ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,275)


ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์

“ภิกฺขเว” เป็นคำบาลี อ่านว่า พิก-ขะ-เว

“ดูกรสงฆ์” เป็นคำแปลเป็นไทย นิยมอ่านว่า ดู-กะ-ระ-สง

ในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกจะมีคำว่า “ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์...” แทรกอยู่ตรงขึ้นต้นแหล่แทบทุกครั้ง นั่นย่อมหมายความว่า มหาเวสสันดรชาดกเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้ภิกษุสงฆ์ฟัง จึงมีคำว่า “ภิกฺขเว” อันเป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกภิกษุแทรกอยู่เป็นระยะตลอดทั้งเรื่อง

“ภิกฺขเว” เป็นรูปคำที่แจกวิภัตติแล้ว คำเดิมเป็น “ภิกฺขุ” (พิก-ขุ) มีรากศัพท์มาได้หลายทาง ดังนี้ -

(1) “ผู้ขอ” : ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภิกฺขฺ (ธาตุ = ขอ) + รู ปัจจัย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ

(2) “ผู้นุ่งห่มผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย” : ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ = ภินฺนปฏ = ผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ, ธโร = ผู้ทรงไว้ = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู ปัจจัย, รัสสะ อู เป็น อุ

(3) “ผู้เห็นภัยในการเวียนตายเวียนเกิด” : สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภย (ภัย) + อิกฺขฺ (ธาตุ = เห็น) + รู ปัจจัย, ลบ ย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ

(4) “ผู้ทำลายบาปอกุศล” : ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู ปัจจัย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ

(5) “ผู้ได้บริโภคอมตรสคือพระนิพพาน” : ภกฺขติ อมตรสํ ภุญฺชตีติ ภิกฺขุ = ภกฺขฺ (ธาตุ = บริโภค) + รู ปัจจัย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ

, แปลง อะ ที่ ภ-(กฺขฺ) เป็น อิ (ภกฺขฺ > ภิกฺข)

“ภิกฺขุ” (ปุงลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามหมวดอาลปนะ พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ภิกฺขเว” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย” 

ขยายความ :

คำว่า “ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์...” ที่ยกมาเป็นบาลีวันละคำนี้ไม่ใช่คำเต็ม คำแปลเต็ม ๆ ในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกมีหลากหลายสำนวน ผู้เขียนบาลีวันละคำตรวจสอบดูในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ พบคำว่า “ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์...” 39 แห่ง ดังต่อไปนี้ -

..............

กัณฑ์ที่ ทศพร สำนวนกรมพระปรมานุชิตชิโนรส 2 แห่ง

ภิกฺขเว  ดูกรสงฆ์ทั้งหลาย

ภิกฺขเว  ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสิกขา

กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต์ สำนวนกรมพระปรมานุชิตชิโนรส 3 แห่ง

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสังวร

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสังวรสิกขา

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลวิสุทธิญาณ

กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์ สำนวนสำนักวัดถนน 3 แห่ง

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลโอภาส

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลวิสุทธิสิกขา

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลวิเศษ

กัณฑ์ที่ 4 วนประเวศน์ สำนวนกรมพระปรมานุชิตชิโนรส 4 แห่ง

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสังวร

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสมาธิพรหมจรรยา

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสังวรอินทรีย์

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสมาธิปัญญา

กัณฑ์ที่ 5 ชูชก สำนวนพระเทพมุนี (ด้วง) วัดสังกระจาย 4 แห่ง

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ศรีวิสุทธิวงศ์อัครชิโนรสวิเศษ ผู้ทรงศีลสมณเพศพวกบรรพชา

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ศรีรัตนวงศ์วิสุทธิชาติ ผู้มีญาณวุฒิยุตต์ยิ่งเปรมปราชญ์ ประหานหักกิเลส

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์สยัมภูญาณพงศ์พุทธเวไนย ผู้มีอุกฤษฐญาณูปนิสัยสุดสิ้นเสร็จกิเลสสงคราม

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์สมาทานธุดงค์อรัญญิกาวาส ผู้สิ้นเสียสันโดษ ตัดปลิโพธข้องข่มขาดควรจะคำนึง

กัณฑ์ที่ 6 จุลพน สำนวนกรมพระปรมานุชิตชิโนรส 1 แห่ง

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้กลัวภัยในวัฏสงสาร

กัณฑ์ที่ 7 มหาพน สำนวนพระเทพโมลี (กลิ่น) 1 แห่ง

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสังวรวินัย ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏโดยพิเศษ

กัณฑ์ที่ 8 กุมาร สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) 2 แห่ง

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสมาธิปัญญา

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสมาธิปัญญา

กัณฑ์ที่ 9 มัทรี สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) 3 แห่ง

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสังวรญาณ

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงพรหมจารี

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลวิสุทธิสิกขา

กัณฑ์ที่ 10 สักกบรรพ สำนวนกรมพระปรมานุชิตชิโนรส 5 แห่ง

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลวิสุทธิสังวร

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสมาธิอินทรีย์

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลาทิคุณพิเศษ

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสังวรสิกขา

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสมาธิญาณ

กัณฑ์ที่ 11 มหาราช สำนวนกรมพระปรมานุชิตชิโนรส 2 แห่ง

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลวิสุทธิสิกขา

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสังวรวิสุทธิ์

กัณฑ์ที่ 12 ฉกษัตริย์ สำนวนกรมพระปรมานุชิตชิโนรส 4 แห่ง

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสังวรอินทรีย์

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสมาธิญาณ

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสมาธิญาณ

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร

กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์ สำนวนกรมพระปรมานุชิตชิโนรส 5 แห่ง

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสังวรวิเศษ

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสมาธิอินทรีย์

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลวิสุทธิสังวร

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงจตุปาริสุทธศีลวิเศษ

ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลสังวรอินทรีย์

..............

ข้อสังเกต :

บรรดาคำแปล “ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์” ทั้ง 13 กัณฑ์ 39 แห่ง เฉพาะกัณฑ์ชูชกมี 4 แห่ง คำแปลทั้ง 4 แห่งประกอบศัพท์ยืดยาวมากกว่าทุกแห่งทุกกัณฑ์ จนดูเป็นบุคลิกพิเศษของกัณฑ์นี้

..............

ดูก่อนภราดา!

: พระพุทธเจ้าปรินิพพานมานานไกล

: ถ้าไม่เรียนพระธรรมวินัย จะมีใครมาเรียกสติเตือนเรา

[full-post]

Bhasadhamma,ภิกฺขเว,ภาษาธรรม,ทองย้อย,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.