ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (4,276)
อาคตสถาน
ถึงจะไม่เรียกไม่ขาน ก็ควรรู้ความหมาย
อ่านว่า อา-คะ-ตะ-สะ-ถาน
ประกอบด้วยคำว่า อาคต + สถาน
(๑) “อาคต”
อ่านว่า อา-คะ-ตะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + คมฺ (ธาตุ = ไป) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (คมฺ > ค)
: อา + คมฺ = อาคมฺ + ต = อาคมต > อาคต แปลตามศัพท์ว่า “มาแล้ว”
หลักภาษา : อา คำอุปสรรคปกติใช้นำหน้าธาตุ มีความหมายหลายอย่างคือ ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “กลับความ” คือนำหน้าธาตุตัวใด ทำให้ความหมายของธาตุตัวนั้นกลับความเป็นตรงกันข้าม เช่น -
“ทา” ธาตุ มีความหมายว่า “ให้”
เมื่อมี อา นำหน้า เป็น “อาทา” ความหมายกลับตรงกันข้าม จาก “ให้” กลายเป็น “เอา” (รับเอา, คว้าเอา, ยึดเอา)
“หรฺ” ธาตุ มีความหมายว่า “นำไป”
เมื่อมี อา นำหน้า เป็น “อาหร” ความหมายกลับตรงกันข้าม จาก “นำไป” กลายเป็น “นำมา”
ในที่นี้ “คมฺ” ธาตุ มีความหมายว่า “ไป”
เมื่อมี อา นำหน้า เป็น “อาคม” ความหมายกลับตรงกันข้าม จาก “ไป” กลายเป็น “มา”
(๒) “สถาน”
บาลีเป็น “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ฐา + ยุ > อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล”
“ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)
บาลี “ฐาน” สันสกฤตเป็น “สฺถาน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺถาน : (คำนาม) สถล, ที่, ตำแหน่ง; การอยู่; สมพาท, ความแม้น; อวกาศหรือมัธยสถาน; ที่แจ้งในเมือง, ทุ่ง, ฯลฯ; เรือน, บ้านหรือที่อาศรัย; บริเฉท; บุรี, นคร; สำนักงาร; บท, สถิติ; การหยุด; place, site, situation; staying; resemblance, likeness; leisure or interval; an open place in a town, a plain, &c.; a house, a dwelling; a chapter; a town, a city; an office; degree, station; halt.”
ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “สถาน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“สถาน ๑ : (คำนาม) ที่ตั้ง เช่น สถานเสาวภา สถานพยาบาล สถานพักฟื้น สถานบริบาลทารก, ถ้าใช้ประกอบคำอื่นหมายถึง ที่, แหล่ง, เช่น โบราณสถาน ศาสนสถาน ฌาปนสถาน ปูชนียสถาน สังเวชนียสถาน; ประการ เช่น มีความผิดหลายสถาน. (ส.; ป. ฐาน).”
อาคต + สถาน = อาคตสถาน (อา-คะ-ตะ-สะ-ถาน)
อภิปรายขยายความ :
“อาคตสถาน” ถ้าเป็นรูปบาลี ก็คือ อาคต + ฏฺ + ฐาน = อาคตฏฺฐาน (อา-คะ-ตัด-ถา-นะ) แปลว่า “ที่ตั้งอันมาแล้ว” หมายถึง ข้อความหรือเรื่องราวมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ใด เมื่อยกข้อความหรือเรื่องราวในคัมภีร์นั้นมาแสดง ก็บอกไว้ด้วยว่ายกมาจากคัมภีร์อะไร เล่มไหน หน้าไหน พูดเป็นภาษานิยมว่า “เรื่องนี้มาในคัมภีร์นั้น”
คัมภีร์ที่เรายกเรื่องนั้นมานั่นแหละท่านเรียกเป็นคำศัพท์วิชาการว่า “อาคตฏฺฐาน” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “อาคตสถาน”
ความหมายที่อธิบายมานี้ ถ้าใช้คำอังกฤษว่า reference คนรุ่นใหม่จะเข้าใจทันที
สรุปสั้น ๆ “อาคตฏฺฐาน” หรือ “อาคตสถาน” ก็คือ-ที่คำอังกฤษเรียกว่า reference นั่นเอง
คำว่า “อาคตสถาน” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
..............
ดูก่อนภราดา!
: จะใช้คำฝรั่งก็ไม่เป็นไร
ถ้าคำไทยยังไม่มี
: จะใช้คำฝรั่งทำไม
: ถ้าคำไทยของเราก็มี
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ