั้น เป็นหลังคาดาดดีบุก ทำลักษณะคล้ายเครื่องบนเครื่องยอดบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หน้าบันจำหลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงยืนบนแท่น พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาอยู่ในท่าประทานพร สองข้างรูปพระอินทร์เป็นรูปเทพนม ตรงหน้ามุขมีอัฒจันทร์เป็นทางขึ้นลงทั้ง ๔ ด้าน ด้านตะวันออกสำหรับประทับพระราชยานนอกกำแพงแก้ว ด้านตะวันตกเป็นทางลงสู่ภายในกำแพงแก้ว ด้านเหนือเป็นทางลงสู่พระลานพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ส่วนด้านใต้เป็นทางลงสู่ชานที่เชื่อมกับชานมุขด้านตะวันออกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นสำหรับประทับพระราชยานในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนราบ เทียบพระราชยานเชิญพระบรมอัฐิ และประทับรับส่งพระราชโอรสพระราชธิดาในพระราชพิธีโสกันต์
..............
และที่คำว่า “พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท (๒)” มีคำอธิบายดังนี้ -
..............
พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท (๒)
พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นปราสาทองค์เล็ก ตั้งอยู่ตรงแนวกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านตะวันออก ลักษณะเป็นปราสาทโถงแบบจัตุรมุข มุขด้านตะวันออกและด้านตะวันตกมีหลังคาชั้นลด ๒ ชั้น ส่วนมุขด้านเหนือและด้านใต้มีหลังคาชั้นลด ๔ ชั้น ตรงหน้ามุขมีอัฒจันทร์เป็นทางขึ้นลงทั้ง ๔ ด้าน ใช้สำหรับประทับพระราชยานในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราเป็นต้น
ในจดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีข้อความกล่าวถึงพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทว่า “เวลาบ่ายโมงหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องพระบรมราชาภิเษกทรงพระมหามาลาเส้าสูงสีดำ เสด็จออกทางพระทวารมุขกระสันพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ทรงเปลื้องพระมหามาลาทรงพระมหาพิไชยมงกุฎแล้ว เสด็จลงสู่เกยประทับพระราเชนทรยาน...”
..............
เว็บไซต์แห่งหนึ่งอธิบายไว้ว่า -
..............
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นที่ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์สำหรับการพระราชพิธีที่ต้องประทับพระราชยานในการเสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราหรือกระบวนราบในโอกาสต่างๆ เช่น การเสด็จฯ เลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การส่งรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอไปทรงฟังสวดพระพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในการพระราชพิธีโสกันต์
ที่มา: http://www.rspg.org/royals/grandpalace/grandpalace11.htm
..............
ขอบเขตของบาลีวันละคำมีเพียงแค่แยกศัพท์และแปลความหมายเท่านั้น รายละเอียดอื่น ๆ ของสถานที่ แสดงไว้เท่าที่พอจะหามาได้ ท่านผู้ต้องการทราบรายละเอียดมากกว่านี้ พึงแสวงหาตามอัธยาศัยเถิด
..............
พระที่นั่งหรือสถานที่เพื่อเปลี่ยนเครื่องทรงนี้ มีคำเก่าเรียกว่า “ศาลาเปลื้องเครื่อง” คำว่า “เปลื้องเครื่อง” นั่นเองที่เอามาแปลงเป็น “อาภรณ์พิโมกข์”
“อาภรณ์” = เครื่อง คือเครื่องทรง เครื่องแต่งองค์ของเจ้านาย
“พิโมกข์” = เปลื้อง คือถอดออก เพื่อเปลี่ยนใหม่เป็นต้น
“อาภรณ์พิโมกข์” = เปลื้องเครื่อง
คำว่า “อาภรณ์พิโมกข์” “-พิโมกข์” สะกดด้วย พิ- พ พาน
ในที่หลาย ๆ แห่งที่เผยแพร่กันอยู่ สะกดเป็น “อาภรณ์ภิโมกข์” “-ภิโมกข์” สะกดด้วย ภิ- ภ สำเภา โปรดทราบว่าเป็นการสะกดผิด
“อาภรณ์พิโมกข์ปราสาท” “-พิโมกข์” สะกดด้วย พิ- พ พาน
“อาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท” ภิโมกข์- ภ สำเภา สะกดผิด อย่าใช้ตามและอย่านำไปอ้างอิง
แถม :
สถานที่เปลื้องเครื่องเช่นนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เรื่องในคัมภีร์จับความได้ว่า สมัยใดที่พระพุทธเจ้าประทับที่เขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์แคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารราชาแคว้นมคธมักเสด็จไปเฝ้า ออกจากเมืองแต่งองค์เต็มยศแบบกษัตริย์ เมื่อใกล้ถึงพระคันธกุฎีที่ประทับก็จะทรงเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นชุดอุบาสกเข้าไปเฝ้า
ทุกวันนี้สถานที่เปลื้องเครื่องทรงยังมีร่องรอยอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ
..............
ดูก่อนภราดา!
: แต่งกายถูกกาลเทศะ
: เป็นการประพฤติธรรมะของอารยชน
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ