การศึกษาเพื่อใช้งาน (๔)-จบ
---------------------
บาลีคือภาษาชนิดหนึ่งในจำพวกภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารกัน
ผู้นำพระพุทธศาสนาเลือกใช้ภาษาบาลีเป็นภาษาบันทึกพระพุทธพจน์ มีสูตรบอกความหมายว่า “พุทฺธวจนํ ปาเลตีติ ปาลิ = บาลีคือภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ไว้”
พระพุทธพจน์คืออะไร?
พระพุทธพจน์คือคำของพระพุทธเจ้า
คือพระธรรมวินัย
คือตัวพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาที่ชาวโลกนับถือกันอยู่ทุกวันนี้นี่แหละ คือพระพุทธพจน์
บาลีคือภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ไว้ ก็คือบาลีคือภาษาที่รักษาพระพุทธศาสนาไว้
และข้อเท็จจริงที่ประจักษ์และต้องเข้าใจไว้ด้วยก็คือ แหล่งที่ใช้ภาษาบาลีมีแห่งเดียวในโลก คือพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎกคืออะไร?
ขอนำคำอธิบายตอนหนึ่งจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอในที่นี้เพื่อเป็นคำตอบ
.........................................................
ไตรปิฎก : “ปิฎกสาม”; ปิฎก แปลตามศัพท์อย่างพื้น ๆ ว่า กระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่าง ๆ เข้าไว้ นำมาใช้ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้ว โดยนัยนี้ ไตรปิฎก จึงแปลว่า “คัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์ (และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา) ๓ ชุด” หรือ “ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด” กล่าวคือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และ อภิธรรมปิฎก
พระไตรปิฎกบาลีได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มหนังสือด้วยอักษรไทยครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ เสร็จและฉลองพร้อมกับงานรัชดาภิเษกใน พ.ศ. ๒๔๓๖ แต่ยังมีเพียง ๓๙ เล่ม (ขาดคัมภีร์ปัฏฐาน) ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๘ ในรัชกาลที่ ๗ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ใหม่เป็นฉบับที่สมบูรณ์ เพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ ๖ เรียกว่า สฺยามรฏฺฐสฺส เตปิฏกํ (พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ) มีจำนวนจบละ ๔๕ เล่ม
.........................................................
พึงทราบต่อไปว่า พระไตรปิฎกไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย
ประเทศอื่น ๆ ก็มีพระไตรปิฎก
ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ไม่มีตัวอักษรประจำภาษา ชาติไหนเรียนภาษาบาลี ก็เขียนภาษาบาลีเป็นตัวอักษรของชาตินั้น อย่างไทยเราเรียนบาลีก็เขียนภาษาบาลีเป็นตัวอักษรไทย (ชั้นเดิมเขียนเป็นตัวอักษรขอม) พระไตรปิฎกที่มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ ก็เขียนเป็นตัวอักษรของชาตินั้น ๆ แต่ภาษาก็ยังคงเป็นภาษาบาลี นี่คือต้องเข้าใจด้วยว่า ภาษากับตัวอักษรต่างกันอย่างไร
เมื่อภาษาบาลีเป็นภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ คือรักษาพระพุทธศาสนา การเรียนบาลีก็จึงหมายถึงการเรียนวิธีรักษาพระพุทธศาสนานั่นเอง
รักษาพระพุทธศาสนาด้วยวิธีเรียนบาลี จึงทำได้ด้วยการลงมือทำ นั่นคือเอาความรู้บาลีไปใช้งาน
เอาความรู้บาลีไปใช้งานคือทำอะไร?
ก็คือการเอาความรู้บาลีไปศึกษาพระไตรปิฎก (๑) เพื่อให้รู้เข้าใจคำสอนที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา (๒) แล้วเอาคำสอนนั้นมาปฏิบัติขัดเกลาตนเอง (๓) แล้วบอกกล่าวคำสอนนั้นให้แพร่หลายต่อไป
ทำอย่างนี้คือที่เรียกว่า-เอาความรู้บาลีไปใช้งาน
การเรียนบาลีของเรา แต่เดิมก็คือเรียนเพื่อเอาไปใช้งานแบบนี้
คือ-เพราะต้องการจะรักษาพระพุทธศาสนาจึงเรียนบาลี
ไม่ได้เรียนเพื่อให้จบ
ไม่ได้เรียนเพื่อให้ได้ศักดิ์และสิทธิ์
ไม่ได้เรียนไว้โก้ ๆ เรียนไว้ประดับเกียรติ
หรือแม้แต่-เรียนไว้เพื่อประดับความรู้
หากแต่เรียนบาลีเพื่อเอาความรู้บาลีไปลงมือทำงานรักษาพระศาสนาจริง ๆ
การเรียนบาลีเพียงเพื่อให้สอบได้ คือเพื่อจบการศึกษา แต่ไม่ได้เอาความรู้บาลีไปใช้งาน ก็เท่ากับยังไม่ได้ลงมือรักษาพระพุทธศาสนาแต่อย่างใดเลยนั่นเอง
นี่คือที่ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่เอาความรู้บาลีไปใช้งาน จะเรียนบาลีไปทำอะไร
จะเข้าใจเจตนาของคำถามนี้และตอบคำถามนี้ได้ จะต้องขึ้นมาจากบ่อแห่งค่านิยมการศึกษา ที่นิยมกันว่า-ศึกษาเพื่อให้จบ จบเพื่อให้ได้ศักดิ์และสิทธิ์
เพราะเวลานี้เรากำลังจมอยู่ในค่านิยมนี้ ยังขึ้นจากบ่อนี้ไม่ได้ และยังไม่มีใคร-แม้แต่ผู้บริหารการศึกษาของคณะสงฆ์เอง-ที่คิดจะขึ้นจากบ่อนี้!
ต้องขึ้นมาจากค่านิยมนี้และก้าวข้ามไปให้ได้ก่อน
จึงจะเข้าใจได้ว่า การศึกษาเพื่อใช้งานคืออะไร
เรียนบาลีเพื่อใช้งานคืออย่างไร
และทำไมจึงต้องเรียนบาลีเพื่อใช้งาน
เมื่อใดที่เข้าใจได้
เมื่อนั้นจะเกิดฉันทะวิริยะอย่างยิ่งในการเรียนบาลีเพื่อใช้งาน
จบหรือไม่จบ เป็นเรื่องรอง
ได้ความรู้เป็นเรื่องหลัก
และเอาความรู้ไปใช้งานเป็นหัวใจ
........................
แนวคิดนี้ไม่ได้โต้แย้งหรือต่อต้านการเรียนเพื่อให้จบแต่อย่างใดทั้งสิ้น
การเรียนบาลีเพื่อให้จบก็ยังคงทำได้เหมือนเดิม คือเรียนเพื่อให้จบ เพื่อให้ได้ศักดิ์และสิทธิ์-เหมือนกับที่กำลังทำกันอยู่ในเวลานี้
แนวคิดนี้ไม่ได้บอกให้เลิกการเรียนแบบนี้
ตรงกันข้าม แนวคิดนี้บอกให้เรียนแบบนี้ต่อไป เรียนให้หนักขึ้น
และต้องเรียนให้จบด้วย
เอาศักดิ์และสิทธิ์จากการจบบาลีมาครอบครองให้จงได้
แนวคิดนี้เพียงแต่บอกให้เข้าใจความจริงว่า -
เรียนให้จบไม่ใช่เป้าหมาย
เรียนให้จบเป็นทางที่ต้องผ่าน
และต้องผ่านไปให้ได้ด้วย
แล้วก้าวต่อไปให้ถึงเป้าหมายที่แท้จริงอันเป็นหัวใจของการเรียนบาลี-นั่นคือเอาความรู้บาลีไปใช้งานจริง ๆ ด้วย
เอาความรู้บาลีไปใช้งานจริง ๆ คือทำอะไร
บอกไว้แล้วข้างต้น
.........................................................
เรียนให้จบ ได้ประโยชน์ชาตินี้
ประโยชน์ชาตินี้ต้องเอาให้ได้
เรียนเอาไปใช้งาน ได้ประโยชน์ทุกภพทุกชาติ
ประโยชน์ทุกภพทุกชาติก็ต้องเอาให้ได้
และต้องเอาให้ได้อย่างยิ่งด้วย
เกิดมาเป็นมนุษย์
พบพระพุทธศาสนา
มีศรัทธาเลื่อมใส
บวชในพระธรรมวินัยเรียนบาลี
เอาประโยชน์ชาตินี้ไว้ได้
แต่ไม่เอาประโยชน์ทุกภพทุกชาติ
คำคนเก่าปรามาสว่า-เสียชาติเกิด
.........................................................
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๒๗ มีนาคม ๒๕๖๗
๑๗:๐๗
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ