ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (4,284)
นิพพาน มรณะ ตาย
ไม่ใช่ว่าใช้กับใครก็ได้ทุกคนทุกคำ
(๑) “นิพพาน”
ภาษาไทยอ่านว่า นิบ-พาน เขียนแบบบาลีเป็น “นิพฺพาน” (มีจุดใต้ พฺ ตัวหน้า) อ่านว่า นิบ-พา-นะ รากศัพท์มาจาก -
(1) นิ (คำอุปสรรค = ไม่มี, ออก) + วาน (ตัณหา, เครื่องร้อยรัด), แปลง ว เป็น พ, ซ้อน พฺ ระหว่างอุปสรรคและบทหลัง
: นิ + วาน = นิวาน > นิพาน : นิ + พฺ + พาน = นิพฺพาน แปลตามศัพท์ว่า “สภาวธรรมที่ออกพ้นจากตัณหาที่เรียกว่า วานะ”
(2) นิ (คำอุปสรรค = ไม่มี, ออก) + วา (ธาตุ = ดับ, สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ซ้อน วฺ ระหว่างอุปสรรคและธาตุ (นิ + ว + วา), แปลง วฺว (คือ ว ที่ซ้อนเข้ามาและ ว ที่เป็นธาตุ) เป็น พฺพ
: นิ + ว + วา = นิววา + ยุ > อน = นิววาน > นิพฺพาน แปลตามศัพท์ว่า “สภาวธรรมเป็นเหตุดับไปแห่งไฟราคะเป็นต้น”
(3) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่มี) + วาน (ตัณหา, เครื่องร้อยรัด), แปลง อะ ที่ น เป็น อิ (น > นิ), แปลง ว ที่ วาน เป็น พ, ซ้อน พฺ ระหว่างนิบาตและบทหลัง
: น + วาน = นวาน > นิวาน > นิพาน : นิ + พฺ + พาน = นิพฺพาน แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะธรรมเป็นที่ไม่มีตัณหา หรือสภาวธรรมที่เมื่อบุคคลได้บรรลุแล้วย่อมไม่มีตัณหา”
“นิพฺพาน” (นปุงสกลิงค์) มีความหมายดังนี้ -
(1) การดับของตะเกียงหรือไฟ (the going out of a lamp or fire)
(2) อนามัย, ความรู้สึกว่าร่างกายมีความผาสุกสวัสดี (health, the sense of bodily well-being)
(3) การดับไฟทางใจ 3 กอง คือ ราค, โทส และ โมห (The dying out in the heart of the threefold fire of rāga, dosa & moha: ความกำหนัด, ความโกรธ และความหลง lust, ill-will & stupidity)
(4) ความรู้สึกมีสุขภาพในด้านดี, ความมั่นคง, ความถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ, ชัยชนะและความสงบ, ความพ้นจากอบายมุข, ความสุขสำราญ (the sense of spiritual well-being, of security, emancipation, victory and peace, salvation, bliss)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า -
“นิพพาน : การดับกิเลสและกองทุกข์ เป็นโลกุตตรธรรม และเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“นิพพาน : (คำนาม) ความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์. (คำกริยา) ดับกิเลสและกองทุกข์, ตาย (ใช้แก่พระอรหันต์). (ป.; ส. นิรฺวาณ), โบราณใช้ว่า นิรพาณ ก็มี. (จารึกสยาม).”
(๒) “มรณะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “มรณ” อ่านว่า มะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: มรฺ + ยุ > อน = มรน > มรณ แปลตามศัพท์ว่า “ความตาย”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มรณ” ว่า death, as ending this [visible] existence, physical death; dying (ความตาย, ในฐานสิ้นชีวิต [ที่เห็นได้] นี้, ความตายทางกาย; การถึงแก่กรรม)
“มรณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “มรณ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “มรณ์” และ “มรณะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“มรณ-, มรณ์, มรณะ : (คำนาม) ความตาย, การตาย. (ป., ส.). (คำกริยา) ตาย.”
(๓) “ตาย”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ตาย ๑ : (คำกริยา) สิ้นใจ, สิ้นชีวิต, ไม่เป็นอยู่ต่อไป, สิ้นสภาพของการมีชีวิต, เช่น สภาวะสมองตาย; เคลื่อนไหวไม่ได้ เช่น มือตาย ตีนตาย; ไม่เดินเพราะเครื่องเสียหรือหยุดเป็นต้น เช่น รถยนต์ตาย นาฬิกาตาย; ยืนแต้มอยู่อย่างเดียว เช่น ลูกเต๋าตายหก คือออกแต้มหกเสมอ; ลักษณะที่ประตูในการเล่นการพนันบางประเภท เช่น โป ถั่ว ไม่ออกเลย หรือนาน ๆ จึงจะออกสักครั้งหนึ่ง; ผิดตามที่กติกากำหนดไว้ในการเล่นกีฬาหรือการละเล่นบางชนิด.
อภิปรายขยายความ :
มีผู้แสดงความเห็นว่า คำว่า “นิพพาน” “มรณะ” “ตาย” มีความหมายเหมือนกันทุกคำ
แม้แต่คำว่า “นิพพาน” ที่เราเข้าใจกันว่าเป็นศัพท์สูง ก็แปลตามศัพท์ว่า ดับ หรือเย็น ไฟดับ ก็เรียกว่า ไฟนิพพาน ขาวต้มร้อน ๆ ตักใส่ชามไว้ ตอนนี้เย็นแล้วพร้อมจะกินได้ ก็เรียกว่า ข้าวต้มนิพพาน คนตาย ก็เรียกว่า คนนิพพาน
เพราะฉะนั้น “นิพพาน” “มรณะ” “ตาย” จะใช้คำไหนก็ใช้ได้กับทุกคนและใช้ได้ทุกคำ
พระมหาทองย้อยมรณภาพ จะพูดหรือเขียนว่า “พระมหาทองย้อยตาย” ก็ใช้ได้ ไม่ได้ผิดที่ตรงไหน
พลเรือตรี ทองย้อยตาย จะพูดหรือเขียนว่า “พลเรือตรี ทองย้อยนิพพาน” ก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน ไม่ได้ผิดที่ตรงไหนเลย
ถ้าเรายอมรับเหตุผลเช่นนี้ว่าถูกต้อง แล้วใช้ภาษากันตามสะดวก ภาษาไทยอันงดงามของเราก็จะกลายเป็นภาษาที่อัปลักษณ์ที่สุดในโลก
“นิพพาน” ใช้กับใคร
“มรณะ” ใช้กับใคร
“ตาย” ใช้กับใคร
ภาษาไทยเรามีหลัก
จงมีน้ำใจรักที่จะเรียนรู้
..............
ดูก่อนภราดา!
ชนชาติใด -
: เรียนรู้หลักภาษาของตนเองช่ำชอง
: ใช้ภาษาถูกต้องแม่นยำ
: นั่นคือความจำเริญทางวัฒนธรรมของชนชาตินั้น
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ