สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ

 

    ถามว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และ ปัญญานั้น พึงศึกษาอย่างไร ถึงจะเข้าถึงความลึกซึ้ง และทรงจำได้หมด แม้ลืมก็สามารถทบทวนฟื้นความรู้นั้นกลับมาได้ใหม่อีก

   ตอบว่า ต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะ(วิเสสลักษณะ)ของ ศีล สมาธิ และ ปัญญานั้น เหมือนการคัดแยกผลไม้เป็นแต่ละประเภท ในแต่ละประเภทมีการจำแนกเป็นกี่หมวด หมวดนั้นๆ ก็เหมือนขั้วพวงของผลไม้ ซี่งก็คือ หลักการที่ใช้จำแนกนั่นเอง เมื่อยกชูขั้วพวงขึ้น ก้านแขนงของหมวด ก็จะปรากฏให้เห็น แสดงจำนวนหมวดในขั้วพวงนั้นๆ ซึ่งสรุปประมวลได้ ดังนี้

   [1.] การประมวลศีลทั้งสิ้น 

       ศีล มี หัวข้อประเด็นที่พึงรู้ ดังนี้

       ก. เมื่อกล่าวโดยสภาวลักษณะ มีพียง 1 อย่าง คือ ความเป็นฐาน(สีลนะ) โดยอาการ 2 ได้ แก่ อาการที่ทรงความดีไว้ได้ (สมาธานะ) 1. อาการที่รองรับคุณธรรมที่สูงขึ้น(อุปธารณะ) มี สมาธิ และ ปัญญา เป็นต้น 1.

     อาการทั้งสองท่านกล่าวแยกกัน เพื่อให้เห็นกิจที่ต่างกัน แต่ก็รวมอยู่ในความเป็นฐานเดียวกันนั่นเอง  อาการ สมาธานะ เหมือนอาการความแข็งแรงของฐานตึก อาการ อุปธารณะ เหมือนอาการความสามารถรองรับน้ำหนักของฐานตึก ที่เกี่ยวเนื่องรวมเป็นฐานเดียวก้น ก็เพราะอาการทั้งสองเนื่องกัน คือถ้าฐานตึกทรงความแข็งแรงไม่ได้ ก็จะรองรับน้ำหนักไม่ได้ เป็นฉันใด อาการทั้งสองที่เป็นสภาวลักษณะฐานของศีล ก็เป็นฉันนั้น คือ ถ้าอาการ สมาธานะทรงความดีไม่ได้ อาการ อุปธารณะก็จะรองรับคุณธรรมไม่ได้ เหมือนพระเทวทัตละโมบโลภมาก คิดเป็นใหญ่แทนพระพุทธเจ้า.อภิญญาก็เสื่อมทันทีทันใดนั่นแล

     ข. เมื่อกล่าวโดยสภาวอาการที่ทำกิจ มี 5 อย่าง คือ 

        1. ปหานกิจ เป็นกิจที่ทำการละ คือ ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้ ได้แก่ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อทุจริตนั้นๆ เช่นเบญจศีลคู่ปฏิปักษ์กับเบญจธรรมเป็นต้น เมื่อมีเมตตาธรรมปาณาติบาตก็เกิดขึ้นไม่ได้เป็นต้น

        2. เจตนากิจ เป็นกิจที่เป็นความตั้งใจสมาทานความดีไว้ได้

        3. เวรมณีกิจ เป็นกิจที่ทำการงดเว้นวิรมิตัพพวัตถุ(วัตถุพึงงดเว้น)

        4. สังวรกิจ เป็นกิจที่เป็นการสำรวม มีการสำรวมทวารอินทรีย์เป็นต้น

        5. อวีติกกมกิจ เป็นกิจที่เป็นความไม่ก้าวล่วงความชั่ว ยับยั้งอยู่ในความดีได้

   ค. เมื่อกล่าวโดยสภาวเป็นองค์ธรรม ที่มีสภาวลักษณะ(หัวข้อ ก.) และที่มีสภาวอาการที่ทำกิจ(หัวข้อ ข.) มี 4 อย่าง คือ  

        1. เจตนา 2. เจตสิก 3. สังวร 4. ความไม่ก้าวล่วง

   โดยในเจตสิก ทรงหมายเอา เวรมณี(วิรตี)ที่เป็นปฏิปักษ์กับวิรมิตัพพวัตถุ และปหานะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสนั้นๆ โดยตรง ส่วนความไม่ก้าวล่วงก็คือกุศลจิตที่เกิดขึ้นยับยั้งการก้าวล่วงนั่นเอง

   ง. เมื่อกล่าวโดยการจำแนก

      1. โดยอาศัยสภาวลักษณะเฉพาะของศีลจำแนก มีได้เพียง 1 อย่าง

      2. โดยอาศัยธรรมที่เป็นหลัก เพื่อจำแนกเป็นศีลในหมวดหลักการนั้นๆ  เช่น อาศัย ความบริบูรณ์, ความบริสุทธิ์หมดจด เป็นต้น เป็นหลักการจำแนก จึงมีได้ 7 ทุกะ, 5 ติกะ,  4 จตุกะ,  2 ปัญจกะ

    รวมศีลตามข้อ ง. จึงมีได้  56 อย่าง(1+14+15+16+10=56) ดังนี้ 


    ง. 1 ศีลหมวดสอง(ทุกะ) มี 7 หมวด :-

   ทุกะที่ 1 โดยอาศัยความบริบูรณ์จำแนก ศีลก็จะมีได้  2 อย่าง คือ

      1. จาริตศีล คือศีลที่เป็นข้อควรประพฤติ ได้แก่ศีลที่เป็นกิริยามรรยาท ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ดีงามเป็นต้น

      2. วาริตต คือศีลที่เป็นข้อห้าม ได้แก่ กฏระเบียบที่ห้ามประพฤติ เป็นต้น 

          บุคคลที่จะมีศีลสมบูรณ์จึงต้องมีศีลทั้งสองอย่างนี้ครบ

   ทุกะที่ 2 โดยอาศัยความบริสุทธิ์หมดจดจำแนก ศีลจึงมีได้ 2 อย่าง คือ 

      1. อภิสมาจาริกศีล คือ ศีลที่เข้าถึงความสง่างามยิ่งนัก โดยอุกฤษฏ์คือสูงสุดทรงหมายเอาศีลในมรรคในผล เพราะบริสุทธิ์หมดจดด้วยกำลังของวิสุทธิ 7 โดยทั่วไปทรงหมายเอาศีลในขันธกวัตร เพราะบริสุทธิ์หมดจดด้วยกำลังของสติสัมปชัญญะ

      2. อาทิพรหมจริกศีล คือ ศีลที่เป็นส่วนเบื้องต้นแห่งมรรคพรหมจรรย์ โดยสังเขป ก็ คืออาชีวัฏฐมกศีล โดยพิสดาร ก็ คือศีลในอุภโตวิภังค์(ภิกขุวิภังค์,ภิกขุณีวิภงค์)

   บุคคลจะมีศีลบริสุทธิ์หมดจดได้ จึงต้องมีศีล 2 อย่างครบ

   ทุกะ ที่ 3  โดยอาศัยความงดเว้น(วิรติ)จำแนก ศีลจึงมีได้ 2 อย่าง คือ

      1. วิรติศีล คือศีลที่เป็นความงดเว้นจากทุจริตทั้งหลาย มี ปาณาติปาต เป็นต้นได้

      2. อวิรติศีล คือ ศีลที่ไม่ใช่วิรติศีล ได้แก่ เจตนาศีล, เจตสิกศีลที่เป็นปหานศีล, สังวรศีล  และ อวีติกกมศีล

   ทุกะที่ 4 โดยอาศัย ที่อิงอาศัยเกิด(นิสิตะ)จำแนก ศีลจึงมีได้ 2 อย่าง คือ

      1. ตัณหานิสิตศีล คือ ศีลที่อิงอาศัยตัณหาเป็นไป เช่น บุคคลที่รักษา ด้วยความอยากว่า เราจักขอเป็นเทพเจ้าหรือเทวดาตนใดตนหนึ่งด้วยศีลนี้

      2. ทิฏทินิสิตศีล คือศีลที่อิงอาศัยทิฏฐิเป็นไป โดยเข้าใจผิดว่า ศีลที่ตนรักษานั้นเป็นอธิศีล(อนิสิตศีล) อันบริสุทธิ์หมดจดไร้การอิงศัยทั้งตัณหาทั้งทิฏธินั่นเอง       

   ทุกะ ที่ 5 โดยอาศัยกาลเวลาจำแนก ศีลจึงมีได้ 2 อย่าง คือ

      1. กาลปริยันตศีล คือ ศีลที่มีกาลเวลากำหนดไว้เป็นที่สุด เช่นตลอดเข้าพรรษา จะงดดื่มเหล้า เป็นต้น มีเจตนาวิรติเป็นประธาน

      2. อาปาณโกฏิกศีล คือ ศีลที่มีลมหายใจเป็นที่สุด(ศีลที่รักษาได้ตลอดชีวิต) มี สัมปัตติวิรติเป็นประธาน 

   ทุกะ ที่ 6 โดยอาศัย สิ่งที่เป็นที่สิ้นสุดจำแนก ศีลจึงมี 2 อย่าง คือ

      1. สปริยันตศีล คือ ศีลที่มี ลาภ ยศ ญาติ อวัยวะ และชีวิตเป็นที่สุด

      2. อปริยันตศีล คือศีลที่ไม่มีอะไรทำให้สิ้นสุด เป็นไท ไม่ติด ลาภ ยศ ญาติ อวัยวะ และชีวิต

   ทุกะ ที่ 7 โดยอาศัยความเป็นอารมณ์ของอาสวะจำแนก ศีลจึงมีได้ 2 อย่าง คือ

      1. โลกิยศีล คือ ศีลที่เป็นอารมณ์ของอาสวะได้ จึงเป็นศีลที่นับเนื่องในภูมิ 3 (เว้นโลกุตรภูมิ)

      2. โลกุตตรศีล คือศีลที่เป็นอารมณ์ของอาสวะไม่ได้ จึงเป็นศีลที่นับเนื่องในโลกุตตรภูมิ 


   ง. 2 ศีลหมวด 3 (ติกะ) มี 5 หมวด คือ :-

   ติกะ ที่ 1 โดยอาศัยการเปรียบเทียบจำแนก  

      1. ด้วยอธิมุติ(ความน้อมนำไป)แห่งอิทธิบาทธรรม  4 มี  ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ตามอาการที่น้อมนำไป มี อย่างเลว อย่างปานกลาง  อย่างปราณีต ศีลก็เป็นไปตามนั้น คือ มี หีนศีล (ศีลอย่างเลว)  มัชฌิมศีล (ศีลอย่างปานกลาง) ปณีตศีล (ศีลอย่างปราณีต)

      2. ด้วยการสมาทานเพราะต้องการยศเป็นต้น ก็เป็นศีลอย่างเลว เพราะต้องการผลบุญ ก็เป็นศีลอย่างปานกลาง เพราะอริยภาวะ คือ ความรังเกียจบาป ก็เป็นศีลอย่างปราณีต

      3. ด้วยความมัวหมอง เพราะยกตนข่มผู้อื่น เป็นต้น ก็เป็นศีลอย่างเลว  เพราเะเป็นโลกิยศีลที่ไม่มัวหมองก็เป็นศีลอย่างปานกลาง เพราะเป็นโลกุตตรศีลซึ่งไม่มัวหมองแน่นอน ก็เป็นศีลอย่างปราณีต

      4. ด้วยความเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์แก่ภพและโภคะก็เป็นศีลอย่างเลว  แก่ความหลุดพ้นจากวัฏฏทุกข์ของตนเอง มี ของพระสาวกโพธิสัตว์ และของพระปัจเจกโพธิสัตว์ ก็เป็นศีลอย่างปานกลาง แก่ความหลุดพ้นจากวัฏฏทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย มีของพระมหาโพธิสัตว์ที่ถึงความเป็นปารมิตาศีลอย่างยิ่งยวด ก็เป็นศีลอย่างปราณีตในติกะนี้

   ติกะ ที่ 2 โดยอาศัยความเป็นใหญ่จำแนก ศีลก็ได้ 3 อย่าง คือ

      1. อัตตาธิปไตรศีล คือศีลที่มีตนเป็นใหญ่ ประสงค์จะละความประพฤติที่ไม่สมควรแก่ตน จึงเป็นผู้ยิ่งด้วยความระอาย(หิริ)ต่อบาป

      2. โลกาธิปไตรศีล คือ ศีลที่มีชาวโลกได้แก่บุคคลอื่นเป็นใหญ่ ประสงค์จะหลีกเลี่ยงการกล่าวหาของผู้อื่น จึงเป็นผู้ยื่งด้วยความเกรงกลัว(โอตตัปปะ)ต่อบาป

      3. ธัมมาธิปไตรศีล คือ ศีลที่มีธรรมเป็นใหญ่ ประสงค์จะบูชาธรรมด้วยการปฏิบัติ จึงเป็นผู้ยิ่งด้วยปัญญา มีความเคารพความยิ่งใหญ่แห่งธรรม เพราะรู้ว่าการปฏิบัติธรรมนำออกจากวัฏฏทุกข์ได้จริง

   ติกะ ที่ 3 โดยอาศัย ความแปดเปื้อนจากตัณหาและทิฏฐืจำแนก ศีลจึงมีได้ 3 อย่าง คือ

      1. ปรามัฏฐศีล คือ ศีลที่ถูดตัณหาและทิฏฐิ ทำให้แปดเปื้อน โดยการยึดมั่นถือมั่น ขาดความบริสุทธิ์หมดจด จึงเป็นศีลที่ไม่เป็นปัจจัยแก่มรรค

      2. อปรามัฏฐศีล คือ บริสุทธิ์หมดจดจากตัณหาและทิฏฐิ ที่เป็นสัมภาระ(เหตุให้เกิด)แห่งมรรคของกัลยาณปุถุชน และศีลที่สัมปยุตกับมรรคของพระเสขะทั่งหลาย

      3. ปฏิปัสสัทธศีล คือ ศีลที่สัมปยุตกับผลของพระเสขะและอเสขะทั้งหลาย เพราะสงบระงับความกระสับกระส่ายจากกิเลสที่มรรคนั้นๆได้ละเป็นสมุจเฉทแล้ว

   ติกะ ที่ 4 โดยอาศัยความบรืสุทธิ์หมดจดจากความลังเลสงสัยจำแนก ศีลจึงมีได้ 3 อย่าง คือ

      1. วิสุทธศีล คือ ศีลที่ภิกษุผู้ไม่ต้องอาบัติทำให้เต็ม หรือที่ต้องอาบัติแล้วทำกลับคืน(ปลงอาบัติ)

      2. อวิสุทธศีล คือ ศีลที่ต้องอาบัติแล้ว ยังไม่ได้ทำกลับคืน

      3. เวมติกศีล คือ ศีลของภิกษุผู้มีความลังเลสงสัย ในวัตถุก็ตาม ในอาบัติก็ตาม ในอัชฌาจาร(ความประพฤติล่วงละเมิด)ก็ตาม พึงบรรเ ทาความลังเลสงสัยเหล่านั้นเสีย โดยการสอบสวนด้วยตนเอง หรือสอบถามจากพระวินัยธร ก่อนการบริโภคใช้สอยความผาสุขจึงจักมีแก่ตนได้ 

   ติกะ ที่ 5 โดยอาศัยบุคคลจำแนก ศีลจึงมีได้  3 อย่าง คือ

      1. เสขศีล คือ ศีลที่สัมปยุตกับอริยมรรค 4 และกับอริยผล 3

      2. อเสขศีล คือ ศีลที่สัมปยุตกับอรหัตตผล

      3. เนวเสขานาเสขศีล คือ ศีลที่เหลืออันไม่ใช่เสขศีลและไม่ใช่อเสข

ประมวลศีลทั้งสิ้น(ตอนที่ 4)


   ง. 3 ศีลหมวด 4 (จตุกะ) มี 5 หมวด คือ :-

      จตุกะ ที่ 1 โดยอาศัยความพอใจจำแนก ศีลจึงมีได้ 4 อย่าง คือ

      1. หานภาคิยศีล(ศีลที่พัวพันอยู่กับความเสื่อม) คือศีลของภิกษุผู้พอใจคบหาแต่ผู้ทุศีล ทำให้เกิดการถือเอาเยื่องอย่าง มากด้วยมิจฉาสังก้ปปะ จึงมองไม่เห็นโทษการก้าวล่วงวัตถุ และคุณของการสำรวมอินทรีย์

      2. ฐิติภาคิยศีล (ศีลที่พัวพันอยู่กับการตั้งอยู่ได้) คือศีลของภิกษุที่พอใจสักแต่ว่าศีลสมบัติ ไม่พอใจบำเพ็ญกรรมฐานให้เกิดขึ้น

      3. วิเสสภาคิยศีล (ศีลที่พัวพันอยู่กับคุณวิเศษ) คือ ศีลของภิกษุผู้มีศีลพร้อมเพรียงแล้ว แต่ยังพอใจที่จะพยายามเพื่อประโยชน์แก่สมาธิ

      4. นิพเพธภาคิยศีล (ศีลที่พัวพันอยู่กับการแทงทะลุสัจจะ) คือ ศีลของภิกษุผู้ไม่พอใจอยู่กับคุณสักแต่ว่าศีล จึงพยามเจริญวิปัสสนาให้ถึงระดับนิพพิทาญาณเนืองๆ(ญาณที่เบื่อหน่ายสังขาร)เพื่อรักษาจิตใจไม่ให้ตกต่ำตามการยั่วยวนของกิเลส

   จตุกะ ที่ 2 โดยอาศัยสถานเพศจำแนก ศีลก็จะมีได้ 4 อย่าง คือ

      1. ภิกขุศีล คือ ศีลสิกขาบททั้งหลาย ที่ทรงบัญญัติปรารภภืกษุทั้งหลาย

      2. ภิกขุณีศีล คือ ศีลสิกขาบททั้งหลาย ที่ทรงบัญญัติปรารภภิกษุณีทั้งหลาย

      3. อนุปสัมปันนศีล คือ ศีล 10 ข้อ ของพวกสามเณร และ พวกสามเณรีทั้งหลาย

      4. คหัฏฐศีล คือ ศีลสิกขาบท 5 ที่เป็นนิจศีล (ศีลรักษาเป็นประจำ) ของพวกอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย หรือเมื่อมีอุตสาหะก็สิกขาบท 10 ส่วนสิกขาบท 8 ก็โดยเกี่ยวกับเป็นองค์ของอุโบสถศีล

      จตุกะ ที่ 3 โดยอาศัยการรักษาไว้ได้บริบูรณ์เป็นธรรมชาติจำแนก ศีลจึงมีได้ 4 อย่าง คือ

      1. ปกติศีล คือ ศีล 5 ของชาวอุตตรกุรุทวีป เหตุเพราะอายุและปัจจัย 4 อุดมสมบูรณ์ และปราณีต

      2. อาจารศีล คือศีลที่เป็นประเพณีประพฤติปฏิบัติอันไม่เป็นโทษประจำตน ประจำตระกูล ประจำท้องถิ่น ประจำลัทธิ เช่น การไม่ดื่มเหล้าเป็นต้น เพราะเป็นค่านิยม

      3. ธัมมตาศีล คือ ศีล 5 ของพระมารดาพระโพธิสัตว์ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ก้าวลงสู่ครรค์พระมารดา ด้วยเดชแห่งบารมีศีลของพระองค์ส่งผลให้ จิตพระมารดาไม่ประกอบด้วยกามคุณในบุรุษทั้งสิ้น 

      4. ปุพพเหตุกศีล คือ ศีลบริบูรณ์ของสัตว์ผู้หมดจด มี พระมหากัสสปเถระ เป็นต้น คือ มีศีลบริบูรณ์ตลอดกาลนานมาแล้ว จนเป็นอุปนิสัย เช่นชาติที่เป็นพระราชาผู้ทรงศีล พญากระบือผู้ทรงศีล เป็นต้น อุปนิสัยที่อบรมมายาวนานนี่เอง เป็นปุพพเหตุกศีล

   จตุกะ ที่ 4 โดยอาศัยการสำรวมเป็นปกติวิสัยในขณะเจริญกรรมฐาน  ศีลจึงมีได้ 4 อย่าง คือ

      1. ปาติโมกขสังวรศีล คือ ศีลที่เป็นไปทางทวารกรรม เพื่อป้องกันความเสียหายจากความประพฤติ(อาจาระ)ทั้งทางกาย(อนาจาระทางกาย=ความประพฤติไม่ชอบทางกาย)  ทั้งทางวาจา(อนจารทางวาจา=ความประพฤติไม่ชอบทางวาจา) ส่วนทางใจก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากโคจรอันมีสถานภาพ 3 อย่าง คือ 

         1) มีสถานภาพเป็นสถานที่สัญจรไป เพื่อการบิณฑบาตเป็นต้น

         2) มีสถานภาพเป็นบุคคลที่สัญจรไป เพื่อการคบหา คือ บุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร

         3) มีสถานภาพเป็นอารมณ์ที่ใช้ซ่องเสพ เพื่อการเจริญสติสัมปชัญญะ

(องค์ธรรมก็คือสติที่ป้องกันความเสียหายและความผิดพลาดทางทวารกรรม ส่วนศรัทธาเป็นเหตุให้สำเร็จ)

      2. อินทรีย์สังวรศีล คือศีลที่เป็นไปทางทวารอินทรีย์ เพื่อปิดกั้นไม่ให้กิเลสไหลเข้ารั่วรดจิตใจ (องค์ธรรมก็คือสติที่ปิดกั้นกิเลสทางทวารอืนทรีย์)

      3. อาชีวปาริสุทธิศีล คือ ศีลที่บริสุทธิ์หมดจด ขณะแสวงหาปัจจัยสี่เลี้ยงชีพ (องค์ธรรมก็คือวิริยะที่ชอบธรรม)

      4. ปัจจยสันนิสิตศีล คือ ศีลที่เป็นไปขณะบริโภคใช้สอยปัจจัย 4 (องค์ธรรมก็คือปัญญา)


   ง. 4 ศีลหมวด 5 (ปัญจกะ) มี 2 หมวด คือ :-

      ปัญจกะ ที่ 1 โดยอาศัยอาการบริสุทธิ์หมดจดของประเภทบุคคลจำแนก ศีลจึงมีได้ 5 อย่าง คือ

      1.ปริยันตปาริสุทธิศีล คือ ศีลของอนุปสัมปันผู้มีสิกขาบทเป็นที่สิ้นสุด

      2.อปริยันตปาริสุทธิศีล คือ ศีลของอุปสัมปันผู้มีสิกขาบทไม่เป็นที่สิ้นสุด

      3.ปริปุณณปาริสุทธิศีล คือ ศีลของกัลยาณปุถุชนผู้เจริญวิปัสสนาได้ครบบริบูรณ์สูงสุดถึงขั้นสังขารุเปกขาญาณ(ญาณพิจารณาปล่อยวางสังขาร=เสขปริยันตธรรม) จึงไม่อาลัยกายและชีวิต

      4.อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล คือ ศีลของพระเสขะ 7 จำพวก

      5.ปฏิปัสสัทธิศีล คือ ศีลของพระขีณาสพผู้เป็นสาวกของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย

   เพื่อนสหธรรมิกจะเข้าใจศีลหมวดปัญจกะนี้ไดัชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาอาการความบริสุทธิ์หมดจด(ปาริสุทธิ)ของประเภทบุคคลทั้ง 5 กลุ่ม มี อนุปสัมบันบุคคล เป็นต้น

     1. อนุปสัมบันบุคคล เพราะมีสิกขาบทจำกัด คือ สิกขาบท 5 ในฐานะเป็นนิจจศีล (สิกขาบทที่พึงรักษาเป็นประจำ) สิกขาบท 8 (สืกขาบทในฐานะเป็นองค์อุโบสถ) อุตสาหะเต็มที่ก็สิกขาบท 10 ทรงจัดเป็นชุดๆ เพื่อให้อนุปสัมบันทรายว่า การเข้าถึงความบริสุทธิ์หมดจดได้ ต้องรักษาได้ทุกสิกขาบทครบ ดุจภาชนะใส่น้ำ แม้รั่วเพียงรูเดียว น้ำก็ไหลรั่วรดท่วมทับภาชนะนั้นได้ฉันใด สิกขาบทที่เป็นชุดๆนั้น รั่วคือรักษาไม่ได้ด้วยสิกขาบทใด กิเลสก็ไหลรั่วรดท่วมทับจิตใจทางสิกขาบทนั้นก็ฉันนั้น ศีลของอนุปสัมบันจึงเกี่ยวข้องกับจำนวนสิกขาบทแน่นอน เหมือนศีลของท่านฆฏิกการผู้เป็นสหายท่านโชติกมานพนั่นแล

      2. อุปสัมบันบุคคล เนื่องจากจำนวนสิกขาบทมีมาก นับเป็นโกฏิข้อก็ไม่จบสิ้นได้ ท่านจึงศึกษาหลักการการจัดการ เพื่อป้องกันความเสียหาย ซี่งต้องประกอบพร้อม ทั้งสาตถกสัมปชัญญา ทั้งสัปปายสัมปชัญญะ และหลักการการบริหาร เพื่อป้องกันความผิดพลาด ซึ่งต้องประกอบพร้อมทั้งโคจรสัมปชัญญะ ทั้งอสัมโมหสัมปชัญญะ เช่น ภูตคามสิกขาบท เมื่อท่านเห็นว่าไม่เหมาะกับสมณเพศ(สัปปายสัมปชัญญะไม่มี)ท่านก็ไม่จัดการทำเอง เมี่อท่านเห็นว่า การบริหารด้วยกัปปิยโวหารโดยการใช้อนุปสัมบัน ทั้งโคจรสัมปชัญญะ ที้งอสัมโมหสัมปชัญญะก็ไม่เสีย แถมท่านก็ไม่พลาดจากการบริหารวัดให้สะอาดสวยงามได้อีกด้วย ดังนั้นความเป็นผู้รอบรู้การจัดการความเสียหาย และรอบรู้การบริหารความผิดพลาดจึงไม่มีผลต่อจำนวนสิกขาบทแน่นอน เหมือนศีลของพระมหาติสสเถระผู้อาศัยอยู่ที่จีวรคุมพวิหารที่นอนเพลียอ่อนแรงจวนเจียนจะสิ้นแรงจากการเดินทางไกลใต้้มะม่วงที่มีผลสุกร่วงหล่นกระจายเต็มพื้นที่ พอมีอุบาสกผู้เป็นบัณฑิตแตกฉานพระวินัยเช่นท่านเพบเห็นเข้าก็รู้ถึงความเป็นผู้มีศีลบรืสุทธื์หมดจดของท่าน จึงเกิดศรัทธาทำน้ำปานะมะม่วงถวายให้ท่านดื่มบรรเทาอาการกระหายและอิดโรย พร้อมแบกท่านขึ้นหลังของตนเพื่อนำส่งวัด ด้วยพลานุภาพของศีลที่บริสุทธิ์หมดจดดังกล่าวพระเถระเจริญวิปัสสนาบนหลังของอุบาสกก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้สะดวกแล

      3. กัลยาณปุถุชนบุคคล ผู้เจริญวิปัสสนาถึงขั้นสังขารุเปกขาญาณจนเชี่ยวชาญชำนาญเป็นปกติวิสัยก็มีความบริสุทธิ์หมดจดอันเป็นเหตุให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้สะดวก เหมือนศีลของพระมหาสังฆรักขิตเถระ และพระสังฆรักขิตเถระผู้เป็นหลาน มีเรื่องเล่าว่า ภิกษุสงฆ์ถามถึงการบรรลุโลกุตตรธรรมกะพระมหาสังฆรักขิตเถระ ผู้มีพรรษาเกิน 60 ซึ่งนอนอยู่บนเตียงที่จะมรณภาพ พระเถระกล่าวตอบว่า " เราไม่มีโลกุตตรธรรม " ภิกษุหนุ่มผู้เป็นอุปัฏฐากของพระเถระกล่าวว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ผู้คนทั้งหลายประชุมกันตลอด 12 โยชน์โดยรอบ เพราะคิดว่า ท่านจะเป็นพระที่ปรินิพพาน, ความร้อนใจจักมีแก่มหาชน เพราะการตายอย่างปุถุชนของท่านนี่แหละ " พระเถระจึงกล่าวว่า " นี่แน่ท่าน เพราะเราตั้งใจว่า ' ฉันจักพบพระผู้มีพระภาคเมตไตรย ' วิปัสสนาญาณจึงหยุดยั้งอยู่แค่สังขารุเปกขาญาณ, ถ้าอย่างนั้น ท่านจงช่วยพยุงให้เรานั่งขึ้นเถิด " แล้วภิกษุหนุ่มก็ออกไปนอกห้อง พระเถระบรรลุพระอรหัตพร้อมกับการเดินออกไปของพระภิกษุนั้นนั่นแหละ แล้วได้ให้สัญญาด้วยการดีดนิ้วมือ สงฆ์ประชุมกันกล่าวว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ตัวท่านเมื่อทำโลกุตตรธรรมให้บังเกิดขึ้นได้ในเวลาใกล้ตายเห็นเช่นนี้ ชื่อว่าทำกิจที่บุคคลทำได้ยาก"  พระเถระกล่าวว่า " ดูก่อน ท่านทั้งหลาย ตัวเราตั้งแต่กาลที่บวชแล้ว ชื่อว่า การกระทำที่เราทำเพราะไม่รู้สึก เพราะหาสติมิได้ เราระลึกถึงไม่ได้เลย " แม้พระสังฆรักขิตเถระผู้เป็นหลานของท่านก็บรรลุอรหัตโดยทำนองนี้ ในกาลที่มีพรรษา 50 นั่นแล

      4. พระเสขะบุคคลผู้มีประสพการณ์พ่านมามาก และปุถุชนบุคคลผู้มีสุตะมาก มีศีลบริสุทธิ์หมดจด เพราะป้องกันตัณหาและทิฏฐิไม่ให้อิงอาศัยการปฏิบัติได้(ท่านรวมพระเสขะบุคคลกับปุถุชนบุคคลเข้าในข้อ(กลุ่ม)เดียวกันเพราะอาศัยองค์ธรรม คือ โยนิโสมนัสสิการด้วยกัน ) 

      5. พระอเสขะบุคคล เป็นศีลบริสุทธิ์หมดจด จากความสงบระงับความดิ้นรนกระสับกระส่ายของกิเลสที่มรรคนั้นๆละได้เด็ดขาดหมดสิ้นแล้ว

     ปัญจกะ ที่ 2 โดยอาศัยอาการจำกัดกิเลสจำแนก ศีลจึงมีได้ 5 อย่าง คือ ศีลที่ทำกิจจำกัดกิเลส 5 อย่าง ที่กล่าวในข้อ ข.นั่นเอง

(สาระหัวข้อประเด็นที่พึงรู้ของศีลทั้งหมดจากนิสสยะอักษรปัลลวะ)


   [2.] การประมวลสมาธิทั้งสิ้น

   เป็นความจริงว่า ในทางโลกทุกวิชาการควรเรียนรู้จากผู้รอบรู้และเชี่ยวชาญ ในทางธรรมก็ควรเรียนจากพระสัมมาสัมพุธเจ้าผู้เป็นพระสัพพัญญู ที่รอบรู้เชี่ยวชาญสัพพสิ่ง แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า เป็นผู้ต้นรู้(ค้นพบเป็น

คนแรก) เป็นผู้ตรัสรู้เอง(สัมมาสัมโพธิ) ก็ด้วยความสามารถที่ตั้งประเด็นถามตอบที่ประกอบชอบด้วยเหตุผล(ยุติ) และหลักฐานที่มาที่ไป(อาคม) ตัวอย่าง เช่น เรื่องสมาธิ ทรงตั้งประเด็นเป็นปัญหาถามตอบ เพื่อความรอบรู้และความเชี่ยวชาญ ได้รอบด้าน ดังนี้

   1. อะไรคือ สมาธิ คือภาวะที่กุศลจิตมีอารมณ์แนบแน่นในอารมณ์เดียวไม่มีโทษมีวิบากเป็นสุข(สงบสุขไม่ดิ้นพล่าน)

   2. ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่าอะไร เพราะมีอรรถว่า สมาธานะ คือ ภาวะที่จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียวได้ต่อเนื่อง(ไม่ซัดซ่าย)

   3. อะไรเป็นลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานของสมาธิ

   คือคำถามถึงลักษณะเฉพาะที่มีประจำในสมาธิ(เป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า ธรรมนี้ คือสมาธิ) มีหน้าตา ดังนี้

     - มีความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นลักษณะ

     - มีการกำจัดความฟุ้งซ่าน เป็นกิจ(รส)

     - มีความไม่หวั่นไหว เป็นผลปรากฏ(ปัจจุปัฏฐาน)

     - มีความสุขที่ปราศจากอามิส(กาม) เป็นเหตุใกล้(ปทัฏฐาน)

   4. สมาธิมีกี่ประเภท คือคำถามถึงการจำแนกสมาธิเป็นประเภทต่างๆ

   5. สมาธิมีอะไรเป็นความมัวหมอง มีอะไรเป็นความผ่องแผ้ว มีหานภาคิยธรรม(ธรรมที่พัวพันกับความเสื่อม)เป็นความมัวหมอง มีวิเสสภาคิยธรรม(ธรรมที่พัวพันกับคุณวิเศษ)เป็นความผ่องแผ้ว

   6. สมาธิพึงเจริญอย่างไร คือคำถามถึงการเจริญกรรมฐาน 40 โดยอาการ 10 มี

          - โดยการแสดงไขด้วยการนับจำนวน เป็น 7 หมวด 40 ประเภท

          -โดยเป็นกรรมฐาน ที่นำมาซึ่งอุปจารฌาน และอัปปนาฌาน

          -โดยประเภทแห่งฌาน

          -โดยการก้าวล่วง

          -โดยเป็นกรรมฐานที่ควรขยาย และไม่ควรขยาย

          -โดยอารมณ์

          -โดยภูมิ

          -โดยการถือเอา

          -โดยปัจจัย

          -โดยเป็นกรรมฐานที่อนุกูลต่อจริยา

   7. การเจริญสมาธิ มีอะไรเป็นอานิสงส์ มี 5 อย่าง คือ

          - ทิฏฐธรรมสุขวิหาร

          - วิปัสสนา

          - อภิญญา

          - ภพวิเศษ

          - นิโรธ

   ข้อมูลที่ตั้งเป็นประเด็นถามตอบ(ปุจฉาวิสัชชนา)ทั้ง 7 หัวข้อนี่แหละ ที่ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจสมาธิได้ทุกแง่ทุกมุมอย่างรอบด้าน แม้นจะเลือกศึกษาเฉพาะการประมวลสมาธิทั้งสิ้น ก็เพียงแค่อาศัย หัวข้อที่ 3 กับหัวข้อที่ 4 ท่านก็จะเข้าใจได้ตามคันลองที่พระตถาคตผู้เป็นพระสัพพัญญูประทานไว้ให้และที่พระเถระผู้สือทอด มี พระอรรถกถาจารย์ พระฏีกาจารย์ และพระนิสสยาจารย์ เป็นต้นรักษาไว้ พร้อมทั้งรู้เหตุผลที่เป็นไปครบรอบด้าน ดังนี้

    1. เอกกะ สมาธิหมวดเดียว มีได้ 1 หมวด เพราะลักษณะที่เป็นหน้าตาบ่งบอกความเป็นสมาธิ มีได้เพียงหนึ่งเดียว

    2. ทุกะ สมาธิหมวดสอง มีได้ 4 หมวด คือ

          - ทุกะ ที่ 1 อาศัยความแนบแน่นในอารมณ์เดียวจำแนก มีได้ 2 ประเภท คือ

               1. อุปจารฌาน สมาธิที่มีความแนบแน่นใกล้ฌาน(นิวรณ์ยังเกิดแทรกได้)

               2. อัปปนาฌาน สมาธิที่มีความแนบแน่นหนักแน่นแล้ว(นิวรณ์เกิดแทรกไม่ได้)

          - ทุกะ ที่ 2 อาศัยวัฏฏะ(โลก) จำแนก มี ได้ 2 ประเภท คือ

                1. โลกิยสมาธิ สมาธิที่เป็นไปเพื่อวัฏฏะ คือในโลกอยู่

                2. โลกุตตรสมาธิ สมาธิที่เป็นไปเพื่อวิวัฏฏะ คือ หลุดพ้นโลก

        ทุกะ ที่ 3 อาศัยปิติจำแนก มีได้ 2 ประเภท คือ

                1. สมาธิที่สัมปยุตกับปิติ ได้แก่ สมาธิในฌานที่ 1(จตุกนัย) สมาธิในฌานที่ 1 ที่ 2 (ปัญจกนัย)

                2. สมาธิที่วิปปุตกับปิติ ได้แก่ สมาธิในฌานที่ 2 ที่ 3 ที่ 4(จตุกนัย) สมาธืในฌานที่ 3 ที่ 4 ที่ 5(ปัญจกนัย)

        ทุกะ ที่ 4 อาศัยเวทนาจำแนก มีได้ 2 ประเภท คือ

          1. สมาธิที่สัมปยุตกับสุขเวทนา ได้แก่ สมาธิในฌานที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 (จตุกนัย) สมาธืในฌานที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 (ปัญจกนัย)

          2. สมาธิที่สัมปยุตกับอุเบกขาเวทนา ได้แก่ สมาธิในฌานที่ 4 (จตุกนัย) สมาธิในฌานที่ 5 (ปัญจกนัย)

   3. ติกะ สมาธิหมวดสาม มีได้ 4 หมวด คือ

      - ติกะ ที่ 1 อาศัยกำลังของสมาธิในฌานที่ได้จำแนก มีได้ 3 ประเภท คือ

           1. สมาธิอย่างเลว คือ สมาธิสักแต่ว่าได้มา ยังไม่เสพคุ้น กำลังจึงอ่อนแอ

           2. สมาธิอย่างกลาง คือสมาธิที่เสพคุ้นพอประมาณ แต่ยังไม่ได้วสี(ความชำนาญ) กำลังจึงพอประมาณ

           3. สมาธิอย่างปราณีต คือสมาธิที่ทั้งการเสพทั้งวสีถึงความเต็มที่(บริบูรณ์)แล้ว กำลังจึงปราณีต

    - ติกะ ที่ 2 อาศัยองค์ฌานที่ใกล้ชิดต่อกาม คือ วิตก วืจาร จำแนก มีได้ 3 ประเภท คือ

           1. สมาธิที่มีทั้งวิตกวิจาร คือ สมาธิ คือสมาธิในปฐมฌาน กับในอุปจารฌาน(จตุกนัย)

           2.สมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร คือสมาธิในทุติยฌาน (ปัญจกนัย)

           3. สมาธิที่ไม่มีทั้งวิตก ไม่มีทั่งวิจาร คือ สมาธิในทุติยฌาน ตติยฌาน จตุกฌาน (จตุกนัย) และในตติยฌาน จตุกฌาน ปัญจกฌาน (ปัญจกนัย)

    - ติกะ ที่ 3 อาศัยการสัมปยุตกับองค์ฌานที่เป็นฝ่ายชื่นชอบ มี ปิติ(ความปลื้มใจ) สุข(ความสุขใจ) และอุเบกขา(ความสบายใจ) มีได้ 3 ประเภท คือ

           1. สมาธิที่สัมปยุตกับปิติ คือ สมาธิในปฐมฌาน(จตุกนัย) และในปฐมฌาน ทุติยฌาน(ปัญจกนัย)

           2. สมาธิที่สัมปยุตกับสุข คือสมาธิในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน(จตุกนัย) และในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุกฌาน(ปัญจกนัย)

           3. สมาธิที่สัมปยุตกับอุเบกขา คือ สมาธิในจตุกฌาน(จตุกนัย) และในปัญจมฌาน(ปัญจกนัย)

    - ติกะ ที่ 4 อาศัยระดับชั้น(ภูมิ)จำแนก มีได้ 3 ประเภท คือ

           1. สมาธิที่เป็นปริตตะมีอานุภาพน้อย(ปริตตสมาธิ) คือ สมาธิในอุปจารภูมิ(กามาวจรภูมิ)

           2. สมาธิที่เป็นมหัคคตะ มีอานุภาพมากกว่า(มหัคคตสมาธิ(มหัคคตสมาธิ) คือสมาธิในรูปาวจรกุศล และในอรูปาวจรกุศล ซึ่งจัดอยู่ในชั้น(ภมูิ)  มหัคคตภูมิ นั่นเอง

           3. สมาธิที่เป็นอัปปมาณะ มีอานุภาพหาประมาณไม่ได้ คือ สมาธิในอริยมรรค ซึ่งตามกิจแห่งอริยมรรคก็เป็นโลกุตตรภูมินั้นนั่นแหละ

   4. จตุกะ สมาธิหมวดที่สี่ มีได้  6 หมวด คือ

      - จตุกะ ที่ 1 อาศัยการปฏิบัติ(ปฏิปทา)ที่ลำบากที่สะดวก และการบรรลุฌาน ที่ช้าที่เร็วคละกัน มีได้ 4 ประเภท คือ

           1. ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา คือ สมาธิที่ปฏิบัติลำบากบรรลุฌานได้ช้า

           2. ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา คือ สมาธิที่ปฏิบัติลำบากบรรลุฌานได้เร็ว

           3. สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา คือ สมาธิที่ปฏิบัติสะดวกบรรลุฌานได้ช้า

           4. สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา คือ สมาธิที่ปฏิบัติสะดวกบรรลุฌานได้เร็ว

   * อภิญญา ในที่นี้แปลว่า บรรลุ มีหลักในคัมภีร์ธาตุ เช่นคัมภีร์ธาตวัตถสังคหะ คาถาที่ 19 กล่าวไว้ว่า เย คตฺยตฺถา เต พุทฺธฺยตฺถา ปวตฺติปาปุณตฺกถา แปลว่า ธาตุเหล่าใดมีอรรถว่าไป ธาตุเหล่านั้นมีอรรถว่ารู้ มีอรรถว่าถึง(บรรลุ) มีอรรถว่าเป็นไป

   - จตุกะ ที่ 2 อาศัยอานุภาพของฌานที่น้อยที่มาก กับอารมณ์ของฌานที่ยังไม่ได้ขยายที่ขยายแล้ว คละกัน มีได้ 4 ประเภท  คือ

      1. ปริตตปริตตารัมมณะ  คือ สมาธิที่มีอานุภาพน้อยอารมณ์ยังไม่ได้ขยาย

      2. ปริตตอัปปมาณารัมมณะ คือ สมาธิที่มีอานุภาพน้อย อารมณ์ขยายแล้ว

      3. อัปปมาณปริตตารัมมณะ คือ สมาธิที่มีอานุภาพมาก อารมณ์ยังไม่ขยาย

      4. อัปปมาณอัปปมาณารัมมณะ คือ สมาธิที่มีอานุภาพมาก อารมณ์ขยายแล้ว

   * คำว่า มีอานุภาพน้อย(ปริตตะ) เพราะยังไม่ได้วสี(ความชำนาญ)

     คำว่า มีอานุภาพมาก เพราะเป็นปัจจัยให้ฌานที่สูงขึ้นเกิดขึ้นได่

      - จตุกะ ที่ 3 อาศัยองค์ฌานที่บ่งบอกสถานภาพของฌานจำแนก มีได้ 4 ประเภท คือ

          1. สมาธิในปฐมฌานที่มีองค์ฌาน 5 ครบ คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา ฌานจึงข่มนิวรณ์ได้

          2. สมาธิในทุติยฌานที่มีองค์ฌาน 3 คือ ปิติ สุข เอกัคคตา เพราะละ วิตก วิจาร ที่เป็นองค์ใกล้ต่อกาม ฌานจึงห่างไกลจากกามได้

          3. สมาธิในตติยฌานที่มีองค์ 2 คือ สุข เอกัคคตา เพราะละปิติที่เป็นองค์ทำให้หวั่นไหวจากการแผ่ซ่านจิตตชรูปทั่วกาย ฌานจึงนิ่งไม่หวั่นไหว

      4. สมาธิในจุตถฌานที่มีองค์ 2 คือ อุเบกขา เอกัคคตา เพราะเปลี่ยนเวทนาเป็นอุเบกขาได้ ฌานจึงสงบนิ่งเฉยได้

      - จตุกะ ที่ 4 อาศัยการมีส่วนพัวพันจำแนก มีได้ 4 ประเภท คือ

          1. หานภาคิยะ คือ สมาธิที่มีส่วนเสื่อม เพราะพัวพันกับธรรมที่เป็นปฏิปักษ์

          2. ฐิติภาคิยะ คือ สมาธิที่มีส่วนดำรงอยู่ได้ เพราะพัวพันกับสตืที่กำหนดรู้สัมปชัญญะเนืองๆ

          3. วิเสสภาคิยะ คือ สมาธิที่มีส่วนบรรลุฌานที่สูงขึ้น เพราะพัวพันกับคุณวิเศษ

          4. นิพเพธภาคิยะ คือ สมาธิที่มีส่วนแทงตลอดอริยสัจจะ 4 เพราะพัวพันกับความน่าเบื่อหน่ายสังขารธรรมด้วยความตระหนัก(สัญญา) และความใส่ใจ(มนสิการ)เนืองๆ

   - จตุกะ ที่ 5 อาศัยระดับชั้น(ภูมิ)จำแนก มีได้ 4 ประเภท คือ

      1. กามาวจรสมาธิ คือ สมาธิในกามาวจรกุศลจิต มีกุศลกรรมบถ 10 เป็นต้น และสมาธิระดับชั้นอุปจาระก่อนบรรลุฌานทุกระดับชั้นเพราะยังข่มนิวรณ์ไม่ได้เต็มที่(สมาธิในอกุศลจิต เช่น สมาธิยิงนกตกปลาเป็นต้นไม่นับรวมด้วยเพราะเป็นสมาธิที่ไม่พึงเจริญ)

      2. รูปาวจรสมาธิ คือ สมาธิในรูปาวจรกุศลจิต มีรูปฌาน 5 เป็นต้น

      3. อรูปาวจรสมาธิ คือ สมาธิในอรูปาวจรกุศลจิต มี อรูปฌาน 4 เป็นต้น

      4. อปริยาปันนสมาธิ คือ  สมาธิที่ไม่นับเนื่องในภูมิ 3 (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) หมายถึงสมาธิในโลกุตตรภูมิ มี มรรคจิต 4 ผลจิต 4 เป็นต้น

   - จตุกะ ที่ 6 อาศัย อธิบดี 4 จำแนก มีได้ 4 ประเภท คือ

      1. ฉันทสมาธิ คือ สมาธิที่สำเร็จด้วยฉันทะเป็นใหญ่

      2. วิริยสมาธิ คือ สมาธิที่สำเร็จด้วยวิริยะเป็นใหญ่

      3. จิตตสมาธิ คือ สมาธิที่สำเร็จด้วยจิตเป็นใหญ่

      4. วิมังสาสมาธิ คือ สมาธิที่สำเร็จด้วยปัญญาเป็นใหญ่

   ปัญจกะ สมาธิหมวด 5 มีได้ 1 หมวด อาศัยการก้าวล่วงองค์ฌานได้จำแนก มีได้ 5 ประเภท (ตามศักยภาพของปัญจกนัยที่ละได้ทีละองค์ ซึ่งต่างกับจตุกนัยที่ทุติยฌานละได้ทั้งวิตกทั้งวิจารพร้อมกัน จึงเป็นที่มาแห่งนัยทั้งสอง คือ จตุกนัย(นัยฌานมี 4)และปัญจกนัย(นัยฌานมี 5)ที่บ่งบอกศักยภาพความสามารถในการเจริญฌานของบุคคลนั่นเอง) คือ

   1. ปฐมฌานสมาธิ คือ สมาธิในปฐมฌานภูมิ

   2. ทุติยฌานสมาธิ คือ สมาธิในทุติยฌานภูมิ

   3. ตติยฌานสมาธื คือ สมาธิในตติยฌานภูมิ

   4. จตุตถฌานสมาธิ คือ สมาธิในจตุตถฌานภูมิ

   5. ปัญจมฌานสมาธิ คือ สมาธิในปัญจมฌานภูมิ

   สรุปรวมประเภทสมาธิ มี 50 ประเภทดังนี้

     - เอกกะ มี 1 หมวด =1×1=1 ประเภท

     - ทุกะ มี 4 หมวด = 2×4=8 ประเภท

     - ติกะ มี 4 หมวด = 3×4=12 ประเภท

     - จตุกะ มี 6 หมวด = 4×6=24 ประเภท

     - ปัญจกะ มี 1 หมวด = 5×1= 5 ประเภท

      รวมทั้งหมด 50 ประเภท

(สาระหัวข้อประเด็นที่พึงรู้ของสมาธิทั้งหมดจากนิสสยะอักษรปัลลวะ)

   3. การประมวลปัญญาทั้งสิ้น

   ประเด็นที่พึงรอบรู้ เพื่อความกระจ่างชัดแห่งปัญญา มีดังนี่

      1. กา ปญฺญา.   ปัญญา คือ อะไร ? คือ ความรอบรู้

      2. เอนฏฺเฐน ปญฺญา.   เป็นปัญญาด้วยสภาวอาการอย่างไร ? (ปทานุกรมบาลี อตฺถ = สภาวอาการ, อภิธาน 785 อตฺถ = สทฺทาภิเธยฺย)

      ด้วยสภาวอาการที่เป็นสัททาภิเธยยะ(ชื่อตามความหมายศัพท์) ว่า ปชานนา คือ การรู้แบบความรอบรู้ทั้งส่วนที่เหมือนทั่งส่วนที่ต่าง เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาแยกแยะ ซึ่งต่างกับสัญญาที่รู้แบบ สัญชานนา คือ รู้เอกลักษณ์ เพื่อประโยชน์แก่การจดจำ และต่างกับจิตที่รู้แบบ วิชานนา คือรู้สัมผัสจากอารมณ์ทั้งหก เพื่อประโยชน์แก่การคำนึงถึง ท่านจึงอุปมาการรู้ทั้ง 3 แบบว่า เหมือนบุคคล 3 คน คือ เด็ก ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่เก็บรักษาเงิน เมื่อมองเห็นกองเหรียญกหาปณะที่วางไว้ เด็กย่อมรู้แบบสัญชานนา คือรู้ลักษณเหรียญว่าเป็นเหลี่ยมหรือกลมเป็นต้น  ชาวบ้านย่อมรู้แบบวิชานนา คือ รู้ลักษณเหรียญแล้ว ยังรู้ค่ากำหนดของเหรียญด้วย เจ้าหน้าที่เก็บรักษาเงินย่อมรู้แบบ ปชานนา คือ รู้ลักษณเหรียญพร้อมทั้งค่ากำหนดของเหรียญ เพื่อกำหนดรุ่น และรู้ส่วนผสมที่ผลิตเป็นเหรียญพร้อมทั่งรู้แหล่งผลิต เพื่อกันการปลอมแปลง

      3. กานสฺสา ลกฺขณรสฺปจฺจุปฏฺฐานปทฏฺฐานานิ.   ปัญญามีอะไรเป็นลักษณะ(หน้าตา) เป็นรส(กิจ) เป็นปัจจุปัฏฐาน(ผลปรากฏ) เป็นปทัฏฐาน(เหตุใกล้)

       คือ คำถามถึงลักษณเฉพาะที่เป็นหน้าตาของปัญญา ดังนี้

         - มีการหยั่งรู้ถึงสภาวธรรม เป็นลักษณ์

        - มีการกำจัดความมืดมิด คือโมหะที่ปกปิดสภาวธรรมไว้ เป็นรส(กิจ)

        - มีความไม่หลงไหล เป็นปัจจุปัฏฐาน(ผลปรากฏ)

        - มีสมาธิ เป็นปทัฏฐาน(เหตุใกล้)

      4. กติวิธา ปญฺญา.   ปัญญามีกี่ประเภท ?

          คือคำถามถึงการจำแนกปัญญาเป็นประเภทต่างๆ

      5. กถํ ภาเวตพฺพา.   ปัญญาพึงเจริญอย่างไร ?

      คือ คำถามถึงองค์ที่ต้องใช้ในการเจริญปัญญา มี วิปัสสนาภูมิ 6 คือ ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 สัจจะ 4 ปฏิจจสมุปบาท 12 เป็นดุจพื้นดิน มีวิสุทธิ 2 คือ สีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ เป็นดุจโคนต้น มีวิสุทธิ 5 คือ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธื เป็นดุจลำต้น

      6. ปญฺญาภาวนาย โก อานิสํโส.   การเจริญปัญญามีอะไรเป็นอานิสงส์

      คือ คำถามถึงผลที่หลั่งไหลออกมาจากการเจริญปัญญา(หมายเอาอานิสงส์ผลไม่ใช่วิบากผล) อานิสงส์ผลที่สูงสุด คือ การหยุดไหลแห่งอาสวะ เพื่อความเป็นไทนั่นเอง เช่นปุถุชนซี่งยังละอาสวะที่ไหลเอิบอาบใจไม่ได้ ปัญญาย่อมไม่เป็นไท ตัวอย่างเช่น เมื่อบุรุษมัวเมาอยู่(อาสวะไหลอยู่) ก็จะเกิดความหลงไหล(โมหะ) หญิงที่ตนรักขึ้น โดยเฉพาะประเภทวัวแก่อยากกินหญ้าอ่อน ย่อมขาดสติไม่สัมรวมทวารกรรม(พฤติกรรม)ที่ล่วงละเมิดออกมา ทางวาจา ทางกาย และทางใจ ด้วยปาติโมกขสังวรศีล และไม่ปัองกันปิดกั้นอาสวะกิเลสไม่ให้ไหลรั่วรดใจ ด้วยใอินทรีย์สังวรศีล คือสติที่เป็นไปทางทวาร 6 มีทางตา เป็นต้น(ชีวิตความเป็นอยู่) ถามว่าปัญญาทรามกำลังไม่เป็นไทเป็นไฉน ? ก็คือ เมื่อมัวเมาหญิงสาวเข้าให้ แม้ปัญญารู้อยู่ว่า ไม่พึงมีพฤติกรรม และชีวิตเป็นอยู่เช่นนั้น แต่ก็ต้านอาสวะที่ไหลเชี่ยวไม่ไหว หญิงสาวอ้อนขออะไร ก็หาประเคนให้หมด จึงเป็นทาสอาสวะดีๆนั่นแหละ ยกเว้นสัตตบุรษที่ฝึกใจให้เข้มแข็ง ด้วยการพิจารณาโทษของกามเนื่องๆถึงพอจะต้านได้ ส่วนพระอรหันต์ซึ่งสิ้นอาสวะแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ แม้สังขารยังไม่ดับ ท่านก็ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เพราะมีปาติโมกขสังวรศีล และอินทรีย์สังวรศีลเกิดขึ้นเป็นปกติวิสัย โดยไม่ต้องเจริญ เนื่องมาการละอาสวะได้เป็นสมุจเฉทนั่นเอง สมจริงดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า พระอรหันต์เป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ก็เพราะอานิสงส์ผลการละอาสวะได้นั่นแล

      ในที่นี้ประสงค์ประโยชน์การประมวลปัญญาทั้งสิ้น จึงขอกล่าวเฉพาะประเด็นข้อที่ 3 กับข้อที่ 4 ดังนี้

   1. เอกกะ คือ ปัญญาหมวดเดียว มีได้ 1 หมวด เพราะลักษณะที่เป็นหน้าตาบ่งบอกความเป็นปัญญามีได้เพียงหนึ่งเดียว

   2.ทุกะ คือ ปัญญาหมวดสอง มีได้ 5 หมวด คือ

   - ทุกะ ที่ 1. อาศัยวัฏฏะ(สังขารโลก)จำแนก มีได้ 2 ประเภท คือ

      1. โลกิยปัญญา คือ ปัญญาที่สัมปยุตกับโลกิยมรรค

      2. โลกุตตรปัญญา คือ ปัญญาที่สัมปยุตกับโลกุตตรมรรค

   - ทุกะ ที่ 2 อาศัยความสิ้นอาสวะจำแนก มีได้ 2 ประเภท คือ

      1. สาสวะ คือ ปัญญาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะได้

      2. อนาสวะ คือ ปัญญาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะไม่ได้

   - ทุกะ ที่ 3. อาศัยขันธ์ 5 ที่เป็นอารมณ์ จำแนก มีได้ 2 ประเภท คือ

      1. นามววัฏฐาปนปัญญา  คือ ปัญญากำหนดนามขันธ์ 4 เช่น ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเวทนาขันธ์ ในจิตตานุปัสสนาสติปัฐานเป็นวิญญาณขันธ์ ส่วนที่เป็นสัญญากับสังขารในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์

      2. รูปววัฏฐาปนปัญญา คือ ปัญญาที่กำหนดรูปขันธ์  ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานส่วนที่รูป เป็นรูปขันธ์

   - ทุกะ ที่ 4. อาศัยปัญญามีเวทนาได้ 2 เวทนาจำแนก มีได้ 2 ประเภท คือ

      1. โสมนัสสสหคตา คือ ปัญญาที่ประกอบร่วมกับโสมัสสเวทนาในกามาวจรกุศลจิต 2 ดวง ในมรรคจิตจตุกนัย 12 ดวง(มรรคจิต 4×ฌานจิต 3 ที่มีเวทนาเป็นโสมนัส คือ ฌาน ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3) = 12 ดวง, ในมรรคจิต ปัจกนัย 16 ดวง (มรรคจิต 4×ฌานจิต 4 ที่มีเวทนาเป็นโสมนัส คือ ฌานที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4)=16 ดวง

      2. อุเปกขาสหคตา คือ ปัญญาประกอบร่วมกับอุเบกขาเวทนา ในกามาวจรกุศลจิต 2 ดวง ในมรรคจิต 4 ดวง (เพราะทั้งจตุกนัยทั้งปัญจกนัย ฌานสุดท้ายต่างก็เป็นอุเบกขาเวทนาเหมือนกัน)

   - ทุกะ ที่ 5 อาศัยระดับชั้นของมรรคจิตจำแนก มีได้ 2 ประเภท คือ

      1. ทัสสนภูมิ คือ ปัญญาที่เห็นแจ้งอริยสัจจะ 4 เป็นครั้งแรก ได้แก่ปัญญาในปฐมมรรคจิต

      2.ภาวนาภูมิ คือ ปัญญาที่ต้องทำให้เจริญขึ้นด้วยการเห็นแจ้งอริยสัจจะ 4 อีก 3 ครั้ง ได้แก่ปัญญาในมรรคจิต 3 ที่เหลือ

   3. ติกะ คือ ปัญญาหมวดสาม มีได้ 4 หมวด คือ

   - ติกะ ที่ 1. อาศัยอาการความสำเร็จ จำแนก มีได้ 3 ประเภท คือ

      1. จินตามบปัญญา คือ ปัญญาที่สำเร็จด้วยตนเอง ซึ่งต้องเป็นผู้มีเหตุผล(ตามนัยกัมมัสสกตาญาณ) และเป็นผู้มีผลงาน(ตามนัยสัจจานุโลมิกญาณ)      

      2. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่สำเร็จด้วยการฟังจากผู้อื่น

      3. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่สำเร็จ ด้วยการเจริญ ได้แก่ ปัญญาในสมาบัติ ใน 8 วิปัสสนาญาณ  14 ในมรรคญาณ 1 ในผลญาณ 1

   - ติกะ ที่ 2. อาศัยการปรารภเอาประเภทธรรมเป็นอารมณ์ มีได้ 3 ประเภท  คือ

       1. ปริตตารัมมณะ ปัญญา. คือ ปัญญาที่ปรารภเอากามาวจรธรรมเป็นอารมณ์

      2. มหัคคตารัมมณะ ปัญญา. คือ ปัญญาที่ปรารภเอามหัคคตาธรรมเป็นอารมณ์

      3. อัปปนารัมมณะ ปัญญา. คือ ปัญญาที่ปรารภเอานิพพานเป็นอารมณ์

   - ติกะ ที่ 3. อาศัยความฉลาดในการบริหารจัดการกรรมฐาน จำแนก มีได้ 3 ประเภท คือ

      1. อายโกศล ปัญญา. คือ ปัญญาที่ฉลาดในความเจริญ ด้วยอาการ 2 ได้แก่

      ก. ความไม่มีประโยชน์หายไป

      ข. ความมีประโยชน์เกิดขึ้น

      2. อัปปายโกศล ปัญญา. คือ ปัญญาที่ฉลาดในความเสื่อม ด้วยอาการ 2 คือ

      ก. ความมีประโยชน์หายไป

      ข. ความไม่มีประโยชน์เกิดขึ้น

      3. อุบายโกศล ปัญญา. คือ ปัญญาที่ฉลาดในอุบายที่พร้อมใช้ทันท่วงทีทุกกรณีย์

   - ติกะ ที่ 4. อาศัยการปรารภเอาการกำหนดรู้ขันธ์ จำแนก (อภินิเวสะในที่นี้มหาฏีกาแก้ว่า " การกำหนดรู้ " ไม่ใช่การยึดถือ, ไม่ใช่การลถือมั่น) มีได้ 3 ประเภท คือ

      1. อัชฌัตตาภินิเวสา ปัญญา. คือ วิปัสสนาปัญญาที่ปรารภเอาการกำหนดรู้ขันธ์อันเป็นภายในของตน

      2. พหิทธาภินิเวสา ปัญญา. คือ วิปัสสนาปัญญาที่ปรารภเอาการกำหนดรู้ขันธ์ อันเป็นภายนอกตน

      3. อัชฌัตตพหิทธาภินิเวสา ปัญญา. คือ วิปัสสนาปัญญาที่ปรารภเอาการกำหนดรู้ขันธ์ทั้งภายในภายนอกตน

      4. จตุกะ คือ ปัญญาหมวดสี่ มีได้ 2 หมวด คือ

   - จตุกะ ที่ 1. อาศัยการปรารภเอาอริยสัจจะ 4 เป็นอารมณ์ มีได้ 4 ประเภท คือ

      1. ทุกฺเข ญาณํ. คือ ปัญญาที่ปรารภเอาทุกขสัจจ์ เป๊นอารมณ์

      2. ทุกขสมุทเย ญาณํ. คือ ปัญญาที่ปรารภเอาสมุทัยสัจจ์(เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหา) เป็นอารมณ์

      3. ทุกฺขนิโรเธ ญาณํ. คือ ปัญญาที่ปรารภเอานิโรธสัจจ์(ความดับทุกข์ คือ พระนิพพาน)เป็นอารมณ์

      4. ทุกฺขนิโรธคามินิยา ปฏิปทาย ญาณํ คือ ปัญญาที่ปรารภเอามัคคสัจจ์(ทางปฏิบัติที่ดับทุกข์) เป็นอารมณ์

   - จตุกะ ที่ 2 อาศัยความแตกฉานจำแนก มีได้ 4 ประเภท คือ

      1. อัตถปฏิสัมภิทาญาณ  คือ ปัญญาที่แตกฉานในผล 5 ประการ มี

            ก. ผลของเหตุ

            ข. อรรถของคำพูด

            ค. นิพพาน(ผลของการบรรลุธรรมที่ดับกิเลสได้)

            ง. กิริยาจิต(ผลการละความเป็นอกุศล กุศลได้)

            จ. วิบากจิต(ผลที่สุกงอมพร้อมเผด็จศึกของอกุศลกรรม และของกุศลกรรม)

      2. ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ คือ ปัญญาที่แตกฉานในเหตุ 5 ประการ มี

            ก. เหตุของผล

            ข. คำพูดอันเป็นเหตุที่อาศัยอรรถ

            ค. อริยมรรคอันเป็นเหตุให้บรรลุนิพพาน

            ง. กศล อันเป็นเหตุแห่งวิบากผลที่เป็นสุข

            จ. อกุศล อันเป็นเหตุแห่งวิบากผลที่เป็นทุกข์

            3. นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ คือ ปัญญาที่แตกฉานในสภาวภาษา(ภาษาบาลี) เพื่อรักษาพระธรรมไว้ และภาษาถิ่น เพื่อเผยแพร่พระธรรม

            4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ คือ ปัญญาที่แตกฉานในไหวพริบ ที่ทะลุทะลวง กระฉับกระเฉง ว่องไว ในอัตถปฏิสัมภิทา ธัมมปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา

   ปฏิสัมภิทาจะชำนาญได้ก็ด้วยอาการ 5 ประการ คือ

         1. การบรรลุเป็นพระอริยบุคคล(อธิคม)

         2. การเล่าเรียนพระปริยัติ(ปริยัติ)

         3. การฟังพระสัทธรรมด้วยความเคารพ(สวนะ)

         4. การสอบถามพระบาลี(พระไตรปิฏก) อรรถกถา ฏีกา(ปริปุจฉา) 

         5. การเจริญวิปัสสนาถึงขั้นสังขารุเบกขาญาณเนื่องๆในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ(ปุพพโยคะ)

   สำหรับพระพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธะ มีเพียง 2 อาการ คือ อธิคม กับปุพพโยคะ พระอริยสาวกนอกนั้นต้องมีครบทั้ง 5 อาการ ดังนั้น การที่กล่าวว่า เจริญวิปัสสนาถึงขั้นสังขารุเบกขาญาณเนืองๆเพียงอาการเดียว จึงไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

   สรุปยอกการประมวลปัญญาทั้งสิ้น มีได้ดังนี้

         เอกกะ มี 1 หมวด = 1×1=1 ประเภท

         ทุกะ มี 5 หมวด =2×5=10 ประเภท

         ติกะ มี 4 หมวด =3×4=12 ประเภท

         จตุกะ มี 2 หมวด =4×2=8 ประเภท

   รวมปัญญาทั้งสิ้น 31 ประเภท

 (สาระหัวข้อประเด็นที่พึงรู้ของปัญญาทั้งหมดจากนิสสยะอักษรปัลลวะ)


[full-post]

ปกิณกธรรม,ศีล,สมาธิ,ปัญญา

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.